TOPICSTODAY: จับตา ครม.เคาะมาตรการเยียวยาหลังล็อกดาวน์พื้นที่เสี่ยง

กทม.เปิดศูนย์พักคอยผู้ป่วยโควิดเพิ่มอีก 3 จุด

ติดตามผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี ผ่านระบบ Video Conference โดยจะมีการพิจารณามาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์ซึ่งอยู่ในพื้นที่สีแดงเข้ม หลังผ่านการกลั่นกรองจากที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบศ.) มาแล้วเมื่อวานนี้

ก่อนหน้านี้รัฐบาลเคยออกมาตรการเยียวลูกจ้างสัญชาติไทยที่อยู่ในระบบประกันสังคมตามมาตรา 33 โดยให้เงินช่วยเหลือจำนวน 2,000 บาทต่อคน เพิ่มเติมจากความช่วยเหลือผ่านระบบประกันสังคมที่จะได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานในอัตรา 50% ของค่าจ้างรายวัน สูงสุดไม่เกิน 7,500 บาท ตลอดระยะเวลาที่มีคำสั่งปิดสถานที่

สำหรับผู้ประกอบการที่มีลูกจ้างจะได้รับเงินช่วยเหลือตามจำนวนลูกจ้างสูงสุดไม่เกิน 200 คน ในอัตรา 3,000 บาทต่อคน ส่วนลูกจ้างสัญชาติไทยจะได้รับความช่วยเหลือในอัตรา 2,000 บาทต่อคน แต่หากเป็นผู้ประกอบการที่ไม่มีลูกจ้างจะได้รับความช่วยเหลือในอัตรา 3,000 บาท ซึ่งต้องรอดูว่ารัฐบาลจะมีมาตรการเยียวยาเพิ่มเติมอย่างไรบ้าง

  • สำหรับสถานการณ์ประจำวันของการระบาดไวรัสโควิด-19 ในประเทศและต่างประเทศหลังผ่านมาตรการล็อคดาวน์วันแรกจะเป็นอย่างไรต้องติดตามการแถลงข่าวจากทีมโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. รวมทั้งความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาในประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจากกระทรวงสาธารณสุข โดยเบื้องต้นมีรายงานว่าวันนี้มียอดผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 8,685 ราย และเสียชีวิตเพิ่ม 56 ราย
  • กรุงเทพมหานคร (กทม.) จะเปิดศูนย์พักคอย รอการส่งต่อ สำหรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มอีก 3 แห่งในวันนี้ ในพื้นที่กลุ่มเขตกรุงเทพเหนือ ได้แก่ ศูนย์กีฬารามอินทรา เขตบางเขน รับผู้ป่วยได้ 150 เตียง ศูนย์กีฬาประชานิเวศน์ เขตจตุจักร รับผู้ป่วยได้ 180 เตียง และศูนย์สร้างสุขทุกวัยดอนเมือง เขตดอนเมือง รับผู้ป่วยได้ 150 เตียง

ก่อนหน้านี้ กทม.ได้ ดำเนินการเปิดศูนย์พักคอย รอการส่งต่อ แล้ว 8 แห่ง ในพื้นที่ 6 กลุ่มเขต คือ

1.กลุ่มเขตกรุงเทพเหนือ ได้แก่ ศูนย์สร้างสุขทุกวัยจตุจักร เขตจตุจักร รับผู้ป่วยได้ 120 เตียง

2.กลุ่มเขตกรุงเทพกลาง ได้แก่ วัดอินทรวิหาร (อาคารปฏิบัติธรรม) เขตพระนคร รับผู้ป่วยได้ 200 เตียง

3.กลุ่มเขตกรุงเทพใต้ ได้แก่ วัดสะพาน เขตคลองเตย รับผู้ป่วยได้ 250 เตียง และวัดปากบ่อ เขตสวนหลวง รับผู้ป่วยได้ 140 เตียง

4.กลุ่มเขตกรุงเทพตะวันออก ได้แก่ ศูนย์สร้างสุขทุกวัย เขตหนองจอก รับผู้ป่วยได้ 100 เตียง

5.กลุ่มเขตกรุงธนเหนือ ได้แก่ วัดศรีสุดาราม เขตบางกอกน้อย รับผู้ป่วยได้ 90 เตียง

6.กลุ่มเขตกรุงธนใต้ ได้แก่ ศูนย์สร้างสุขทุกวัยบางแค (เรืองสอน) เขตบางแค รับผู้ป่วยได้ 150 เตียง และศูนย์สร้างสุขทุกวัยบางขุนเทียน เขตบางขุนเทียน รับผู้ป่วยได้ 120 เตียง โดยขณะนี้ทั้ง 8 แห่ง มีผู้ป่วยทยอยเข้าพักแล้ว จำนวนกว่า 500 คน

ซึ่งกทม.ตั้งเป้าเปิดให้ครบ 20 ศูนย์ รองรับผู้ป่วยโควิด-19 ได้ 3,000 คน เพื่อให้ผู้ป่วยที่ยังตกค้างอยู่ในชุมชนได้แยกกักตัว ลดปัญหาการระบาดในครอบครัวและชุมชน และให้ผู้ป่วยได้เข้าสู่ระบบการดูแลเบื้องต้นโดยทีมแพทย์ พยาบาลจากโรงพยาบาลและศูนย์บริการสาธารณสุขของกรุงเทพฯ ได้อย่างรวดเร็ว ทันท่วงที

  • บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) พร้อมด้วย บริษัท กสิกร ไลน์ จำกัด และ กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) แถลงข่าวความร่วมมือเปิดตัวแคมเปญ “ใจดี มีวงเงินให้ยืม”
  • นายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) จัดกิจกรรม CEO Virtual Talk ชี้แจงความคืบหน้าโครงการ M&A
  • คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ สถาบันพลาสติก และ บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเครือข่ายพันธมิตรสร้างสรรค์โครงการพัฒนาแบบแผนธุรกิจ (Business Model) สำหรับการบริหารจัดการขยะพลาสติกหลังการใช้โดยใช้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) จัดแถลงข่าวและเสวนาออนไลน์ในหัวข้อ “SIAM PIECES โมเดลเส้นทางการจัดการพลาสติกใช้แล้วครบวงจร”

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (13 ก.ค. 64)

Tags: , ,
Back to Top