สธ.สำรวจวัดสร้างความเข้าใจการเผาศพโควิด ชุมชนใกล้เคียงไม่ต้องกังวลเชื้อแพร่กระจาย

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้มอบหมายให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ร่วมกับกรมอนามัย ขอข้อมูลจากสำนักพุทธศาสนา เพื่อดำเนินการตรวจสอบวัดในพื้นที่กทม. และปริมณฑล โดยจากการการลงพื้นที่สำรวจเตาเผาศพผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 จากกลุ่มเป้าหมายจำนวน 189 วัด ทำการสำรวจแล้วรวม 31 วัด แบ่งเป็น จังหวัดกรุงเทพฯ ทั้งหมดจำนวน 92 วัด สำรวจแล้ว 9 วัด, ปทุมธานี ทั้งหมดจำนวน 55 วัด สำรวจแล้ว 3 วัด และนนทบุรี ทั้งหมดจำนวน 42 วัด สำรวจแล้ว 19 วัด

โดยการลงพื้นที่สำรวจเตาเผาศพผู้เสียชีวิตโควิด-19 ได้ทำการสำรวจด้านต่างๆ ดังนี้ จำนวนเตาเผา, จำนวนหัวเผา, สภาพโครงสร้าง และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง, เชื้อเพลิง, ค่าใช้จ่าย, ข้อมูลการติดต่อ, ศักยภาพการเผาต่อวันในสภาพปกติ และกรณีฉุกเฉิน, บุคลากรและเจ้าหน้าที่ รวมถึงการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นต่างๆ โดยศักยภาพสูงสุดของเตาเผาศพ 1 เตา สามารถเผาได้ 4 ศพ/วัน

นอกจากนี้ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ได้จัดทำระบบ GIS แสดงข้อมูลวัดที่ให้บริการเผาศพผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 เนื่องจากพบปัญหาวัดบางแห่งรับบริการเผาศพมากเกินจำนวน จึงอยากให้ทางโรงพยาบาล และญาติผู้เสียชีวิตสามารถค้นหาข้อมูล เพื่อกระจายการดำเนินการเผาศพไปยังวัดอื่น ๆ ต่อไป

อย่างไรก็ตาม ได้มีการตรวจสอบความปลอดภัยในบริเวณชุมชนโดยรอบวัดที่ให้บริการเผาศพผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 แล้ว หากเตาเผาศพมีปัญหาใด ๆ จากข้อมูลของกรมฯ พบว่ามีบริษัทผลิตและจำหน่ายเตาเผาศพ 7 บริษัท ที่ยังมีสต็อกเพียงพอ และสามารถให้บริการติดตั้งได้ภายใน 1-2 สัปดาห์

ด้าน นพ.ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า การบริหารจัดการฌาปนกิจผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 แบ่งออกเป็น 2 กรณี คือ 1. กรณีที่เสียชีวิตที่โรงพยาบาล ซึ่งโรงพยาบาลจะมีระบบการจัดการทั้งทีมจัดการศพ ประวัติการรักษา ดังนั้น จึงสามารถออกหนังสือรับรองการเสียชีวิต (ท.ร.4/1) ได้เลย 2.กรณีเสียชีวิตนอกโรงพยาบาล ทางญาติ หรือผู้เกี่ยวข้องจะต้องทำการแจ้งต่อมูลนิธิ องค์กร หรือติดต่อ 1669 เพื่อให้เจ้าหน้าที่มาดำเนินการจัดการบรรจุศพให้เป็นไปตามมาตรฐาน

หลังจากนั้นจะต้องติดต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือสถานพยาบาลใกล้เคียงเพื่อทำการชันสูตรศพ เก็บหลักฐาน บันทึกข้อมูล เมื่อดำเนินการดังกล่าวแล้ว จึงจะสามารถขอรับหนังสือรับรองการเสียชีวิต (ท.ร.4/1) จากเจ้าหน้าที่สธ. หรือผู้ใหญ่บ้านได้ หลังจากนั้น จะต้องดำเนินการแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ทะเบียนให้ออกใบมรณะบัตรภายใน 24 ชั่วโมง

สำหรับมาตรฐานของเตาเผาศพ จากการสำรวจในพื้นที่กทม. และปริมณฑล พบว่าส่วนมากเป็นแบบเตา 2 หัว ซึ่งถือว่าเป็นแบบที่ได้มาตรฐาน โดยเตาจะต้องมีอุณหภูมิไม่ต่ำกว่า 750 องศาเซลเซียส และห้องเผาควันเตาที่ 2 จะต้องมีอุณหภูมิ 1,000 องศาเซลเซียสขึ้นไป เพื่อให้สามารถกำจัดสารที่อาจก่อให้เกิดมลภาวะในอากาศได้

ทั้งนี้ กระบวนการเผาศพให้หลีกเลี่ยงการนำของใช้ของผู้เสียชีวิตเข้าไปในเตา เนื่องจากจะส่งผลให้อุณหภูมิไม่คงที่ และอาจเกิดสารตกค้างในเตาเผาได้ นอกจากนี้ ให้หลีกเลี่ยงการเปิดเตาเพื่อพลิกศพระหว่างการเผา เนื่องจากจะทำให้อุณหภูมิลดลง และอาจเกิดการฟุ้งกระจายได้

ส่วนพนักงานเผาศพ และพนักงานจัดการศพ จะมีการป้องกันโดยการสวมชุด PPE ทุกครั้ง โดยกระบวนการจัดการศพจะมีการบรรจุศพด้วยถุงซีลที่ปิดมิดชิด ซึ่งโอกาสในการรั่วซึมมีน้อยมาก และเมื่อทำการเผาศพแล้วเชื้อโรคทุกชนิดจะตายหมด ดังนั้นสำหรับประชาชนที่ไปร่วมงานศพ หรือประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง ไม่ต้องเป็นห่วงว่าเชื้อจะแพร่กระจาย รวมทั้งเศษอัฐิเองก็ไม่มีเชื้อโรคเช่นกัน

ในส่วนของการฝังศพตามพิธีทางศาสนา ญาติหรือผู้ที่ไม่มีความเกี่ยวข้อง ห้ามจัดการศพด้วยตนเอง เพราะสารคัดหลั่ง และของเหลวจากผู้เสียชีวิตอาจสามารถแพร่กระจายเชื้อได้ อย่างไรก็ตาม หลังจากการฝังศพเชื้อโรคจะตายไปเองในระยะเวลา 4-5 วัน เนื่องจากเชื้อโรคจะอาศัยอยู่กับผู้ที่ยังมีชีวิตเท่านั้น

นพ.ธเรศ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ สธ. อยู่ระหว่างการพูดคุยกับสถานพยาบาลเอกชนให้มาช่วยทำโครงการ Hotel Isolation (HI) ทั้งคลินิกชุมชนอบอุ่น คลินิกเสริมความงาม และคลินิก Telemedicine เพื่อให้ผู้ป่วยโควิด-19 สามารถเข้าสู่ระบบการทำ HI ได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้มีโรงแรมหลายแห่งให้ความสนใจในการทำ HI ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการปรึกษาหารือถึงรายละเอียดโครงการ

ทั้งนี้ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ได้จัดตั้งคณะทำงานบริหารจัดการก๊าซทางการแพทย์ร่วมกับผู้ผลิต ข่นส่งโลจิสติกส์ และผู้ใช้บริการ โดยคณะทำงานชุดนี้มีหน้าที่แก้ปัญหาที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับออกซิเจนต่างๆ ทั้งปัญหารถขนส่งไม่สามารถขึ้นทางด่วนได้ จึงมีการติดต่อกับการทางพิเศษแห่งประเทศไทย เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวให้สะดวกขึ้น, ปัญหาการจำกัดระยะเวลาการเดินทางไปส่งออกซิเจนในพื้นที่กทม.ส่วนใน ซึ่งได้มีการประสานงานกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการดำเนินการแก้ไขปรับแก้กฏระเบียบ เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวแล้ว

นอกจากนี้ได้ทำการประสานกับองค์การอาหารและยา (อย.) เพื่อให้อย. กำหนดให้ถังออกซิเจนต่างๆ เป็นเครื่องมือทางการแพทย์ที่ต้องเร่งรัดในการอนุญาต อย่างไรก็ดีขณะนี้ออกซิเจนยังมีปริมาณที่เพียงพอสำหรับรองรับผู้ป่วยอยู่ พร้อมกันนี้ได้เตรียมการณ์สำหรับสถานการณ์ที่อาจเกิดการขาดแคลนก๊าซ โดยการเตรียมระบบสำรองให้โรงงานผลิตก๊าซอุตสาหกรรม สามารถปรับเปลี่ยนมาผลิตก๊าซออกซิเจนที่ใช้ทางการแพทย์ได้

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า สำหรับผู้ป่วยที่ต้องทำ Home Isolation (HI) และไม่สามารถติดต่อเจ้าหน้าที่ให้บริการได้ ขณะนี้อยู่ระหว่างการแก้ปัญหาดังกล่าว โดยจัดการสายด่วน 1330 ให้สามารถรับผู้ป่วยทุกรายภายใน 48 ชั่วโมง นอกจากนี้ยังเพิ่มเบอร์โทรของแต่ละเขตในพื้นที่กทม. เพื่อให้ประชาชนสามารถติดต่อได้หลายช่องทางมากขึ้น

สำหรับการลดระยะเวลาการรักษาในโรงพยาบาลให้สามารถกลับบ้านเหลือ 10 วัน จากเดิม 14 วันนั้น เพื่อให้โรงพยาบาลสามารถรองรับผู้ป่วยรายใหม่ได้ ส่วนผู้ป่วยที่กลับบ้านไปต้องทำ HI เพื่อดูอาการต่อไป

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (06 ส.ค. 64)

Tags: , , , , , ,
Back to Top