ธปท. ขอรอดูผลกระทบล็อกดาวน์รอบใหม่ ก่อนประเมินภาพเศรษฐกิจใหม่

น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยในงานประชุมนักวิเคราะห์ (Analyst Meeting) ว่า การประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจจากผลกระทบการล็อกดาวน์ในรอบล่าสุดที่เริ่มมีผลวันที่ 12 ก.ค. 64 นั้น ยอมรับว่าเมื่อมีการใช้มาตรการล็อกดาวน์ ก็ย่อมจะส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้มากกว่าที่คาดไว้ ซึ่ง ธปท.จะประเมินผลกระทบอย่างใกล้ชิด โดยขอรอดูผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจริงก่อน เพราะมาตรการดังกล่าวเพิ่งมีผลบังคับใช้วันนี้

“ที่ประชุม กนง.ได้มองภาพเศรษฐกิจในเดือนมิ.ย.ไว้ โดย price in การแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์เดลต้าไว้แล้วในระดับหนึ่ง ซึ่งคาดว่าจะมีผลประมาณหนึ่งต่อเศรษฐกิจ…เมื่อมีล็อกดาวน์ ก็อาจจะส่งผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้มากกว่าที่คาด ธปท.จะประเมินผลอย่างใกล้ชิด รอดูผลกระทบจริงที่จะเกิดขึ้นก่อน”

น.ส.ชญาวดี ระบุ

โดยความเสี่ยงสำคัญต่อประมาณการเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า ได้แก่ การระบาดที่อาจรุนแรงขึ้น และการกลายพันธุ์ของไวรัสโควิด, ความต่อเนื่องของแรงกระตุ้นทางการคลัง, ปัญหาฐานะทางการเงินของภาคธุรกิจที่อาจนำไปสู่การเลิกจ้างแรงงาน รวมทั้งปัญหา Supply disruption ที่อาจรุนแรงกว่าคาด

น.ส.ชญาวดี กล่าวว่า จากการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ล่าสุดเมื่อเดือนมิ.ย. 64 กนง.ได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยในปีนี้ลงเหลือ 1.8% จากเดิมที่คาดไว้ 3.0% ในเดือนมี.ค. โดยเหตุผลสำคัญมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกสามที่มีความรุนแรงและกระจายในวงกว้าง ส่งผลให้อุปสงค์ในประเทศถูกกระทบจากการระบาดในระลอกสาม จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาน้อยกว่าที่คาด จากการระบาดที่รุนแรงทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยคาดว่าปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติราว 7 แสนคน จากประมาณการเดิม 3 ล้านคน

แต่ทั้งนี้ ยังมีปัจจัยด้านบวกต่อเศรษฐกิจไทยในปีนี้ คือ แผนการจัดหาและกระจายวัคซีนที่มีความคืบหน้าตามเป้าหมายที่รัฐบาลวางไว้ คือ 100 ล้านโดสในปีนี้, แรงกระตุ้นทางการคลังที่เพิ่มมากขึ้น, การส่งออกที่ปรับดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก รวมถึงมีปัจจัยเพิ่มเติมจากการใช้เงินกู้ตาม พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาทฉบับใหม่ ที่จะเข้ามาช่วยพยุงเศรษฐกิจได้

“จาก พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท คาดว่าปีนี้คงเบิกใช้ราว 1 แสนล้านบาท เพราะยังมีของเดิมที่ยังเหลืออยู่ ส่วนปีหน้าคาดว่าจะเบิกใช้อีก 2 แสนล้านบาท แต่หากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปจากกรณีฐาน ก็มีโอกาสที่ พ.ร.ก.จะถูกเบิกใช้ได้มากถึง 5 แสนล้านบาท”

น.ส.ชญาวดี ระบุ

“เศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า ยังต้องเผชิญกับความเสี่ยงด้านต่ำอย่างมีนัยสำคัญ และยังมีความไม่แน่นอนสูงจากหลายปัจจัยที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด”

น.ส.ชญาวดีกล่าว

นอกจากนี้ หากพิจารณาในด้านของตลาดแรงงานจะพบว่าการฟื้นตัวของตลาดแรงงานมีแนวโน้มช้ากว่าในอดีต และคาดว่าจะมีลักษณะเป็น W-shaped ทั้งนี้ ตลาดแรงงานที่มีความเปราะบางมากขึ้น โดยเฉพาะในภาคบริการและผู้ประกอบอาชีพอิสระนั้น อาจก่อให้เกิด scarring effects ที่แก้ไขได้ยากหากไม่ดูแลอย่างทันท่วงที

ขณะที่ภาคครัวเรือน พบว่าหนี้ครัวเรือนส่วนใหญ่เป็นหนี้ระยะสั้น และมีอัตราดอกเบี้ยสูง ในขณะที่รายได้ยังอยู่ในระดับต่ำ โดยเฉพาะผู้ประกอบอาชีพอิสระ ซึ่งสัดส่วนหนี้ครัวเรือนไทยส่วนใหญ่ 34.2% มาจากหนี้เพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ รองลงมา 20.7% มาจากหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภค ส่วน 18.1% มาจากหนี้เพื่อการประกอบอาชีพ และ 12.7% มาจากหนี้เพื่อซื้อยานพาหนะ เป็นต้น

ด้านนายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายการเงิน ธปท.กล่าวว่า ภาพรวมภาวะการเงินของไทยโดยรวมยังอยู่ในระดับที่ผ่อนคลาย โดยต้นทุนการระดมทุนผ่านสินเชื่อทยอยปรับลดลง และภาคธุรกิจยังสามารถระดมทุนได้ต่อเนื่อง การปล่อยสินเชื่อตามโครงการ สินเชื่อฟื้นฟู มีความคืบหน้าและสามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมาย ซึ่งช่วยสนับสนุนให้สินเชื่อ SMEs มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น

โดยล่าสุดสินเชื่อฟื้นฟู ได้รับการอนุมัติแล้ว คิดเป็นวงเงิน 66,898 ล้านบาท มีผู้ได้รับความช่วยเหลือ 21,929 ราย วงเงินอนุมัติเฉลี่ย 3.1 ล้านบาท/ราย ขณะที่โครงการพักทรัพย์พักหนี้ ล่าสุด ได้รับการอนุมัติแล้วคิดเป็นวงเงินประมาณ 900 ล้านบาท ลูกหนี้ธุรกิจได้รับความช่วยเหลือ 12 ราย ทั้งนี้ ยอมรับว่าโครงการดังกล่าวค่อนข้างเป็นกลไกใหม่ และจำเป็นต้องใช้เวลาและขั้นตอนในการเจรจาระหว่างสถาบันการเงินกับลูกหนี้ธุรกิจ แต่อย่างไรก็ดี หากดูจากยอด Backlog ที่เข้ามาแล้วมีวงเงินสูงระดับหมื่นล้านบาท โดยขณะนี้ยังอยู่ระหว่างขั้นตอนเจรจา รวมถึงรอดูข้อกฎหมายต่าง ๆ เช่น ค่าธรรมเนียมการโอน

ด้านสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยน เงินบาทอ่อนค่าลงจากไตรมาสก่อนหน้า และอ่อนค่ากว่าเงินสกุลอื่นในภูมิภาค ตามความกังวลต่อการระบาดของไวรัสโควิดในประเทศไทย รวมถึงแรงกดดันด้านแข็งค่าจากดุลบัญชีเดินสะพัดที่ลดลง แต่อย่างไรก็ดี คาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดจะค่อยๆ เริ่มกลับมาเพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ซึ่ง ธปท.จะมีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด รวมทั้งเร่งผลักดันการสร้างระบบนิเวศใหม่ของอัตราแลกเปลี่ยน (FX ecosystem) อย่างต่อเนื่อง

นายสักกะภพ กล่าวว่า การดำเนินนโยบายการเงินนั้น กนง.ยังดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวช้าลง มีความเสี่ยงสูงที่จะขยายตัวต่ำกว่าคาด ซึ่งโจทย์สำคัญที่สุด คือ การจัดหาและกระจายวัคซีนที่เหมาะสมต่อสถานการณ์การกลายพันธุ์ของไวรัสให้เพียงพอและทันสถานการณ์ เพื่อควบคุมไม่ให้การระบาดยืดเยื้อและรุนแรงขึ้น

ทั้งนี้ ในการพิจารณานโยบายการเงิน กนง.ยังให้น้ำหนักกับการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นสำคัญ และเห็นว่าในปัจจุบันที่สภาพคล่องอยู่ในระดับสูง และอัตราดอกเบี้ยต่ำนี้ จึงควรใช้มาตรการการเงินและมาตรการสินเชื่อ เพื่อกระจายสภาพคล่องไปสู่ภาคธุรกิจและครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบ นอกจากนี้ ยังพร้อมจะดำเนินนโยบายการเงินที่มีอยู่จำกัดในจังหวะที่เกิดประสิทธิผลสูงสุด และพร้อมจะใช้เครื่องมือทางการเงินที่เหมาะสมเพิ่มเติมหากมีความจำเป็น

ส่วนกรณีที่มองว่าสถานการณ์ระบาดโควิดในประเทศมีความรุนแรง แต่มาตรการด้านการคลังยังมีอยู่จำกัด ซึ่งอาจจะเป็นผลมาจากรัฐบาลกังวลการก่อหนี้สาธารณะอาจชนเพดาน 60% หรือไม่นั้น นายสักกะภพ กล่าวว่า จากสถานการณ์โควิดในทั่วโลก ทำให้รัฐบาลหลายประเทศมีความจำเป็นต้องใช้จ่ายเงินซึ่งอาจจะเห็นระดับหนี้สาธารณะต่อจีดีพีเพิ่มสูงขึ้นมากในหลายประเทศ ทั้งนี้ เชื่อว่าภาคเอกชนไม่ได้มีความกังวลต่อการก่อหนี้ของรัฐบาลในส่วนนี้ หากเป็นการก่อหนี้มาเพื่อช่วยให้เศรษฐกิจเติบโตได้ และคาดว่ารัฐบาลคงจะทยอยนำมาตรการด้านการคลังออกมาช่วยเหลือเยียวยาประชาชนจากผลกระทบในครั้งนี้อย่างต่อเนื่อง

ขณะที่นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน ธปท. สรุปในท้ายสุดว่า สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วตั้งแต่ช่วงเดือน เม.ย.จนถึงปัจจุบันนั้น คาดว่าทุกคนจะต้องเผชิญกับสถานการณ์เช่นนี้ไปอีกสักระยะ ทั้งนี้ ธปท.และ กนง.จะติดตามประเมินผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ และระบบการเงินอย่างใกล้ชิด เพื่อพิจารณาว่านโยบายการเงินหรือเครื่องมือทางการเงินที่มีอยู่นี้ จะเพียงพอหรือไม่ และต้องมีมาตรการอะไรเข้ามาเพิ่มเติม

“การผสมผสานมาตรการการเงิน มาตรการการคลัง และมาตรการด้านสาธารณสุข ควรต้องทำอย่างเหมาะสม และได้รับความร่วมมือจากประชาชนในการลดการแพร่ระบาด ซึ่งจะช่วยให้ราสามารถผ่านพ้นวิกฤติโควิด และเศรษฐกิจได้โดยเร็ว และยั่งยืน”

รองผู้ว่าฯ ธปท.กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (12 ก.ค. 64)

Tags: , , , , , , , , ,
Back to Top