สปสช. หนุน รพ.รับผู้ป่วยโควิดกลับไปรักษาตัวในภูมิลำเนา

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นอย่างมากโดยเฉพาะในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล

ซึ่งตั้งแต่วันที่ 12 ก.ค. 64 เป็นต้นไป สปสช. ได้ร่วมมือกับสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) และคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ปรับระบบการดูแลโดยจัดการตรวจคัดกรองเชิงรุกตั้งเป้าวันละ 10,000 ราย ผู้ที่ติดเชื้อจะเข้าสู่ระบบการดูแลรักษาที่บ้าน (Home Isolation) ภายใต้การดูแลของคลินิกชุมชนอบอุ่นในพื้นที่นั้นๆ รวมทั้งผู้ติดเชื้อที่โทรมายังสายด่วน สปสช. 1330 เพื่อขอให้ประสานหาเตียงให้และยังค้างอยู่ในระบบกว่า 2,500 ราย ก็จะปรับเข้าสู่การดูแลแบบ Home Isolation ทั้งหมด

นอกจากนี้ ในส่วนของผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อยที่ต้องการกลับไปรักษาที่ภูมิลำเนาหรือในต่างจังหวัด สามารถดำเนินการได้ 2 ทางคือ

  1. ผู้ป่วยติดต่อไปยังโรงพยาบาลโดยตรง จัดการนัดหมายเรื่องการรับส่งกันโดยตรง
  2. โทรมายังสายด่วน 1330 กด 15 จากนั้น สปสช. 1330 จะประสานกับโรงพยาบาลปลายทาง และจัดรถไปส่งให้

ขณะนี้กำลังหารือกับสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) รวมทั้งโรงพยาบาลบางแห่งที่สามารถจัดหารถได้ เช่น โรงพยาบาลสิชล จ.นครศรีธรรมราช โดยมาเบิกค่าพาหนะได้จาก สปสช.

“โรงพยาบาลที่พร้อมรับผู้ป่วยโควิด-19 กลับไปรักษาตามภูมิลำเนา โดยสามารถจัดรถมารับผู้ป่วยได้ทันที และเบิกจ่ายค่าพาหนะรับส่งต่อผู้ป่วย รวมถึงค่าชุด PPE และค่าทำความสะอาดฆ่าเชื้อมาที่ สปสช.ได้ อย่างไรก็ตาม หากโรงพยาบาลไม่สามารถนำรถมารับผู้ป่วย สามารถใช้รถอาสาสมัคร รถมูลนิธิ ที่มีความแข็งแรง ปลอดภัย โดย รพ.เป็นผู้เบิกค่ารับส่งต่อกับ สปสช.ได้เช่นเดียวกัน”

เลขาธิการ สปสช. กล่าว

ด้าน นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสิชล จ.นครศรีธรรมราช กล่าวว่า ขณะนี้ทางโรงพยาบาลได้จัดเตรียมรถบัสโดยสารไว้หลายคันสำหรับรับตัวผู้ป่วยที่มีภูมิลำเนาอยู่ใน จ.นครศรีธรรมราช และจังหวัดใกล้เคียงกลับมาจาก กทม. โดยได้รับกลับมาแล้วประมาณ 150 คน โดยค่าใช้จ่ายด้านพาหนะต่างๆ จะเบิกจาก สปสช. ดังนั้นผู้ป่วย โควิด-19 ที่ต้องการกลับมารักษาตัวในภูมิลำเนาสามารถติดต่อที่โรงพยาบาลได้โดยตรง และไม่ต้องกังวลเรื่องค่าเดินทาง

“ต้องขอขอบคุณผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราชที่เปิดช่องให้ย้ายผู้ป่วยข้ามจังหวัดได้ ซึ่งในการย้ายผู้ป่วย จะคำนึงเรื่องความปลอดภัยเป็นหลัก ผู้ป่วยหนัก จะไม่รับกลับเพราะอาจเกิดการเสียชีวิตระหว่างทาง ส่วนผู้ที่รับกลับ ก็จะไม่แวะพักระหว่างทาง รวมทั้งคำนึงถึงมาตรการความปลอดภัยอื่นๆ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ ซึ่งนอกจากที่โรงพยาบาลสิชลแล้ว จะขยายการดำเนินการในลักษณะนี้ในจังหวัดอื่นๆ ต่อไป”

นพ.อารักษ์ กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (13 ก.ค. 64)

Tags: , , , , , , , , ,
Back to Top