ศบค.พบผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่ 9,326 ราย ในปท.6,567-ตรวจเชิงรุก2,740-ตปท.19,ตาย 91

  • ศบค.สรุปยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในไทย วันนี้ (12.30 น.)
  • ผู้ติดเชื้อสะสม 326,832 คน (+9,326)
  • เป็นผู้ป่วยรายใหม่จากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ = 6,567 ราย
  • เป็นผู้ติดเชื้อจากการตรวจเชิงรุกในชุมชน = 2,548 ราย
  • เป็นผู้ติดเชื้อจากเรือนจำ/ที่ต้องขัง = 192 ราย
  • เป็นผู้ติดเชื้อจากต่างประเทศอยู่ในสถานกักกันที่รัฐจัดให้ (State Quarantine) = 19 ราย
  • รักษาหายแล้ว 243,918 คน (+3,841)
  • รักษาอยู่ในโรงพยาบาล 80,289 คน (+5,394)
  • เสียชีวิตสะสม 2,625 คน (+91)

ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้ว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 9,326 ราย ประกอบด้วย

  • ผู้ติดเชื้อในประเทศจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 6,567 ราย
  • จากการค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชน 2,548 ราย และจากเรือนจำ/ที่ต้องขัง 192 ราย
  • ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 19 ราย โดยมาจากเอธิโอเปีย 1 ราย, อาหรับเอมิเรตส์ 3 ราย, อินโดนีเซีย 1 ราย, รัสเซีย 1 ราย, กัมพูชา 1 ราย มาทางช่องทางธรรมชาติ และเมียนมา 12 ราย มาทางช่องทางธรรมชาติ
  • มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 91 ราย แยกเป็นเพศชาย 47 ราย เพศหญิง 44 ราย ชาวไทยทุกราย อายุระหว่าง 26 – 98 ปี ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในกทม.ถึง 51 ราย รองลงมา สมุทรปราการ 9 ราย, นนทบุรี 8 ราย, ปทุมธานี 5 ราย, นครปฐม 4 ราย, ขอนแก่น ร้อยเอ็ด นราธิวาส จังหวัดละ 2 ราย, เพชรบุรี มหาสารคาม กำแพงเพชร สงขลา เพชรบูรณ์ ฉะเชิงเทรา นครศรีธรรมราช ประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดละ 1 ราย ส่วนใหญ่มีโรคประจำตัวร่วมด้วย เช่น ความดัน, เบาหวาน และไขมันในเลือดสูง

สำหรับจำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสมในประเทศตั้งแต่ปี 63 จนถึงล่าสุดอยู่ที่ 326,832 ราย โดยมีผู้ป่วยรักษาหายแล้ว 243,918 ราย เพิ่มขึ้น 3,841 ราย ยอดเสียชีวิตสะสมเพิ่มเป็น 2,625 ราย

ขณะที่จังหวัดที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศรายใหม่ 10 อันดับแรก ได้แก่ กทม. 3,191 ราย, ปทุมธานี 672 ราย, สมุทรปราการ 603 ราย, สมุทรสาคร 551 ราย, ชลบุรี 359 ราย, นนทบุรี 334 ราย, สงขลา 225 ราย, ลพบุรี 207 ราย, สระบุรี 175 ราย และปัตตานี 173 ราย

ขณะที่สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก ล่าสุดวันนี้มียอดผู้ติดเชื้อสะสมรวมแล้ว 186,838,796 ราย เสียชีวิต 4,035,175 ราย โดยประเทศที่มียอดผู้ติดเชื้อสูงสุด อันดับแรก สหรัฐอเมริกา 34,711,416 ราย อันดับ 2 อินเดีย 30,794,756 ราย อันดับ 3 บราซิล 19,020,499 ราย อันดับ 4 ฝรั่งเศส 5,803,687 ราย และอันดับ 5 รัสเซีย 5,733,218 ราย โดยประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 62

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) กล่าวว่า ข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนด การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 27) สาระสำคัญคือ

ข้อหนึ่งปรับระดับพื้นที่สถานการณ์ย่อยในพื้นที่ทั่วราชอาณาจักร ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (9 ก.ค.64) แบ่งเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 10 จังหวัด คือ กรุงเทพมหานคร นครปฐม นราธิวาส นนทบุรี ปทุมธานี ปัตตานี ยะลา สมุทรปราการ สมุทรสาคร สงขลา, พื้นที่ควบคุมสูงสุด 24 จังหวัด, พื้นที่ควบคุม 25 จังหวัด และพื้นที่เฝ้าระวังสูง 18 จังหวัด

ข้อสองห้ามออกนอกเคหะสถาน คือ เคอร์ฟิว ในกทม, และปริมณฑล ได้แก่ นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ นราธิวาส ปัตตานี ยะลา สงขลา ห้ามออกนอกเคหะสถานในระหว่างเวลา 21.00 น. ถึง 4.00 น.ของวันรุ่งขึ้น ต่อเนื่องเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 14 วันนับแต่วันที่ข้อกำหนดฉบับนี้ใช้บังคับ ซึ่งจะเริ่มเที่ยงคืนวันอาทิตย์นี้

ผู้ใดฝ่าฝืนข้อนี้ ย่อมมีความผิดและต้องระวางโทษตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548

ข้อสามการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ ผู้ช่วยพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือบุคคลซึ่งปฏิบัติหน้าที่ตามข้อกำหนดประกาศ หรือคำสั่งของทางราชการ เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร หรือพลเรือน ซึ่งอยู่ระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ตามกฏหมายอื่น เข้าปฏิบัติหน้าที่ในเขตพื้นที่และระยะเวลาที่กำหนดตามข้อสองได้ ทั้งนี้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายเตรียมพร้อมในการรับแจ้งเบาะแส เหตุฉุกเฉิน และเข้าปฏิบัติช่วยเหลือประชาชนตามหน้าที่และอำนาจ รวมทั้งปราบปรามผู้กระทำความผิดและผู้เกี่ยวข้องที่อาศัยช่วงเวลาวิกาลในการละเมิดกฎหมายด้วย

ข้อสี่บุคคลที่ได้รับยกเว้น ให้บุคคลตามกรณีดังต่อไปนี้ ได้รับยกเว้นการห้ามออกนอกเคหะสถานในห้วงเวลาดังกล่าว

  1. การสาธารณสุข ได้แก่ ผู้ป่วยหรือผู้มีความจำเป็นต้องพบแพทย์หรือเข้ารับบริการทางการแพทย์และสาธารณสุข รวมทั้งผู้ดูแลบุคคลดังกล่าว แพทย์ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องที่ต้องปฏิบัติงานในการให้บริการด้านสาธารณสุข
  2. การขนส่งสินค้าเพื่อประโยชน์ของประชาชน ได้แก่ ผู้ขนส่งอาหาร ยา เวชภัณฑ์ เครื่องมือแพทย์ สินค้าอุปโภคบริโภค ผลผลิตทางการเกษตร น้ำมันเชื้อเพลิง ไปรษณีย์ พัสดุภัณฑ์ สิ่งพิมพ์ สินค้าเพื่อการส่งออกหรือนำเข้า
  3. การขนส่งหรือขนย้ายประชาชน ได้แก่ ผู้ปฏิบัติงานขนส่งสาธารณะ ผู้ขนส่งและผู้เดินทางมาจากหรือไปยังท่าอากาศยานหรือสถานีขนส่ง ผู้ขนส่งและประชาชนที่เดินทางไปยังที่เอกเทศตามกฏหมายว่าด้วยยโรคติดต่อ ศูนย์พักคอยรอการส่งตัว หรือระบบแยกกักเพื่อรองรับการให้ความช่วยเหลือผู้ติดเชื้อในขั้นแรก ผู้โดยสารและผู้เกี่ยวข้องที่จำเป็นต้องเดินทางข้ามเขตพื้นที่จังหวัดในห้วงเวลาดังกล่าว
  4. การให้บริการหรืออำนวยประโยชน์หรือความสะดวกแก่ประชาชน ได้แก่ผู้ให้ความช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง ผู้ด้อยโอกาส ผู้สูงอายุ คนไร้ที่พึ่ง หรือผู้ประสบภัย ผู้ให้บริการขนส่งสินค้าและอาหาร ผู้บริหารตรวจสอบหรือซ่อมบำรุงระบบสาธารณูปโภค ระบบระบายน้ำ ระบบท่อส่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ผู้จัดเก็บและกำจัดขยะมูลฝอย ผู้ให้บริการซ่อมแซมและปรับปรุงโครงข่ายและอุปกรณ์ในการสื่อสารโทรคมนาคม ผู้บริการงานช่วยเหลือกู้ภัย การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ภัยพิบัติ ผู้บริการด้านธนาคาร ตลาดททุน ประกันภัย ผู้จำเป็นต้องดำเนินงานกรณีเกิดอุบัติเหตุ หรือต้องติดต่อราชการกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง พนักงานสอบสวน หรือพนักงานเจ้าหน้าที่
  5. การประกอบอาชีพที่จำเป็น ได้แก่ ผู้ปฏิบัติงานตามรอบเวลา กะ หรือการทำงานตามผลัดเปลี่ยนเวรยาม หรือตามเวลาที่กำหนดไว้ตามปกติของทางราชการและเอกชน การทำงานในโรงงาน งานก่อสร้าง งานบำรุงรักษาหรืองานเกี่ยวเนื่องที่จำเป็ฯที่ได้รับอนุญาตให้ดำเนินงานได้ งานดูแลรักษาความปลอดภัย งานด้านเกษตรกรรม ประมง ปศุสัตว์ การตรวจรักษาสัตว์
  6. กรณีจำเป็นอื่น ๆ ที่ได้รับอนุญาตเป็นการเฉพาะรายจากพนักงานเจ้าหน้ที่

ทั้งนี้ ให้บุคคลที่มีความจำเป็นตาม 1-5 แสดงบัตรประชาชนหรือบัตรแสดงตนอย่างอื่น และเอกสารรับรองความจำเป็น เอกสารเกี่ยวกับสินค้า บริการ การเดินทาง หรือหลักฐานอื่น ๆ ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ และต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนดอย่างเคร่งครัด

ให้บุคคลที่มีความจำเป็นตาม 6 แสดงเหตุจำเป็นพร้อมหลักฐานต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ เช่น ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน นายอำเภอ ผู้อำนวยการเขต หัวหน้าสถานีตำรวจ หรือผู้ได้รับแต่งตั้งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ในพื้นที่เพื่ออนุญาต

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวต่อว่า ข้อห้าการกำหนดกรณียกเว้นเพิ่มเติม ในกรณีที่สมควรเพิ่มเติมข้อยกเว้นการห้ามออกนอกเคหะสถานตามข้อสี่ เป็นการทั่วไปเพื่อให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ ให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครหรือผู้ว่าราชการจังหวัดเสนอผ่านศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 เพื่อให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาอนุญาต

ข้อหกเป็นเรื่องของ Work Form Home คือมาตรการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง ให้หัวหน้าส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐที่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล ใช้สำหรับ 6 จังหวัดเท่านั้น ดำเนินมาตรการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งให้เต็มความสามารถที่จะทำได้ เพื่อลดจำนวนการเดินทางของเจ้าหน้าที่และบุคลากรที่อยู่ในความรับผิดชอบ และเพื่อป้องกันและลดโอกาสเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดโควิด-19 ส่วนการปฏิบัติงานของหน่วยงานที่ต้องให้บริการแก่ประชาชนโดยตรง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับสาธารณูปโภค การรักษาความปลอดภัย การรักษาความสงบเรียบร้อย หรืองานที่มีกำหนดเวลาปฏิบัติชัดเจนและได้นัดหมายไว้แล้วล่วงหน้า ทั้งสามารถจัดมาตรการป้องกันโรคได้ เช่น การรักษาพยาบาล การติดต่อกับหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมให้พิจารณาดำเนินการตามความจำเป็นและเหมาะสม

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (10 ก.ค. 64)

Tags: , ,
Back to Top