7 สายการบินจี้รัฐคลอดซอฟท์โลนหลังยอมหั่นวงเงินเหลือ 5 พันลบ.จาก 1.5 หมื่นลบ.

สมาคมสายการบินประเทศไทยเรียกร้องให้ภาครัฐเร่งการพิจารณาความช่วยเหลือสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) ปลอดการค้ำประกันให้กับธุรกิจสายการบินในประเทศทั้ง 7 สายการบิน หลังจากได้ปรับลดคำขอวงเงินอีกครั้งมาที่ 5 พันล้านบาท จากที่เคยปรับลดมาเหลือ 1.5 หมื่นล้านบาทเมื่อต้นปี 64 ซึ่งลดลงจากครั้งแรกที่ยื่นขอไป 2.4 หมื่นล้านบาทเมื่อเดือน มี.ค.63 ทั้งนี้ เพื่อใช้ในการรักษาการจ้างงานพนักงานสายการบินรวมเกือบ 2 หมื่นคน

ทั้งนี้ จากมาตรการรัฐบาลล่าสุดในการจำกัดการเดินทาง ส่งผลต่อการระงับการให้บริการชั่วคราว ในทุกเส้นทางบินเข้าออกพื้นที่สีแดงเข้ม ตั้งแต่ 21 ก.ค.64 เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ปัจจุบัน 7 สายการบินมีเครื่องบินที่ต้องจอดนิ่งรวมกว่า 170 ลำ และมีค่าใช้จ่ายเงินเดือนพนักงานรวมกว่า 900 ล้านบาทต่อเดือน นอกจากนี้ ยังมีต้นทุนด้านการปฏิบัติการบินและการบำรุงรักษาเครื่องบินอีกจำนวนมหาศาล ซึ่งทางสมาคมฯ ประเมินว่าอาจจะแบกรับภาระไม่ไหวหากไม่ได้รับมาตรการช่วยเหลือและเยียวยาจากภาครัฐโดยเร่งด่วน และอาจส่งผลต่อการกลับมาให้บริการในอนาคต

ดังนั้น 7 สายการบินจึงเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งพิจารณามาตรการความช่วยเหลือสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) อย่างเร่งด่วน เพื่อช่วยประคองธุรกิจสายการบินและการจ้างงานพนักงาน รวมทั้งเพื่อช่วยลดผลกระทบความเสียหายต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจและท่องเที่ยวภาพรวม เนื่องจากสายการบินคือธุรกิจด่านหน้าสำคัญ ที่เชื่อมต่อให้เกิดการกระจายและสร้างรายได้ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของประเทศ

“ตลอดกว่าหนึ่งปีครึ่งนับตั้งแต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 สายการบินทั้ง 7 สาย ได้พยายามอย่างเต็มที่ในการช่วยเหลือตัวเองและปรับตัวเพื่อประคองธุรกิจให้รอดจากสถานการณ์อันยากลำบากครั้งนี้ เรายังมีความหวังว่ารัฐบาลจะช่วยเร่งดำเนินการอนุมัติซอฟท์โลนโดยเร็วที่สุด เพราะนี่คือลมหายใจเฮือกสุดท้ายของสายการบินแล้ว”

นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ นายกสมาคมสายการบินประเทศไทย กล่าว

ทั้งนี้ สมาคมสายการบินประเทศไทยติดตามความคืบหน้าเรื่อง Soft Loan หลังจากยื่นเอกสารไปตั้งแต่การระบาดของโควิด-19 รอบแรก เดือน มี.ค.63 และมีการติดตามอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ทางสมาคมฯ ยังได้เข้าพบนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 28 ส.ค.63 เพื่อร้องขอให้เร่งพิจารณาในเรื่องดังกล่าว ทางสมาคมฯ ได้ส่งหนังสือติดตามล่าสุดอีกครั้งเมื่อเดือน พ.ค.64 ที่ผ่านมา ซึ่ง ณ ปัจจุบันก็ยังคงไม่ได้รับการพิจารณาจากรัฐบาล รวมเป็นระยะเวลากว่า 478 วันตั้งแต่วันแรกที่ยื่นหนังสือฯ

นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.การบินกรุงเทพ (BA) หรือ สายการบินบางกอกแอร์เวยส์ ในฐานะนายกสมาคมสายการบินประเทศไทย กล่าวว่า จากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ทำให้ธุรกิจการขนส่งทางอากาศวิฤตรุนแรงในรอบ 10 ปี โดยในปี 63 มีผู้โดยสารลดลงจากปี 62 ถึง 64.7% ผู้โดยสารระหว่างประเทศ ลดลง 81.7% และผู้โดยสารภายในประเทศลดลง 44.9% ส่วนเที่ยวบินในประเทศลดลง 33.8% ที่มาจากมาตรการสกัดการเดินทางเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ขณะที่สายการบินเองได้มีการปรับตัวมาต่อเนื่อง มีการปรับลดค่าใช้จ่าย การหารายได้เพิ่ม การบริหารฝูงบิน แต่การระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ สายการบินทั้ง 7 แห่งถูกระงับเที่ยวบินเกือบทั้งหมด ส่งผลให้สายการบินต้องแบกภาระต้นทุนทางการบินและบุคคลากรอันมหาศาล

การให้หยุดทำการบินเท่ากับรายได้เป็นศูนย์ ขณะที่ค่าใช้จ่ายมีเท่าเดิม ขณะนี้ทุกสายการบินต่างประสบภาวะขาดทุน และเริ่มแบกภาระต้นทุนไม่ไหว ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินการ ทำให้สายการบินต้องขอเรียกร้องให้รัฐบาลพิจารณาสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำอย่างเร่งด่วน และจัดการความช่วยเหลือพักชำระค่าธรรมเนียมต่างๆของภาครัฐ เพื่อลดผลกระทบความเสียหายธุรกิจการบิน ซึ่งถือเป็นฟันเฟืองสำคัญต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยว และการฟื้นฟูธุรกิจภาคอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

“ถ้าไม่ได้ Soft Loan จะทำให้สายการบินรับภาระหนักกว่าเดิม ไม่มีทางเลือกอื่น ก็ต้องปรับลดภายในเพิ่มขึ้น ไม่ว่าค่าใช้จ่ายต่างๆและบุคคลากร การที่ธุรกิจไม่มีรายได้มีแต่ค่าใช้จ่ายเมื่อถึงสภาวะหนึ่งก็ต้องมีการปรับเปลี่ยน ไม่ว่า downside บริษัท หรือดำเนินการอื่นใดที่ให้บริษัทคงอยู่ได้ หรือไม่สามารถที่จะอยู่ได้ ผมก็ไม่อยากเห็นภาพนั้นในประเทศไทย…ตอนนี้ผลกระทบเป็นวงกว้างมาก ถ้าเรายังคงเดินต่อไปได้ก็อยากขอร้องรัฐบาลช่วยพิจารณา”

นายกสมาคมสายการบินประเทศไทย กล่าว

นายสันติสุข คล่องใช้ยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทยแอร์เอเชีย และอุปนายกสมาคมสายการบินประเทศไทย กล่าวว่า ธุรกิจสายการบินได้รับผละทบจากวิกฤตการระบาดโควิด-19 อย่างรวดเร็ว รุนแรง และยื้ดเยื้อ และถึงปัจจุบันสถานการณ์ก็ยังไม่จบ จากเดือน ก.พ.63 เริ่มรับผลกระทบโควิด และมี.ค. 63 หยุดเดินทางระหว่างประเทศ จนถึงวันนี้รวม 17 เดือนแล้ว ในเดือนเม.ย.63 รัฐบาลก็ประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ การเดินทางไม่มีรายได้เป็นศูนย์

แต่ต่อมา พ.ค.-ก.ย.สายการบินค่อยๆ ปรับเพิ่มเที่ยวบินตามสถานการณ์ โดยเดือน ต.ค.-ธ.ค.63 มีเที่ยวบินดีขึ้น แต่กลาง ธ.ค. 63 ก็เกิดระบาดระลอก 2 และปลายเดือน ก.พ. 64 ก็กลับมาดีขึ้น แต่ในเดือนเม.ย. 64 ก่อนสงกรานต์ก็ระบาดระลอก 3 และสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) งดทำการบินในพื้นที่สีแดงเข้ม คือ กรุงเทพฯ และสมุทรปราการ ซึ่งเป็นที่ตั้งสนามบิน วันนี้เครื่องบินทั้งหมด 170 ลำต้องจอด รายได้เป็นศูนย์ ทำให้เราต้องขอให้รัฐบาลช่วยเหลือ
นายวรเนตุ หล้าพระบาง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทยเวียดเจ็ท และอุปนายกสมาคมสายการบินประเทศไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมาสายการบินได้พยายามปรับลดค่าใช้จ่าย ปรับลดเงินเดือนพนักงาน ขณะที่สมาคมสายการบินประเทศไทยได้ทวงถามติดตามเรื่องขอรัฐบาลให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เมื่อต้นปี 64 และปรับลดวงเงินกู้เหลือ 1.5 หมื่นล้านบาทเพื่อใช้เป็นค่าใช้จ่ายพนักงานในระยะเวลา 1 ปี แต่สมาคมฯ ก็ยังไม่ได้รับคำตอบชัดเจน ครั้งนี้จึงได้ลดวงเงินเหลือ 5 พันล้านบาท เพื่อใช้รักษาสถานะการจ้างงานพนักงานไปจนถึงสิ้นปี 64 และต่อลมหายใจให้สายการบิน

“ในกรณี Worst Case ทั้งจำนวนผู้ติดเชื้อ สภาพกระแสเงินสดของแต่ละสายการบินที่มีอยู่ กรณีเลวร้ายถ้าหยุดบินมากกว่า 3 เดือน ยังไงธุรกิจสายการบินก็คงอยู่ไม่ได้ ถ้าสมมติฐานหยุดบินไป 3 เดือน 3 เดือนให้หลังคงไม่อยู่รอดกันสักคน ผมไม่อยากคิดถึง Worst Case เราทุกคนทำงานด้วยความหวัง เราแอบหวังลึกๆ ว่ารัฐบาลจะจัดหาวัคซีนได้ กระจายวัคซีนได้อย่างรวดเร็ว หวังว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อหลังล็อกดาวน์อย่างซีเรียสอย่างนี้จะเริ่มมีตัวเลขที่ลดลง และหวังว่าจะกลับมาทำการบินในเวลาที่ไม่นานจนเกินไป ถ้าเราได้รับการ support จากรัฐบาลในวงเงิน 5 พันล้านนี้ เราสามารถประคองการจ้างงานได้ถึงสิ้นปีนี้”

นายวรเนตุ กล่าว

ด้านนางชาริตา ลีลายุทธ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทยสมายล์แอร์เวย์ และอุปนายกสมาคมสายการบินประเทศไทย กล่าวว่า สมาคมฯ ได้ติดต่อสำนักงานประกันสังคม และกระทรวงแรงงาน โดยได้เข้าพบ รมว.แรงงาน ในการสนับสนุนช่วยเหลือรักษาการจ้างแรงงาน โดยสำนักงานประกันสังคมยังมีเงินกองทุนที่สามารถให้กู้ได้ แต่มีข้อติดขัดของกฎระเบียบที่สำนักงานประกันสังคมจะช่วยเหลือได้แต่ธุรกิจขนาดย่อม วงเงิน 15 ล้านบาท แต่สายการบินเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ ฉะนั้นสำนักงานประกันสังคมก็ต้องแก้ไขประเด็นนี้ นอกจากนี้ เรื่องการค้ำประกันจากบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ก็มีข้อจำกัดที่ทำให้ธุรกิจขนาดย่อม ธุรกิจสายการบินจึงไม่เข้าข่ายก็จะมีการแก้ไขข้อจำกัด

นายนัดดา บูรณศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์ และอุปนายกสมาคมสายการบินประเทศไทย คาดว่า หากตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ลดลงและต่างประเทศมีความเชื่อมั่นประเทศไทย ก็มีโอกาสที่ไทยจะเปิดบินเส้นทางระหว่างประเทศในไตรมาส 4/64 หรือ ไตรมาส 1/65 และคาดว่าในกลางปี 65 การบินระหว่างประเทศจะกลับมา 40-50%

ส่วนนายวุฒิภูมิ จุฬางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.สายการบินนกแอร์ (NOK) กล่าวว่า นอกจากเงินกู้ซอฟท์โลนแล้ว ต้องการที่จะให้ภาครัฐลดค่าบริการจัดการจราจรทางอากาศ และภาษีสรรพสามิตน้ำมันออกไปถึงสิ้นปี 64 เพราะถือว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่สายการบินแบกรับไว้ และจะทำให้มีต้นทุนสูงทำให้การแข่งขันกับประเทศอื่นลดลง ทั้งนี้ หากอุตสาหกรรมการบินปิดตัวลง จะส่งผลกระทบทวีคูณต่ออุตสาหกรรมอื่น อยากให้รัฐบาลช่วยสนับสนุนให้สายการบินอยู่รอด นอกจากนี้อุตสาหกรรมการบินมีผลต่อความมั่นคงประเทศ

“ขอให้รัฐบาลพิจารณาเงินกู้ Soft Loan ปลอดหลักประกัน ขอให้ลดภาษีสรรพสามิตน้ำมัน และค่าใช้จ่ายการจัดการจราจรทางอากาศ อยากให้ภาครัฐมีมาตรการช่วยเหลือทุกสายการบินอย่างเท่าเทียมกัน”

นายวุฒิภูมิกล่าว

อนึ่ง สมาคมสายการบินประเทศไทย ประกอบด้วยสมาชิก 7 สายการบิน ได้แก่ สายการบินบางกอกแอร์เวยส์ สายการบินไทยแอร์เอเชีย สายการบินไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ สายการบินไทย ไลอ้อน แอร์ สายการบินไทยสมาย์ สายการบินนกแอร์ และสายการบินไทยเวียดเจ็ท

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 ก.ค. 64)

Tags: , , , , , , , , ,
Back to Top