ZoomIn: เอกชน ประเมินขยายล็อกดาวน์ทำ ศก.สูญ 3-4 แสนลบ.กระทบค้าปลีก-ส่งออก-ท่องเที่ยว

ภาคเอกชนประเมินผลกระทบจากการขยายระยะเวลามาตรการล็อกดาวน์และเพิ่มพื้นที่เป็น 29 จังหวัด จะสร้างความสูญเสียต่อมูลค่าทางเศรษฐกิจของไทยราว 3-4 แสนล้านบาท/เดือน เนื่องจากในกลุ่มจังหวัดดังกล่าวมีโรงงานอุตสาหกรรมสำคัญที่สร้างรายได้ต่อภาคเศรษฐกิจ แต่หวังว่ามาตรการดังกล่าวจะช่วยลดจำนวนผู้ติดเชื้อซึ่งจะส่งผลดีในระยะยาว

นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย มองว่า มาตรการล็อกดาวน์ที่ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ประกาศใช้เพื่อขีดวงจำกัดการแพร่ระบาดของสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ในประเทศ แม้ว่าจะเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องดำเนินการ แต่อีกด้านก็ย่อมเกิดผลกระทบกับผู้ประกอบการและภาคธุรกิจต่างๆ อย่างไม่สามารถจะหลีกเลี่ยงได้

ไม่ว่าจะเป็น 1.ผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว ที่การจำกัดการเดินทางเคลื่อนย้ายของประชาชนข้ามจังหวัด มีผลต่อการเดินทางท่องเที่ยวในจังหวัดต่างๆ 2.การจับจ่ายใช้สอยในสินค้าอื่นๆ ลดลง เพราะห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า ร้านบางประเภทกิจการไม่สามารถเปิดบริการได้ชั่วคราว และ 3.กำลังการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารต่างๆ ลดลง จากผลกระทบของการระบาดที่เป็นคลัสเตอร์ในโรงงาน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากที่แรงงานไม่สามารถเข้าถึงการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดได้อย่างทั่วถึงและครอบคลุม

“คลัสเตอร์โรงงานนี่น่ากังวลกว่าคลัสเตอร์ก่อสร้าง ต้องระวังให้มาก เพราะตัวเลขการติดเชื้อในโรงงานออกมาให้เห็นในหลายจังหวัดแล้ว ขอวัคซีนไปแล้วก็ไม่ได้เท่ากับจำนวนที่ต้องการ น่าห่วงโรงงานที่มีการใช้แรงงานสูง ไม่ว่าจะที่สมุทรสาคร สมุทรปราการ ปทุมธานี สระบุรี สงขลา เหล่านี้กำลังการผลิตจะลดลง และจะมีผลกระทบต่อการส่งออกได้” นายพจน์ กล่าว

นายพจน์ กล่าว

พร้อมระบุว่า การส่งออกในระยะต่อไปอาจจะไม่สามารถเติบโตได้ดีเท่าที่ควรจะเป็น เพราะถูก disrupt จากสถานการณ์ดังกล่าว โดยเฉพาะในกลุ่มแปรรูปสินค้าเกษตร ไม่ว่าจะเป็นอาหารแปรรูป อาหารทะเล กุ้ง ไก่ ไข่ไก่ เป็นต้น ซึ่งภาคการผลิตในกลุ่มนี้ล้วนแต่ใช้วัตถุดิบจากในประเทศเป็นส่วนสำคัญในการผลิต

นายพจน์ มองว่า มาตรการล็อกดาวน์เป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องดำเนินการ แต่รัฐบาลจะต้องมีมาตรการออกมาเพิ่มเติมในแง่ของการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ รวมทั้งสิ่งที่มองว่าจำเป็นที่สุดในขณะนี้ คือการเร่งฉีดวัคซีนให้ได้มากที่สุดเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้ได้เร็วที่สุด

ขณะที่นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย คาดว่าผลจากการล็อกดาวน์อาจจะกระทบต่อมูลค่าทางเศรษฐกิจราว 3-4 แสนล้านบาท/เดือน เนื่องจากใน 29 จังหวัดมีโรงงานอุตสาหกรรมสำคัญที่สร้างรายได้ต่อภาคเศรษฐกิจไทย คิดเป็นมูลค่ารวมกันถึง 60% ของจีดีพีประเทศ

อย่างไรก็ดี ในการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ในวันที่ 4 ส.ค.นี้ จะได้มีการประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจของประเทศในปีนี้อย่างเป็นทางการอีกครั้งว่าจากการระบาดของโควิดรอบใหม่ และการล็อกดาวน์จะมีผลต่อ GDP ในปีนี้มากน้อยเพียงใด

ด้านนายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยฯ คาดการณ์สถานการณ์ช่วงก่อนที่รัฐบาล โดย ศบค.จะประกาศการล็อกดาวน์ว่า ในไตรมาส 3/64 การใช้จ่ายและเศรษฐกิจในประเทศค่อนข้างซบเซา การก่อสร้างได้รับผลกระทบให้มีการชะลอออกไป นอกจากนี้ มาตรการช่วยเหลือจากทางภาครัฐโครงการต่างๆ เช่น โครงการคนละครึ่ง อาจมีประสิทธิภาพลดลง เนื่องจากประชาชนไม่ออกมาจับจ่ายใช้สอย

ในมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์ต่อผลกระทบหลังการขยายการล็อกดาวน์ คือ สถานการณ์ (scenario) ของผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลให้การประเมินของภาคเศรษฐกิจสามารถทำได้ยาก ซึ่งหากสถานการณ์เป็นไปตามข้อมูลจากทางปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่ระบุว่าหากมีการล็อกดาวน์ในช่วง 1-2 เดือนนี้ ตัวเลขผู้ติดเชื้อสูงสุดจะอยู่ในช่วงปลายไตรมาส 3/64 หรือช่วงไตรมาส 4/64 จำนวนผู้ติดเชื้อจะอยู่ในระดับ 20,000 ราย/วัน คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจเป็นระยะเวลานาน

ทั้งนี้ มีการประมาณการอีกรูปแบบเป็นแนวโน้วแบบระฆังคว่ำ คือการล็อกดาวน์จะทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อลดลง โดยสถานการณ์จะแย่ที่สุดในไตรมาส 3/64 และจะเริ่มปรับตัวดีขึ้นในช่วงไตรมาส 4/64 โดยภาวะเศรษฐกิจอาจกลับมาเป็นปกติเหมือนไตรมาส 4/63 ที่ไม่มีการล็อกดาวน์ และการท่องเที่ยวเริ่มกลับมา

อย่างไรก็ดี ยังไม่แน่ใจในการคาดการณ์จากกระทรวงสาธารณสุขว่าจะออกมาในรูปแบบใด ซึ่งถ้าออกมาในรูปแบบแรก คาดว่าน่าจะเกิด Downside Risk มากกว่าที่คาดการณ์ไว้ค่อนข้างมาก จากที่เคยประเมินไว้ว่าสถานการณ์การท่องเที่ยวในประเทศ และต่างประเทศน่าจะกลับมาเหมือนในช่วงเดือนธ.ค.ปี 63 ก็อาจไม่กลับมาเหมือนที่คาดไว้

“แต่เดิมมองแนวโน้มการระบาดเป็นรูปแบบระฆังคว่ำ ซึ่งหากสถานการณ์เป็นไปตามที่ทางสธ. คาดการณ์ จะส่งผลดีต่อการบริหารจัดการระบบสาธารณสุข แต่ในทางเศรษฐกิจ กิจกรรมต่างๆ ในประเทศ เช่น การท่องเที่ยว จะไม่กลับมาดีขึ้น”

นายพชรพจน์กล่าวกับอินโฟเควสท์

พร้อมมองว่า การประเมินตัวเลข GDP ในไตรมาส 2/64 ยังมีความไม่แน่นอน เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจของไตรมาส 2/63 ค่อนข่างแย่มาก (ฐานต่ำ) ดังนั้นเมื่อนำมาเทียบกับไตรมาส 2 ของปีนี้จึงอาจเป็นบวก หรือติดลบก็ได้ แต่ที่น่ากังวลคือในไตรมาส 4/63 ประเทศไทยสามารถฟื้นตัวเลข GDP กลับมาได้ ส่วนในไตรมาส 4/64 มีความกังวลว่าอาจติดลบ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อตัวเลข GDP ทั้งปีนี้ให้ติดลบ หรือไม่เติบโตจากปีที่แล้วได้

นายพชรพจน์ ยังมองถึงผลกระทบระยะสั้นในช่วงเดือน ส.ค.-ก.ย. (Immediate effect) คาดว่าไม่ต่างจากที่เคยประเมินไว้มากนัก คือในไตรมาส 3/64 เศรษฐกิจอยู่ในช่วงซบเซา เนื่องจากมองว่าการล็อกดาวน์ระยะเวลา 14 วันไม่เพียงพอต่อการลดตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 และถึงแม้ว่าจะไม่ประกาศล็อกดาวน์ต่อ แต่โดยพฤติกรรมของทั้งคนทำงาน และประชาชนทั่วไป คงไม่ออกไปจับจ่ายใช้สอยตามปกติแน่นอน

สำหรับจำนวนผู้ติดเชื้อตามโรงงานภาคอุตสาหกรรมต่างๆ อาจส่งผลกระทบต่อภาคการผลิต และภาคการส่งออกในระยะสั้น อย่างไรก็ตาม ดีมานด์ของต่างประเทศยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง และสูงขึ้นเรื่อยๆ ส่วนซัพพลายอาจได้รับผลกระทบจากโรงงานหลายแห่งที่มีการติดเชื้อโควิด-19 ดังนั้นหากผู้ประกอบการสามารถบริหารจัดการได้ดี คาดว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยมากนัก

นายพชรพจน์ ยังมีข้อเสนอแนะทางวิชาการไปถึงด้านสาธารณสุข คือ การคาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ควรมีความชัดเจนมากกว่านี้ เช่น การประเมินผลของการล็อกดาวน์ของ สธ.เพื่อการวางแผนการดำเนินงานของทุกฝ่าย ให้นักเศรษฐศาสตร์สามารถประเมินสถานการณ์ได้ถูกต้อง

ในส่วนของผู้ประกอบการจะได้สามารถเตรียมตัววางแผนกิจการในช่วง 3-4 เดือนข้างหน้า เช่น ถ้าในช่วงไตรมาส 4/64 สถานการณ์เริ่มกลับมาปกติ อาจต้องเก็บเงินบางส่วนเพื่อใช้ในการเปิดกิจการอย่างเต็มรูปแบบในช่วงปลายปีได้ เป็นต้น แต่ถ้าหากมีการล็อกดาวน์อย่างเข้มงวดต่อไป ผู้ประกอบการจะต้องวางแผนถึงสภาพคล่องตั้งแต่ไตรมาส 3-4/64 เพื่อความอยู่รอดของธุรกิจในอนาคต รวมถึงในส่วนของภาครัฐฯ ที่จะส่งผลต่อการดำเนินงานทั้งเรื่องการวางแผนจัดการงบประมาณล่วงหน้า และมาตรการเยียวยาต่างๆ

ด้านนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศ (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า มาตรการล็อกดาวน์รอบใหม่ย่อมส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจเพิ่มเติม โดยเฉพาะผู้ประกอบธุรกิจค้าขายเนื่องจากยอดซื้อลดลง ถึงแม้จะไม่อยู่ในพื้นที่สีแดงเข้ม แต่คนจากที่อื่นก็เดินทางเข้าไปไม่ได้ แต่ในภาพรวมคงเกิดผลกระทบเพิ่มจากเดิมไม่มาก เพราะเกิดสถานการณ์รุนแรงมาก่อนหน้านี้แล้ว

ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมนั้นก็มีมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาด (Bubble and Seal) ให้ผู้ประกอบการได้นำมาใช้แล้ว โดยความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นเคยประเมินไว้ที่เดือนละ 1 แสนล้านบาท

“ในสถานการณ์ที่มีความรุนแรงคงกระทบไปทั้งหมด แต่ธุรกิจค้าขายน่าจะมากหน่อย เพราะไม่มีคนมาซื้อ” นายสุพันธุ์ กล่าวกับ “อินโฟเควสท์”

สำหรับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในภาคอุตสาหกรรมนั้น หากเป็นผู้ผลิตเพื่อขายเฉพาะในประเทศ อาจส่งผลให้ยอดขายตกลงไปตามกำลังซื้อที่ลดลง แต่หากเป็นผู้ผลิตเพื่อส่งออกยังมีแนวโน้มดี ยกเว้นจะเกิดปัญหาแรงงานติดเชื้อจนส่งผลกระทบให้ต้องชะลอกำลังการผลิต หรือลดกำลังการผลิตลง

ประธาน ส.อ.ท.กล่าวว่า การแก้ไขคงต้องหาแนวทางที่จะทำให้ปัญหายุติโดยเร็ว และต้องเร่งจัดหาวัคซีนเข้ามาใช้งานให้เพียงพอที่จะลดการแพร่ระบาดได้ ขณะเดียวกันภาครัฐก็ต้องหามาตรการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบอยางเหมาะสม

ทั้งนี้ ในการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน คือ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, สมาคมธนาคารไทย และ ส.อ.ท.ในวันที่ 4 ส.ค.64 จะมีการประเมินสถานการณ์และผลกระทบเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (03 ส.ค. 64)

Tags: , , , , , , , , , , ,
Back to Top