สัมภาษณ์พิเศษ: RBF กับบิ๊กโปรเจ็คต์ CBD กัญชงสู่เป้าใหญ่แข่งขันตลาดโลก

กลายเป็นกระแส Talk Of The Town ของวงการอุตสาหกรรมใหม่เมืองไทย ภายหลังจาก บมจ.อาร์ แอนด์ บี ฟู้ด ซัพพลาย (RBF) คว้าใบอนุญาตโรงงานสกัดสาร CBD-THC พืชกัญชงเป็นรายแรกของไทยจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ประกาศจากนั้นไม่นานก็ได้ใบอนุญาตเพาะปลูกและใบอนุญาตสกัดน้ำมันจากเมล็ดกัญชงเข้ามาเพิ่มเติม ช่วยเสริมความแข็งแกร่งในการเป็นผู้ประกอบการรายสำคัญกลุ่มธุรกิจกัญชงแบบครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ

กว่าจะคว้าไลเซนส์สกัด CBD กัญชง “ไม่ใช่เรื่องง่าย”

นายสุรนาถ กิตติรัตนเดช ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบัญชีและการเงิน RBF เปิดเผยกับ “อินโฟเควสท์” ว่า การได้รับใบอนุญาตผลิต (ปลูก) พืชกัญชงและใบอนุญาตสกัดน้ำมันจากเมล็ดกัญชงจาก อย.ต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบจากทางภาครัฐอย่างเข้มงวด มีหน่วยงานราชการหลายแห่งเข้ามาเกี่ยวข้อง ตั้งแต่การตรวจภายในโรงงานไปจนถึงการพิจารณาระดับจังหวัด ทั้ง อย.และ กองควบคุมวัตถุเสพติด

รวมไปถึงฝ่ายปกครองท้องถิ่น เพื่อสร้างความมั่นใจในการควบคุมสารเสพติดทั้ง CBD และ THC จะไม่สามารถหลุดออกไปนอกกระบวนการผลิตได้ โดยมีการตรวจสอบอย่างละเอียดทุกกระบวนการ โรงงาน เครื่องจักร การควบคุมและจัดการวัตถุดิบ ไปจนถึงการผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ออกสู่ท้องตลาด

จากการเตรียมความพร้อมมาตลอดระยะเวลากว่า 2 ปี บริษัทได้ปรับปรุงและติดตามระบบที่เกี่ยวข้องกับการสกัดกัญชงมาอย่างต่อเนื่อง เป็นการต่อยอดจากการเป็นผู้นำกลุ่มอุตสาหกรรม Food Ingredient อยู่แล้ว ทำให้การขยายไลน์การผลิตค่อนข้างง่ายและมีระบบรองรับด้านความปลอดภัยที่มีประสิทธิภาพ ดังนั้น เมื่อข้อกฎหมายออกมาชัดเจน ทุกตัวแปรที่บริษัทเตรียมการเอาไว้จึงสอดคล้องกับข้อกฎหมายกำหนด

“การได้รับใบอนุญาตเป็นแค่จุดเริ่มต้นความหวังของภาคการเกษตรและเศรษฐกิจ เราต้องการสนับสนุนเกษตรกรมีรายได้มากขึ้น ควบคู่กับการเติบโตกลุ่มธุรกิจปลายน้ำสามารถเดินหน้าต่อไปได้ และที่สำคัญคือผู้บริโภคที่ได้รับผลิตภัณฑ์ได้รับประโยชน์เพื่อให้ผลิตภัณฑ์อยู่ในตลาดต่อเนื่องและยาวนาน ดังนั้นจำเป็นต้องยกระดับทั้งห่วงโซ่ซพพลายเชนได้รับประโยชน์ร่วมกันทุกฝ่าย”

นายสุรนาถ กล่าว

มุ่งบริหารวัตถุดิบต้นน้ำเพียงพอต่อความต้องการตลาด

นายสุรนาถ กล่าวต่อว่า แนวทางการบริหารจัดการวัตถุดิบต้นน้ำ บริษัททำข้อตกลงรับซื้อวัตถุดิบจากเกษตรกรกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่เคยปลูกพืชกัญชงให้ทางมหาวิทยาลัยต่างๆ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความชำนาญและมีพื้นที่การปลูกอยู่แล้ว โดยมีเกษตรกรหลายภูมิภาคไม่ว่าจะเป็นภาคเหนือ ภาคตะวันตก ภาคตะวันออก ภาคกลาง ภาคอีสาน ส่วนภาคใต้ อยู่ในระหว่างการศึกษาและประเมินพื้นที่ ซึ่งคาดว่ากัญชงจะเข้ามาเป็นรายได้เสริมที่ดีอีกช่องทางหนึ่งให้กับเกษตรกรได้

บทบาทสำคัญของบริษัท คือการประเมินคำสั่งซื้อจากลูกค้าในแต่ละเดือน พร้อมกับจัดหาวัตถุดิบจากเกษตรกรแต่ละกลุ่มให้สอดคล้องกัน ขณะเดียวกันบริษัทดำเนินการขอใบอนุญาตปลูกเองด้วยจำนวน 10 ไร่สำหรับใช้เป็นพื้นที่แปลงทดลองเพื่อเป็นต้นแบบให้ทางเกษตรกรอีกด้วย

สำหรับการปลูกพืชกัญชงต้องเริ่มตั้งแต่การเลือกเมล็ดพันธุ์ให้เหมาะสมกับจุดประสงค์ในการปลูก เช่น กรณีการปลูกกัญชงเพื่อต้องการสาร CBD ก็ต้องเลือกเมล็ดพันธุ์ที่ช่อดอกมีสาร CBD สูง ซึ่งบริษัทได้ทำการซื้อเมล็ดพันธุ์จากบริษัทที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ แม้ว่าการปลูกกัญชงเฟสแรกยังเป็นการทดลองประสิทธิภาพของแต่ละสายพันธุ์ แต่ทางบริษัทก็พยายามประเมินความเสี่ยงที่จะไม่ให้เกษตรกรต้องขาดทุน

“แม้ว่าในช่วงแรกอาจจะดำเนินการติดขัดบ้าง เพราะเป็นโปรเจกต์นำร่องครั้งแรกของประเทศ แต่บริษัทมีความคุ้นเคยกับการปลูกพืชผักมาก่อน รวมไปถึงมีบริษัทย่อยด้านการเกษตรอยู่ที่เชียงใหม่ ทำให้มีความพร้อมเรื่องเครือข่ายเกษตรกร อีกทั้งได้รับการอำนวยความสะดวกที่ดีจากเจ้าหน้าที่ภาครัฐเชื่อมั่นว่าจะสามารถผ่านสถานการณ์นี้ไปได้” นายสุรนาถ กล่าว

ฐานทุนพร้อมรองรับบิ๊กโปรเจ็คต์กัญชงในอนาคต

นายสุรนาถ กล่าวถึงงบลงทุนในครั้งนี้ว่า บริษัทมีกระแสเงินสดเพียงพอกับการขยายการผลิตผลิตภัณฑ์กัญชง เนื่องจากก่อนหน้านี้ได้ขายกิจการโรงแรมออกไป ซึ่งนอกจากจะช่วยเพิ่มกระแสเงินสดเข้ามาแล้ว ยังลดผลกระทบต่องบการเงินที่ต้องบันทึกค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออกไปด้วย

เบื้องต้นบริษัทได้ลงทุนขยายการผลิตเฟสแรกเรียบร้อยหมดแล้ว ส่วนเฟสต่อไปในอนาคตขึ้นอยู่กับความต้องการของตลาดว่าจะต้องขยายเครื่องจักรเพิ่มเติมหรือไม่ และกรณีตลาดมีความต้องการเติบโตรวดเร็วการขยายกำลังการผลิตเพิ่มเติมก็อาจใช้งบลงทุนไม่มาก หรือเพียง 8 หลักเท่านั้น ขึ้นกับขนาดและกำลังการผลิตของเครื่องจักร

“เฟสถัดไปเราจะเน้นเรื่องของการปลูกเป็นหลัก เพราะต้องใช้งบสำหรับการประกันปลูกของเกษตรกรด้วย โดยเกษตรกรในแต่ละพื้นที่ก็ต้องการการสนับสนุนที่แตกต่างกัน ต้องให้ความช่วยเหลือให้ตรงจุด”นายสุรนาถ กล่าว

คาดรับรู้รายได้ทันไตรมาส 4 ปีนี้

นายสุรนารถ กล่าวว่า ขณะนี้ RBF ได้รับการติตด่อจากลูกค้าที่ให้ความสนใจเข้ามาเป็นจำนวนมากเพื่อให้บริษัทผลิตสินค้าจากสารสกัดพืชกัญชง โดยเฉพาะ CBD ที่บริษัทให้ความสำคัญกับคุณภาพมาตรฐานอย่างสม่ำเสมอ สำหรับการออกผลิตภัณฑ์นั้นขึ้นอยู่กับความต้องการของลูกค้า แต่คาดว่าจะเริ่มเห็นการผลิตผลิตภัณฑ์ส่งมอบให้กับลูกค้าได้ภายในไตรมาส 4/64 ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์สารสกัด CBD จากดอกกัญชง จากนั้นจะเห็นความชัดเจนของการออกผลิตภัณฑ์มากขึ้นในปี 65

“ตลาดต่างประเทศการใช้สารสกัด CBD นำไปใช้ในหลายอุตสาหกรรม ไม่ใช่แค่เพียงอาหารและเครื่องดื่ม แต่ต่อยอดไปยังเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาหารเสริม เครื่องสำอาง ไปจนถึงอาหารสัตว์ เพื่อให้ความผ่อนคลายแก่สัตว์เลี้ยง คาดว่าในอนาคตจะมีเทรนด์อีกหลายอย่างออกมาเรื่อย ๆ ขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพของสินค้าและราคาที่เหมาะสม ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดว่าเทรนด์การใช้สารสกัด CBD จะอยู่ในตลาดได้นานแค่ไหน”

นายสุรนาถ กล่าว

ปักธงยกระดับสาร CBD เมืองไทยต้องแข่งขันในตลาดโลก

นายสุรนาถ กล่าวว่า นอกเหนือจากแผนขยายธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับกัญชงในไทยแล้วหลังจากบริษัทได้รับใบอนุญาตจากสำนักงาน อย. ครอบคลุมผลิตภัณฑ์กัญชงทุกด้านที่ตลาดต้องการแล้ว แผนต่อไปขั้นคือการทำให้ราคา CBD ของไทยสามารถแข่งขันในระดับโลกได้ในระยะเวลา 3-5 ปีข้างหน้า กลยุทธ์สำคัญ คือจำเป็นต้องลดต้นทุน (Cost Down) ลงมาก่อนที่ประเทศไทยจะเปิดทางให้นำเข้าสาร CBD จากต่างประเทศ

“เราวางแผนว่าช่วงประมาณปีที่ 3 ต้องลดต้นทุนลงมาให้ได้ตามเป้า เพื่อให้ราคาสาร CBD ของไทยสามารถสู้กับของต่างประเทศได้ แม้ว่าวันนี้จะประเมินผลผลิตที่ได้ออกมาค่อนข้างต่ำ แต่หากปลูกได้ผลผลิตสูงขึ้นก็จะสามารถลดต้นทุนได้ ควบคู่กับการลดค่าใช้จ่ายเรื่องต้นทุนการปลูกหรือเทคนิคต่างๆที่ใช้ระหว่างการปลูก เป็นต้น ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรจึงคิดว่าจะสามารถลดต้นทุนลงมาได้ตามเป้าหมายภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้”

นายสุรนาถ กล่าว

ส่วนกรณีสำนักงาน อย. จะประกาศมอบใบอนุญาตให้กับผู้ประกอบการรายอื่นเพิ่มเติมนั้น ยอมรับว่าการแข่งขันด้านราคาเป็นเรื่องปกติ เพราะหลายบริษัทก็มีศักยภาพมากพอที่จะได้รับใบอนุญาต ถ้าเกิดการแข่งขันในตลาดที่เสรีก็จะทำให้ราคา CBD ในประเทศถูกลงและสามารถแข่งขันกับตลาดต่างประเทศได้ ทำให้เกิดประโยชน์กับทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นธุรกิจต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ และผู้บริโภค

จับตา “กัญชง” เร่งอัพไซด์ชัดปี 65 เชื่อมั่นผลงานปีนี้โตเข้าเป้า

สำหรับภาพรวมผลประกอบการของ RBF ในปีนี้ นายสุรนารถ กล่าวว่า ธุรกิจหลัก คือ Food ingredient ตั้งเป้าเติบโตเป็นตัวเลข 2 หลักต่อเนื่องในทุกๆ ปี ซึ่งปีนี้ยังคงเป้ารายได้เติบโต 10-12% แม้ว่าจะมีผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่อย่างต่อเนื่อง แต่บริษัทเชื่อมั่นว่าจะสามารถเติบโตได้ตามคาด

ขณะที่ธุรกิจกัญชงนับเป็นอัพไซด์ใหม่ให้กับผลประกอบการบริษัทที่จะเห็นการเติบโตชัดเจนมากขึ้นในปี 65 อย่างไรก็ตาม อัพไซต์ขึ้นอยู่กับหลายตัวแปร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของตลาด ราคา สถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 และกำลังซื้อของผู้บริโภค ตามแผนระยะสั้นจะมุ่งเน้นตลาดภายในประเทศเป็นหลักก่อน แต่ในอนาคตก็มองหาช่องทางตลาดต่างประเทศเพิ่มเติมเพื่อสร้างการเติบโตระยะยาว

“คาดว่าศักยภาพทำกำไรของปี 64 จะใกล้เคียงเดิม แต่สิ่งที่ดีขึ้นคือการตัดขายธุรกิจโรงแรมทำให้ภาพรวมผลประกอบการครึ่งปีหลังจะดีขึ้น แต่ช่วงปลายปีนี้หากมีรายได้จากโปรเจกต์กัญชงเข้ามาชัดเจนภาพตรงนี้ก็จะเปลี่ยนไปในทิศทางที่เป็นบวกมากขึ้น”

นายสุรนาถ กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (05 ส.ค. 64)

Tags: , ,
Back to Top