ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภค ก.ค. ปรับลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค (CCI) เดือน ก.ค.64 ปรับตัวลดลงมาที่ 40.9 จากระดับ 43.1 ในเดือนมิ.ย.64 โดยดัชนีฯ อยู่ในระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 22 ปี 10 เดือน และยังคงลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม อยู่ที่ระดับ 35.3 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวม อยู่ที่ระดับ 38.0 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ระดับ 49.6 โดยดัชนีฯ ปรับตัวลดลงทุกรายการเมื่อเทียบกับในเดือน มิ.ย.64

โดยปัจจัยลบที่สำคัญ คือ ความกังวลต่อการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกที่ 3-4 ตลอดจนการระบาดของสายพันธุ์เดลตาที่แพร่กระจายได้เร็วกว่าสายพันธุ์เดิม, ความกังวลกับแผนกระจายวัคซีนที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง และไม่เป็นไปตามเป้าหมาย, กระทรวงการคลังปรับลดประมาณการ GDP ปีนี้เหลือโต 1.3%, ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศปรับสูงขึ้น, ความกังวลต่อเสถียรภาพทางการเมือง และการชุมนุมทางการเมืองในประเทศ, ผู้บริโภคกังวลต่อภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจ และปัญหาค่าครองชีพ

ขณะที่ปัจจัยบวกมีเพียง มาตรการเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจผ่านโครงการต่างๆ , การฉีดวัคซีนของโลกและการฉีดวัคซีนในประเทศที่เริ่มเป็นรูปธรรม และการส่งออกไทยในเดือนมิ.ย. โต 43.82%

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า การที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวลดลงอีกครั้ง ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโควิดรอบที่ 4 แสดงว่าผู้บริโภคยังคงวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์โควิดในประเทศไทยและในโลก ว่าจะส่งผละกระทบต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทย ส่งผลให้ผู้บริโภคจะระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอยในช่วงนี้

ทั้งนี้ การสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนก.ค.64 เป็นช่วงที่มีผู้ติดเชื้อโควิดในประเทศอยู่ในระดับเกิน 15,000 ราย/วัน ซึ่งส่งผลกระทบทางด้านจิตวิทยาต่อผู้บริโภค ขณะเดียวกันในช่วงกลางเดือนก.ค. รัฐบาลยังได้ประกาศยกระดับการล็อกดาวน์เพิ่มขึ้นอีกในพื้นที่สีแดงเข้ม จากเดิม 10 จังหวัดเป็น 13 จังหวัด ซึ่งได้ประเมินความเสียหายจากมูลค่าทางเศรษฐกิจไว้ราว 2-3 แสนล้านบาท/เดือน จึงมีผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนนี้ลดลงไปค่อนข้างมาก

นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ที่ลดลง ยังมาจากความกังวลของประชาชนต่อสถานการณ์โควิดในประเทศที่ยังยืดเยื้อ, การฉีดวัคซีนป้องกันโควิดที่ยังมีข้อจำกัด และไม่สามารถดำเนินการได้เป็นไปตามแผนที่รัฐบาลวางไว้ ทั้งในแง่ของจุดฉีดวัคซีน และการจัดสรรวัคซีน

“เมื่อมีการล็อกดาวน์กิจกรรมทางเศรษฐกิจหลายประเภทใน 13 จังหวัด ก็ทำให้การจับจ่ายใช้สอยของประชาชนต่อวันลดลง เหลือแค่ 1 ใน 3 ของระดับปกติ หรือหายไปวันละประมาณ 7 พันล้านบาท คิดเป็นเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจที่จะหายไป 2-3 แสนล้านบาท/เดือน จึงทำให้ดัชนีฯ ลดลงไปค่อนข้างมาก”

นายธนวรรธน์กล่าว

อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามของการฉีดวัคซีนทั่วประเทศในเดือนส.ค.เป็นต้นไป การแพร่กระจายของโควิดรอบที่ 4 ว่าจะรุนแรงมากน้อยแค่ไหน และจะควบคุมการแพร่ระบาดของโควิดได้รวดเร็วเพียงไร รัฐบาลจะมีการประกาศล็อกดาวน์เพิ่มเติมหรือไม่ ตลอดจนรัฐบาลจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในอนาคตเพิ่มเติมอย่างไร เพราะจะมีผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในอนาคตได้

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (05 ส.ค. 64)

Tags: , , , , , ,
Back to Top