ธปท. เผยโรงแรม-โรงงาน-รพ. แห่ร่วมมาตรการพักทรัพย์พักหนี้จากผลกระทบโควิด

นายอานุภาพ คูวินิชกุล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตรวจสอบ 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงานสัมมนา “เอสเอ็มอีไทยไปต่ออย่างไร ด้วยกลไกความช่วยเหลือของ ธปท.-แบงก์รัฐ” ถึงความคืบหน้ามาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ ซึ่งเป็นมาตรการใหม่นั้น ปัจจุบันมียอดอนุมัติการเข้าร่วมโครงการแล้ว 959 ล้านบาท คิดเป็นผู้ประกอบการที่ได้รับความช่วยเหลือ จำนวน 14 ราย และยังมีผู้ประกอบการอีกหลายรายที่อยู่ระหว่างการติดต่อกับสถาบันการเงิน และเตรียมอนุมัติเพื่อเข้าร่วมมาตรการพักทรัพย์พักหนี้อีกจำนวนมาก คิดเป็นมูลค่าหลายหมื่นล้านบาท

“ขณะนี้สถาบันการเงินมีการอนุมัติให้ผู้ประกอบการเข้าร่วมมาตรการพักทรัพย์พักหนี้เป็นการภายในแล้ว และอยู่ระหว่างรอให้ความชัดเจนของมาตรการภาษีสนับสนุนการโอนทรัพย์สินหลักทรัพย์เพื่อชำระหนี้ตามมาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ โดยเชื่อว่ามีความชัดเจนเรื่องนี้จะมีสถาบันการเงินยื่นเรื่องเพื่อขออนุมัติเข้ามาตรการพักทรัพย์ พักหนี้จำนวนมาก” นายอานุภาพ กล่าว

ส่วนความคืบหน้าของมาตรการทางการเงินเพื่อช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจ ผ่านมาตรการสินเชื่อฟื้นฟู ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในการประคับประคองกิจการ รักษาการจ้างงาน เอื้อให้ธุรกิจฟื้นกิจการได้ไว ไม่กระทบกับศักยภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะยาวนั้น ได้มีการอนุมัติสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีแล้ว 72,391.7 ล้านบาท คิดเป็นผู้ประกอบการที่ได้รับความช่วยเหลือ 23,687 ราย วงเงินอนุมัติเฉลี่ย อยู่ที่ 3.1 ล้านบาทต่อราย

ทั้งนี้ การอนุมัติสินเชื่อฟื้นฟูมีการกระจายตัวไปยังกลุ่มผู้ประกอบการเป็นอย่างดี ทั้งในแง่ของขนาด ประเภทธุรกิจ และภูมิภาค โดยมีธุรกิจขนาดเล็กที่มีวงเงินเดิมไม่เกิน 5 ล้านบาท ได้รับการอนุมัติสินเชื่อ 44.5% ขณะที่ผู้ประกอบการในธุรกิจพาณิชย์และบริการ ได้รับสินเชื่อสูงถึง 67.6% และยังพบว่าผู้ประกอบการที่ได้รับการอนุมัติสินเชื่อส่วนใหญ่กว่า 68.5% เป็นลูกหนี้ที่อยู่ในต่างจังหวัด

ด้านน.ส.สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายและกำกับสถาบันการเงิน 2 ธปท. คาดว่า ภายในสัปดาห์นี้ กรมสรรพากรน่าจะประกาศหลักเกณฑ์เกี่ยวกับมาตรการภาษีสนับสนุนการโอนทรัพย์สินหลักทรัพย์เพื่อชำระหนี้ตามมาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ ซึ่งเชื่อว่าหากสิทธิประโยชน์ทางภาษีในส่วนนี้มีผลบังคับใช้ จะทำให้ยอดการขออนุมัติตามมาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ที่อยู่ระหว่างเจรจาทยอยเข้าสู่มาตรการเพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีหลายธุรกิจที่อยู่ระหว่างดำเนินการเพื่อเข้าร่วมมาตรการ ส่วนใหญ่อยู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ ทั้งธุรกิจโรงแรม ธุรกิจอาคารพาณิชย์ โรงพยาบาล สปา และโรงงานแปรรูปต่าง ๆ

ทั้งนี้ ยืนยันว่ามาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ ได้มีการออกแบบอย่างยืดหยุ่น โดยเฉพาะระยะเวลาการเข้าร่วมโครงการที่กำหนดไว้ยาวถึง 2 ปี ตั้งแต่วันที่ 10 เม.ย.64 – 9 เม.ย.66 แต่หากสถานการณ์ต่าง ๆ ยังไม่ดีขึ้น ก็สามารถขยายระยะเวลาออกไปได้อีก 1 ปี และยังสามารถขยายระยะเวลาการตีโอนทรัพย์ชำระหนี้ได้เพิ่มจาก 5 ปีด้วย โดยระหว่างนี้ ธปท. จะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และพร้อมจะออกมาตรการเพิ่มเติมหากมีความจำเป็น

“มาตรการช่วยเหลือผ่านมาตรการสินเชื่อซอฟท์โลน และมาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ครั้งนี้ ได้ออกแบบให้รองรับความยืดหยุ่น รองรับความไม่แน่นอน และพยายามออกมาตรการที่ครอบคลุมปัญหาที่หลากหลาย ทั้งปัญหาเบา และปัญหาหนัก ตอบโจทย์ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบในระยะยาว” น.ส.สุวรรณี กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 ก.ค. 64)

Tags: , , , , , , , , , , , ,
Back to Top