โฆษก ศบศ.โต้ข่าวภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ล้มเหลว พร้อมยันเดินหน้าเปิดสมุยพลัสวันนี้

นายธนกร วังบุญคงชนะ เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 (ศบศ.) ออกมาตอบโต้นายสมหมาย ภาษี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่ระบุว่าภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์มีเค้าลางล้มเหลว พร้อมทั้งแนะนำให้ทบทวนเปิดเกาะสมุย

โฆษก ศบศ.กล่าวว่า ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ไม่ได้ล้มเหลว ทุกอย่างเป็นไปตามแผน นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาตามกำหนด ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็คุมเข้มเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทุกฝ่ายพยายามอย่างเต็มที่เพื่อให้ทุกอย่างเดินหน้าตามเป้าหมายที่วางไว้เพื่อสร้างรายได้เข้าประเทศ

ส่วนการเปิดสมุย พลัส รับนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในเกาะสมุย เกาะพงัน และเกาะเต่า ยังคงเดินหน้าที่จะเริ่มในวันนี้ เพราะเตรียมการมาหลายเดือนแล้ว ซึ่งพื้นที่นำร่องจำเป็นที่จะต้องสร้างความมั่นใจให้กับภาคประชาชนในพื้นที่ และคนไทยในภาพรวมว่านักท่องเที่ยวแฟนพันธุ์แท้ที่เข้ามานั้นต้องมีความปลอดภัยจากความเสี่ยงต่างๆ ในระดับหนึ่ง ทั้งฉีดวัคซีน มาจากพื้นที่ประเทศที่กำหนด และได้รับการตรวจเชื้อตามมาตรการสาธารณสุข เงื่อนไขในการตรวจก็เป็นไปตามมาตรการป้องกันโรคของประเทศไทยในปัจจุบัน ที่จำเป็นต้องรักษามาตรการเข้มงวดไว้ในขณะที่สถานการณ์ภาพรวมของประเทศยังอยู่ในช่วงที่ต้องเฝ้าระวังเต็มที่

ขณะที่มิติในเชิงพื้นที่ของเกาะภูเก็ตและเกาะสมุย มีอัตราการพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ในแต่ละวันที่ต่ำมากหรือเป็นศูนย์ ดังนั้น จำเป็นต้องคุมเข้มมาตรการเข้มงวดเพื่อรักษาอัตราผู้ติดเชื้อรายใหม่ให้ดีดังเช่นปัจจุบันนี้ เพื่อความปลอดภัยของทั้งนักท่องเที่ยวและประชาชนในพื้นที่

สำหรับการตรวจ RT-PCR ให้กับนักท่องที่ยว 3 ครั้ง ค่าบริการ 8,000 บาทก็เป็นการดำเนินการตามมาตรการควบคุมโรคภาครัฐ ภายใต้ พ.ร.บ.สถานประกอบการฯ ที่จำเป็นต้องมีค่าใช้จ่ายเสริมรับรองในกรณีตรวจพบผู้ติดเชื้อ จะต้องมีเตียงเข้ารับการรักษาทันที ทำให้ราคาอาจจะสูงกว่าการรับตรวจเชื้อเพียงอย่างเดียว อย่างไรก็ตาม ผู้เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางสาธารณสุขในพื้นที่จะมีการทบทวนอัตราค่าบริการ ปรับลดลงในช่วงครึ่งหลังของเดือนกรกฎาคมต่อไป

ทั้งนี้ ยอมรับว่าพฤติกรรมการจองตั๋วและที่พักของนักท่องเที่ยวเป็น Last minute booking มากขึ้น เนื่องจากนักท่องเที่ยวจะรอดูนโยบายของประเทศตนเองตั้งแต่ต้นทางว่าอนุญาตให้ออกท่องเที่ยวต่างประเทศหรือไม่ อย่างไร รวมถึงนโยบายของประเทศปลายทาง และเมื่อถึงช่วงใกล้เวลาเดินทางจริงจึงจะเริ่มทำการจอง ซึ่งไม่นิยมการจองล่วงหน้านานๆ เหมือนสมัยก่อนโควิด

นอกจากนี้ นายธนกร กล่าวว่า การดำเนินโครงการไม่ได้เป็นการนำงบประมาณภาครัฐหรือหน่วยใดๆ เข้าไปขับเคลื่อน แต่เกิดขึ้นจากความร่วมแรงร่วมใจของภาคเอกชน ภาคประชาชน และภาครัฐ ดังนั้น ผลที่ได้รับจึงไม่จำเป็นต้องสะท้อนความคุ้มค่าการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ แต่สิ่งสำคัญคือเห็นผลในมิติด้านเศรษฐกิจควบคู่กับด้านสาธารณสุข เกิดการสร้างรายได้กับผู้ประกอบการในพื้นที่ไม่ใช่การเยียวยาอย่างเดียว แต่เป็นการสร้างรายได้ให้เกิดการพยุงธุรกิจเอกชน และกระจายรายได้สู่ชุมชนอย่างยั่งยืนอีกทางหนึ่งด้วย

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 ก.ค. 64)

Tags: , , , , , ,
Back to Top