ไฟเซอร์เซ็นสัญญากรมควบคุมโรคเตรียมส่งวัคซีนโควิดให้ไทย 20 ล้านโดส Q4/64

บริษัท ไฟเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด และ ไบออนเทค ประกาศลงนามสัญญาร่วมกับกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ในการจัดส่งวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 จำนวน 20 ล้านโดสสำหรับปี 64 ให้กับประเทศไทย โดยมีแผนกำหนดการส่งมอบในไตรมาส 4 ของปีนี้

อย่างไรก็ตาม รายละเอียดเกี่ยวกับมูลค่าการซื้อขายไม่อาจเปิดเผยได้ แต่มีข้อกำหนดเป็นไปตามช่วงเวลาในการส่งมอบและจำนวนโดสที่สั่ง

“สัญญานี้เป็นการเน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นของไฟเซอร์ในการจัดหาวัคซีนที่มีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคโควิด-19 นี้และยังเป็นการเพิ่มการเข้าถึงวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ของคนทั่วโลก”

นางสาวเด็บบราห์ ไซเฟิร์ท ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไฟเซอร์ ประเทศไทยและอินโดไชน่ากล่าว

ไฟเซอร์ ระบุอีกว่า ในสถานการณ์ที่ต้องเผชิญกับภาวะวิกฤตสุขภาพโลกในครั้งนี้ ไฟเซอร์ได้ดำเนินพันธกิจตามเป้าประสงค์ขององค์กรในการนำยานวัตกรรมที่จะช่วยเปลี่ยนแปลงชีวิตผู้ป่วยซึ่งในการดำเนินการนั้นเป็นไปอย่างเร่งด่วนมากยิ่งขึ้น

“ขอขอบคุณรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยสำหรับความไว้วางใจในความสามารถของการพัฒนาวัคซีนที่พวกเราเชื่อว่ามีศักยภาพที่จะช่วยในการรับมือกับโรคระบาดของโลกในครั้งนี้ เป้าหมายของเราก็ยังคงเป็นการส่งมอบวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ที่มีประสิทธิภาพให้แก่ผู้คนมากมายทั่วโลกโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้”

นายชอง มาเร็ท หัวหน้าฝ่ายธุรกิจและฝ่ายพาณิชย์ บริษัท ไบออนเทค กล่าว

ทั้งนี้ ไฟเซอร์และไบออนเทคตั้งเป้าการผลิตวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ให้ได้ราว 3 พันล้านโดสทั่วโลกภายในปี 64 โดยได้ทำการปรับปรุงพัฒนากระบวนการและขั้นตอนต่าง ๆ ในการผลิตอย่างต่อเนื่องและขยายกำลังการผลิตที่มีอยู่ขณะนี้ รวมถึงการเพิ่มผู้ผลิตและคู่สัญญารายใหม่ในอนาคต

วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ของไฟเซอร์-ไบออนเทคได้รับการพัฒนาโดยบริษัทไฟเซอร์และไบออนเทคโดยเป็นเทคโนโลยี mRNA ที่ไบออนเทคเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ และเป็นผู้ได้รับอนุญาตทางการตลาดในสหภาพยุโรปและยังเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้ในภาวะฉุกเฉินหรือเทียบเท่าในประเทศสหรัฐอเมริกา (ร่วมกับไฟเซอร์) ประเทศแคนาดาและประเทศอื่น ๆ ทั้งนี้ เป็นไปตามแผนที่ได้กำหนดไว้ก่อนหน้าในการยื่นคำขอขึ้นทะเบียนสำหรับการเป็นผู้รับอนุญาตทางการตลาดเต็มรูปแบบในประเทศเหล่านั้น

สำหรับข้อมูลด้านการศึกษาทางคลินิก การทำการทดลองทางคลินิก เฟสที่ 3 ของ BNT162b2 ซึ่งเป็นเทคโนโลยี mRNA ที่ไบออนเทคเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ เริ่มต้นขึ้นในปลายเดือน ก.ค.63 และเสร็จสิ้นการเก็บข้อมูลประสิทธิภาพเบื้องต้นในเดือน ม.ค.64 โดยมีอาสาสมัครจำนวน 46,331 คนเข้าร่วมการทดลองทางคลินิกที่มีความหลากหลายจากศูนย์ทดลอง 153 แห่งในประเทศสหรัฐอเมริกา เยอรมนี ตุรกี แอฟริกาใต้ บราซิล และ อาร์เจนติน่า โดยผู้เข้าร่วมการทดลองทุกคนจะได้รับการเฝ้าติดตามอย่างต่อเนื่องเพื่อประเมินความยาวนานของการป้องกันและความปลอดภัยเป็นเวลาต่อไปสองปีหลังจากที่ได้รับวัคซีนเข็มที่สอง

ขณะที่รายงานข่าวจากกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ในช่วงเช้าวันนี้นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข พร้อมด้วยนายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข และ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นสักขีพยานการลงนามในสัญญาการจัดหาวัคซีนโควิด 19 ชนิด mRNA ระหว่าง นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค และ Ms. Deborah Seifert ผู้จัดการบริษัท Pfizer ประเทศไทยและอินโดไชนา เพื่อจัดหาวัคซีนโควิด 19 จำนวน 20 ล้านโดส

นายอนุทิน กล่าวว่า ประเทศไทยได้ทำงานร่วมกับบริษัทไฟเซอร์อย่างหนักในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา เพื่อให้บรรลุเป้าหมายข้อตกลงร่วมกันในการจัดหาวัคซีนชนิด mRNA ของไฟเซอร์ 20 ล้านโดสมาให้กับคนไทย เชื่อว่าความร่วมมือนี้จะนำไปสู่การทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดมากขึ้น มั่นใจว่าวัคซีนที่สั่งซื้อจะมาภายในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ตามข้อตกลงในสัญญา

อย่างไรก็ตาม จะมีวัคซีนไฟเซอร์ที่ได้รับบริจาคจากประเทศสหรัฐอเมริกา 1.5 ล้านโดสมาถึงในปลายเดือนนี้ เพื่อฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า ผู้สูงอายุ และกลุ่มอื่น ๆ ตามที่คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติมีมติเห็นชอบ รวมทั้งประเทศไทยมีแผนสั่งซื้อวัคซีนไฟเซอร์เพิ่มเติมอีก 50 ล้านโดสในปีหน้า

ทั้งนี้ วัคซีนไฟเซอร์ ได้รับการขึ้นทะเบียนแบบมีเงื่อนไขจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2564 นับเป็นวัคซีนโควิด-19 รายการที่ 6 ของไทย ซึ่งแผนการฉีดประกอบด้วยการฉีดวัคซีนจำนวน 2 เข็ม โดยเข็มที่ 2 ห่างจากเข็มแรก 21 วัน และขึ้นทะเบียนให้ใช้สำหรับผู้ที่มีอายุ 12 ปีขึ้นไป ขณะที่วัคซีนอีก 5 รายการขึ้นทะเบียนสำหรับผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป

ทั้งนี้ วัคซีนตัวนี้เป็นวัคซีนโควิด-19 ที่ได้รับการรับรองให้นำมาใช้ในภาวะฉุกเฉินโดยองค์การอนามัยโลก (WHO EUL) ทำให้มั่นใจได้ว่าประเทศไทยจะมีวัคซีนหลากหลายชนิดฉีดให้กับประชาชนและสร้างความมั่นคงทางสุขภาพของประเทศไทยต่อไป

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 ก.ค. 64)

Tags: , , , , , , , , , ,
Back to Top