KBANK-Lombard ชี้ช่องลงทุนในตราสารหนี้เอเชียมองผลตอบแทนยังเป็นบวก

KBank Private Banking ร่วมกับ Lombard Odier พันธมิตรทางธุรกิจ ไพรเวทแบงก์จากสวิตเซอร์แลนด์ อัพเดทสถานการณ์และโอกาสลงทุนในกองทุนเปิด เค เอเชีย แปซิฟิก บอนด์ (K-APB) โดยนายดีราช บาจาช Head of Asia Credit, Lombard Odier ให้ความเห็นว่า เศรษฐกิจจีนฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้อย่างรวดเร็ว ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาดำเนินตามปกติและนำหน้าประเทศหลักอื่นๆ ส่งผลให้อัตราการผิดนัดชำระหนี้ (Default rate) ในภาคเอกชนโดยรวมลดลง

อย่างไรก็ตาม การดำเนินการตามแผนพัฒนาประเทศระยะยาวทำให้รัฐบาลจีนทยอยยกเลิกการอุ้มกิจการที่ไม่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งออกนโยบายที่เข้มงวดมากขึ้นในบางภาคธุรกิจ เช่น อสังหาริมทรัพย์ เพื่อควบคุมความร้อนแรงที่สะสมในช่วง 20 ปี ที่ผ่านมา ทำให้อัตราการผิดนัดชำระหนี้ในภาครัฐวิสาหกิจและภาคธุรกิจที่ตกเป็นเป้าหมายเพิ่มขึ้น

Lombard Odier มองว่าตราสารหนี้เอกชนให้ผลตอบแทนคุ้มค่ากว่าพันธบัตรรัฐบาล และ Spread (อัตราผลตอบแทนส่วนเพิ่มจากพันธบัตรรัฐบาล) ของตราสารหนี้เอกชนระดับ Investment Grade ในเอเชีย (Asia IG Credit) นับว่าสูงกว่า Spread ของตราสารหนี้เอกชนในระดับเดียวกันทั่วโลก (Global IG Credit) นอกจากนี้ การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ในเอเชีย ทำให้ Spread ของตราสารหนี้ผลตอบแทนสูงในเอเชีย (Asia High Yield) เพิ่มขึ้น (ราคาลดลง) สวนทางกับ Spread ของตราสารหนี้ผลตอบแทนสูงในสหรัฐฯ (US High Yield) ที่ลดลง (ราคาเพิ่มขึ้น) จึงยิ่งเพิ่มโอกาสการลงทุนให้ตราสารหนี้เอกชนของเอเชีย

ในประเด็นความเสี่ยง ปริมาณตราสารหนี้ใหม่ที่จะเข้าสู่ตลาดไม่น่าสร้างผลกระทบมากนัก เนื่องจากบริษัทเอกชนหลายแห่งได้ออกตราสารหนี้เพื่อล็อคดอกเบี้ยกู้ยืมระยะยาวไปล่วงหน้าแล้ว ขณะที่ ความกังวลเรื่องบอนด์ยีลด์ระยะยาวที่อาจจะปรับสูงขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรงจากการพุ่งขึ้นของเงินเฟ้อได้ผ่อนคลายลง ดังจะเห็นได้จากบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ อายุ 10 ปี ที่ขยับลงจาก 1.78% ในช่วงเดือนเมษายน 2564 เหลือเพียง 1.22% ณ สิ้นเดือนกรกฏาคม 2564 ที่ผ่านมา

ด้านนางสาวศิริพร สุวรรณการ Private Banking Financial Advisory Head, Private Banking Group ธนาคารกสิกรไทย ให้คำแนะนำว่า นักลงทุนควรทยอยสะสมเงินลงทุนในสินทรัพย์ให้หลากหลายประเภท ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อให้พอร์ตการลงทุนเป็นแหล่งสร้างรายได้สม่ำเสมอและเงินลงทุนมีการเติบโตในระยะยาว สำหรับส่วนของตราสารหนี้ นักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ปานกลางสามารถเลือกลงทุนในกองทุน K-APB เป็นสัดส่วน 3-5% ของพอร์ต เนื่องจากผลตอบแทนของตราสารหนี้ในฝั่งจีนและเอเชียดีกว่ากลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว

โดยกองทุนนี้ให้ความสำคัญกับการคัดสรรตราสารหนี้คุณภาพดีจากบริษัทเอกชนที่มีปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่งและกำไรสุทธิขยายตัว รวมทั้งมีการกระจายเงินลงทุนในตราสารหนี้มากกว่า 300 รายการ จึงช่วยสนับสนุนพอร์ตโดยรวมทั้งในด้านการสร้างรายได้และพยุงมูลค่าเงินลงทุนในยามตลาดหุ้นผันผวน ขณะเดียวกัน นักลงทุนควรลดน้ำหนักการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล เพราะอัตราผลตอบแทนปัจจุบันต่ำมาก ทำให้รายได้น้อย และที่สำคัญรายได้นั้นไม่เพียงพอจะชดเชยกับแนวโน้มราคาที่อาจจะลดลงจากผลกระทบของบอนด์ยีลด์ขาขึ้นในอนาคตอันใกล้ได้

กองทุน K-APB เป็นกองทุนเปิดที่เน้นลงทุนในหน่วยลงทุน LO Funds – Asia Value Bond Fund, (USD) โดยจะลงทุนในตราสารหนี้ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (รวมญี่ปุ่น) ที่อยู่ในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งอาจลงทุนในตราสารหนี้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือต่ำกว่าที่สามารถลงทุนได้ (Non – Investment Grade) และตราสารหนี้ที่ไม่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (Unrated Securities) ได้

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (06 ส.ค. 64)

Tags: , , , , , , ,
Back to Top