ส.อ.ท.ยกระดับรพ.สนามในจ.สมุทรสาคร รองรับผู้ป่วยสีเหลืองอาการหนัก 200 เตียง

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ส.อ.ท.ได้ยกระดับโรงพยาบาลสนามสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ ศูนย์ห่วงใยคนสาครแห่งที่ 10 บริเวณเชิงสะพานข้ามแม่น้ำท่าจีน อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร เป็นสถานที่รองรับการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 สีเหลืองเข้ม หลังจากเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการเมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา โดยใช้ระยะเวลาก่อสร้างเพียง 28 วัน

โดยปรับรูปแบบจากโรงพยาบาลสนามเดิมให้ใกล้เคียงกับห้อง ICU มากที่สุด สามารถรองรับผู้ป่วยสีเหลืองเข้มได้ 10 เตียง และสีเหลืองได้ 190 เตียง ซึ่งจะช่วยเหลือสถานประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมที่ไม่มีความพร้อม โดยมีบุคลากรทางการแพทย์จากจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ประกอบด้วย แพทย์ 1 คน เภสัชกร 1 คน พยาบาล 12 คน และทีมพยาบาลจากจังหวัดกาญจนบุรี 3 คน รวมทั้งทีมหลักที่เป็นบุคลากรทางการแพทย์จากโรงพยาบาลจังหวัดสมุทรสาครมาร่วมปฏิบัติงานด้วย

สำหรับการจัดทำมาตรการ Bubble and seal ในสถานประกอบการที่มีพนักงานตั้งแต่ 200 คนขึ้นไป เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 โดยไม่ต้องปิดโรงงาน พร้อมสนับสนุนการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามในรูปแบบ Community Isolation ในโรงงาน ที่รับรองโดยสาธารณสุขจังหวัดและดูแลโดยโรงพยาบาลในสังกัดประกันสังคม เช่น ในนิคมอุตสาหกรรมสินสาครในจังหวัดสมุทรสาครที่จัดตั้งโรงพยาบาลสนาม (Factory Accommodation Isolation: FAI) ด้วยความร่วมมือจากสถานประกอบการภายในนิคมฯ มีจำนวนเตียงเพียงพอต่อการรองรับผู้ติดเชื้อไม่น้อยกว่า 10% ซึ่งการทำ Factory Quarantine ในจังหวัดสมุทรสาคร แบ่งเป็น 2 กรณี คือ หากพบผู้ติดเชื้อในโรงงานน้อยกว่า 10% ให้ดำเนินการจัดทำ FAI แต่หากเกินกว่า 10%

โดยสถานประกอบการที่ต้องการทำ Bubble & Seal พร้อม FAI โดยมี 6 ขั้นตอน ดังนี้

  1. จัดเตรียมสถานประกอบการให้พร้อมสำหรับการทำ FAI
  2. ส่งข้อมูลการจัดทำ FAI ไปยังสำนักงานแรงงานจังหวัดสมุทรสาคร
  3. ส่งภาพการจัดทำ FAI ที่เรียบร้อยแล้วให้สำนักงานสาธาณสุขจังหวัดสมุทรสาคร
  4. สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาครนัดหมายสถานประกอบการประเมินผ่านระบบ Video Conference โดยให้นำตรวจสถานที่แบบ Real Time ผ่านระบบ Video Conference
  5. เมื่อผ่านการประเมิน สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาครจะจัดทำใบรับรองส่งให้
  6. ดำเนินงานตามมาตรการ Bubble & Sealed กรณีที่โรงงานสุ่มตรวจและพบผู้ติดเชื้อมากกว่า 10% ของจำนวนพนักงาน โดยการจัดการระบบดูแล ลดการกระจายเชื้อสู่ภายนอกจำนวน 28 วัน

“ขณะนี้การใช้มาตรการคัดกรองอุณหภูมิพนักงานก่อนเข้าสถานประกอบการเพียงอย่างดียวไม่เพียงพอ ต้องเติมการตรวจด้วย Antigen Test Kit ซี่งมีการจัดหาเข้ามาแล้วราว 1 แสนชุด ซึ่งจำเป็นต้องเร่งเรื่องการฉีดวัคซีน” นายสุพันธุ์ กล่าว

โดยการสำรวจความต้องการวัคซีนจากสถานประกอบการในช่วงวันที่ 2-6 ส.ค.ที่ผ่านมา มีภาคเอกชนแจ้งความต้องการ 988 บริษัท จำนวน 394,849 ราย เป็นสถานประกอบการที่มีพนักงานน้อยกว่า 100 ราย 481 บริษัท และสถานประกอบการที่มีพนักงานมากกว่า 100 ราย 507 บริษัท ซึ่งขณะนี้กำลังประสานเรื่องการขอจัดสรรวัคซีนทางเลือก

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 ส.ค. 64)

Tags: , , , , ,
Back to Top