สธ.หวังล็อกดาวน์กทม.ลดยอดผู้ป่วยโควิด ถ้าเพิ่มต่ำกว่าพันราย/วัน พอรับมือได้

นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า การยกระดับมาตรการล็อกดาวน์เพื่อการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ออกมานั้น มีจุดประสงค์หลัก คือลดความเสี่ยงจากการเดินทาง และลดการกระจายเชื้อจากบ้านหนึ่งสู่อีกบ้านหนึ่ง ซึ่งหากประชาชนสามารถปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด และสามารถเร่งฉีดวัคซีนกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป, ผู้ที่มี 7 โรคเรื้อรัง และผู้ที่กำลังตั้งครรภ์) ได้ ก็คาดว่าในอีก 1-2 เดือนจำนวนผู้ติดเชื้อจะลดลง

“มองว่า หากจำนวนผู้ติดเชื้อในกทม. ลดลงเหลือต่ำกว่าวันละ 1,000 ราย หรือลดลงได้เหลือต่ำกว่าวันละ 500 ราย จะเป็นจำนวนที่ระบบสาธารณสุขมีความสามารถเพียงพอในการรองรับผู้ป่วยได้” นพ.จักรรัฐกล่าว

พร้อมระบุว่า ขณะนี้มีจำนวนผู้ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของกลุ่มผู้สูงอายุในกรุงเทพมหานคร (กทม.) คิดเป็นสัดส่วนได้เกือบ 60% แล้ว โดยกระทรวงสาธารณสุขวางแผนว่าในช่วง 2 สัปดาห์นี้ จะเร่งฉีดวัคซีนโควิดให้กับกลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่ม 7 โรคเรื้อรัง และกลุ่มผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ ในพื้นที่กทม.และปริมณฑลให้มากที่สุด เพื่อลดอัตราการป่วยรุนแรงและการเสียชีวิต

อย่างไรก็ตาม สธ. เน้นย้ำว่าวัคซีนทุกชนิดเมื่อฉีดแล้วยังสามารถติดเชื้อ และแพร่เชื้อได้ ดังนั้นประชาชนจึงยังต้องป้องกันตนเองอย่างเคร่งครัด โดยมาตรการด้านสาธารณสุขในช่วงล็อคดาวน์ 14 วันนี้ คือ

1. ขอให้ทุกคน “งดออกจากบ้าน”

2. อยู่บ้านแบบป้องกันคนในบ้าน ได้แก่

2.1 เช็คความเสี่ยงของทุกคนในบ้าน โดยผู้ที่มีความเสี่ยงมาก เช่น เคยใกล้ชิดผู้ติดเชื้อ, ไปที่แออัด, ที่ทำงานมีผู้ติดเชื้อ หรือพบลูกค้าจำนวนมาก ซึ่งในพื้นที่ กทม. สามารถขอรับการตรวจคัดกรองฟรีด้วย ATK ที่คลินิกใกล้บ้าน และอีก 4 จุดในกทม. ได้แก่ สนามกีฬาธูปะเตมีย์ กองทัพอากาศ, สนามราชมังคลากีฬาสถาน (หัวหมาก), ลานจอดรถชั้น 1 อาคารบี ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ถ.แจ้งวัฒนะ และสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) หรือสถาบันธัญญารักษ์

2.2 พูดคุยกันห่างๆ สวมหน้ากากขณะคุยกัน

2.3 แยกรับประทานอาหาร

2.4 ทำความสะอาดบริเวณที่จับร่วมกันบ่อยๆ เช่น ลูกบิด, ราวบันได, โต๊ะอาหาร, พัดลม และรีโมท

2.5 หากเป็นไปได้ให้แยกที่นอน นั่งดูทีวีห่างกัน งดกิจกรรม หรือการสัมผัสที่จะใกล้ชิดกันมากๆ

3. ถ้าสงสัยว่าติดเชื้อให้ลงทะเบียนตรวจ Antigen Test Kit (ATK)

4. หากติดเชื้อไม่มีอาการให้ติดต่อทีมดูแล CCR

5. ให้รีบพาผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคเรื้อรังไปรับการฉีดวัคซีน

ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องออกจากบ้าน ต้องออกจากบ้านด้วยจุดประสงค์ ดังนี้ 1. ซื้อหาอาหาร และเครื่องใช้จำเป็น 2. ซื้อยา ไปโรงพยาบาล หรือไปพบแพทย์ 3. ไปฉีดวัคซีนตามนัดหมาย 4. ไปปฏิบัติหน้าที่ทางการแพทย์และสาธารณสุข และ 5. ไปปฏิบัติหน้าที่จำเป็นต่อสาธารณะตามมาตรการที่กำหนด

อย่างไรก็ดี เมื่อมีความจำเป็นต้องออกนอกบ้าน ต้องปฎิบัติตาม DMHTT เป็นประจำ คือเว้นระยะห่าง, สวมหน้ากากอนามัย, ล้างมือบ่อยๆ, พกเจลติดตัว, ป้องกันตัวเองขณะเดินทาง ขณะทำงาน, ไม่เบียดช่วงซื้อของ และงดรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น

ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ปลายเดือนก.ค.นี้ ประเทศไทยจะได้รับบริจาควัคซีนไฟเซอร์จากสหรัฐอเมริกาจำนวน 1.5 ล้านโดส โดยคาดว่าจะเริ่มฉีดได้ต้นเดือน ส.ค. ซึ่งจากความเห็นชอบของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ได้มีการกำหนดกลุ่มเป้าหมายในการฉีดไว้ 4 กลุ่ม คือ 1. ฉีดวัคซีนบูสเตอร์เข็มที่ 3 ให้กับบุคลากรทางการแพทย์ และสาธารณสุขด่านหน้าเพื่อเพิ่มระดับภูมิคุ้มกัน โดยขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขอยู่ระหว่างการสอบถามเก็บรวบรวมข้อมูลจำนวนบุคลากรทางการแพทย์จากจังหวัดต่างๆ 2. กลุ่มผู้สูงอายุ และกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่ระบาด 3. กลุ่มชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยง และ 4. กลุ่มอื่นๆ

นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า การจัดหาวัคซีนโควิด-19 มีการลงนามจองซื้อและจะส่งมอบตามสัญญาจำนวน 100 ล้านโดสในปี 2564 ได้แก่ แอสตร้าเซนเนก้า 61 ล้านโดส, ซิโนแวค 19 ล้านโดส และไฟเซอร์ 20 ล้านโดส แต่ความต้องการฉีดวัคซีนของประชาชนมีจำนวนมาก กระทรวงสาธารณสุขจะจัดหาเพิ่มเติมและแจ้งความคืบหน้าต่อไป

สำหรับการลงนาม 3 ฝ่ายระหว่างกรมควบคุมโรค แอสตร้าเซนเนก้า และสถาบันวัคซีนแห่งชาติ เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2563 มีข้อตกลงว่าจะไม่เปิดเผยความลับในสัญญา ถ้าจะเปิดเผยต้องได้รับความยินยอม 3 ฝ่าย มิเช่นนั้นถือว่าทำผิดสัญญา และอาจถูกยกเลิกไม่มีการส่งวัคซีนให้ประเทศไทยได้ ทั้งนี้ ในสัญญาไม่ได้มีประเด็นอะไรซับซ้อน แต่ภาคเอกชนคำนึงถึงความลับทางการค้าที่อาจมีผลกับการทำสัญญากับอีกหลายประเทศ

“การทำสัญญากับแอสตร้าเซนเนก้า เป็นช่วงที่ยังไม่มีการผลิต จึงไม่สามารถกำหนดจำนวนที่ผลิตและจัดส่งให้ได้ ต้องเจรจากันล่วงหน้าในแต่ละเดือน สำหรับข่าวที่บอกว่าเราต้องการ 3 ล้านโดสต่อเดือนนั้น ไม่เป็นความจริง ความต้องการแต่ละเดือนอยู่ที่ 10 ล้านโดส จากการเจรจาล่าสุด ทางบริษัทจะส่งให้เราได้อย่างน้อยประมาณ 5-6 ล้านโดสต่อเดือน ทั้งนี้ขึ้นกับกำลังการผลิต หากผลิตได้เพิ่มขึ้นก็จะส่งมอบให้ได้มากขึ้น”

นพ.โอภาสกล่าว

สำหรับผลการศึกษาประสิทธิผลการใช้วัคซีนซิโนแวค ในสถานการณ์จริงของประเทศไทย โดยติดตามกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูงและบุคลากรทางการแพทย์ พบว่า จ.ภูเก็ต ป้องกันการติดเชื้อ 90% จ.สมุทรสาคร ป้องกันการติดเชื้อประมาณ 90% แต่เป็นช่วงของสายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) ส่วนเดือนมิถุนายน 2564 มีการระบาดในบุคลากรทางการแพทย์ จ.เชียงราย ผลการศึกษาพบว่าประสิทธิผลอยู่ที่ 82.8% แม้จะลดลงแต่อยู่ในระดับที่น่าพอใจ

ส่วนการติดเชื้อในบุคลากรทางการแพทย์ทั้งประเทศ รวบรวมโดยกรมควบคุมโรค ช่วงเดือนพฤษภาคม พบว่าป้องกันการติดเชื้อ 70.9% ข้อสังเกตคือประสิทธิผลป้องกันการติดเชื้อเริ่มลดลง เนื่องจากเชื้อกลายพันธุ์ จึงต้องหาวิธีเพิ่มประสิทธิผลป้องกันการติดเชื้อให้ดีขึ้น เป็นที่มาของการปรับสูตรการฉีดวัคซีนเป็นเข็ม 1 ซิโนแวค เว้น 3-4 สัปดาห์ ฉีดเข็มสองเป็นแอสตร้าเซนเนก้า ประสิทธิผลการป้องกันโรคสูงขึ้นหลายเท่าเมื่อเทียบกับการฉีดซิโนแวค 2 เข็ม รวมถึงฉีดวัคซีนได้ครอบคลุมรวดเร็วยิ่งขึ้น เนื่องจากใช้เวลา 4 สัปดาห์ จากเดิมฉีดแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม ต้องเว้นช่วง 12 สัปดาห์ ทำให้รองรับสถานการณ์การระบาดได้ดียิ่งขึ้น

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 ก.ค. 64)

Tags: , , , , ,
Back to Top