นักวิชาการ-เอกชน มองโควิดยังยืดเยื้อ แนะธุรกิจต้องปรับตัวให้แข่งขันได้

นางพรอนงค์ บุษราตระกูล หัวหน้าภาควิชาการธนาคารและการเงิน คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในงานสัมมนา หัวข้อ “ทางรอดเศรษฐกิจไทยจากโควิด-19” ว่า หากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยืดเยื้อออกไปเกินไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ และยังคงมีการขยายเวลาประกาศล็อกดาวน์ออกไปอย่างไม่มีกำหนด เชื่อว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในปีนี้จะต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ถึงแม้การส่งออกในช่วงครึ่งปีแรกจะขยายตัวได้กว่า 10% ก็ตาม เนื่องจากผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบกว่า 90% เป็นเอสเอ็มอี พื้นที่สีแดงเข้มที่ถูกล็อกดาวน์มีสัดส่วนการสร้างรายได้ 70% ของจีดีพี

วิกฤตโควิด-19 ที่เกิดขึ้นส่งผลให้ปัจจัยในการแข่งขันทางธุรกิจเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เช่น การตอบสนองที่รวดเร็ว การเข้าถึงที่ครอบคลุม การให้ประสบการณ์ที่ดี การให้ความเชื่อมั่นและความปลอดภัย เชื่อถือได้

แนวทางการแก้ปัญหาระยะสั้น ต้องเพิ่มสินเชื่อในระบบเพื่อเสริมสภาพคล่อง เพื่อช่วยต่อลมหายใจให้ทั้งภาคธุรกิจและประชาชน โดยรัฐอาจต้องปรับกรอบเพดานหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันอยู่ที่ 60% ของจีดีพี แต่ไม่เปราะบางเหมือนในอดีต เนื่องจากมีสัดส่วนหนี้ต่างประเทศและเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ

ส่วนระยะต่อไปต้องส่งเสริมการใช้กลไกในตลาดทุนเพิ่มศักยภาพการระดมทุนหุ้น-หุ้นกู้ สภาพคล่องของภาคธุรกิจ ลดการพึ่งพิงการสนับสนุนจากภาครัฐและสถาบันการเงิน และระยะยาว มุ่งสู่ความยั่งยืนโดยการปรับเปลี่ยนสมรรถนะของคน ธุรกิจและประเทศให้สามารถแข่งขันได้

“ทางรอดต้องเริ่มจากตัวเอง แล้วขยับไปที่คนใกล้ชิดในครอบครัว ชุมชน และประเทศ” นางพรอนงค์ กล่าว

ด้านนายสมเกียรติ ศิลวัฒนาวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.สโตนเฮ้นจ์ (STI) กล่าวว่า ภาคธุรกิจต้องเริ่มที่ตัวเองด้วยการสร้างวินัยตามหลักสุขอนามัยอย่างเคร่งครัด ดูแลคนใกล้ตัวให้ดี สร้างห่วงโซ่ให้ชุมชนอยู่รอด แต่ที่ผ่านมาพอสถานการณ์คลี่คลายก็ปล่อยปละละเลยจนทำให้เกิดการติดเชื้อเป็นคลัสเตอร์

น.ต.พญ.นลินี ไพบูลย์ ประธานกรรมการบริหารบริษัทในเครือกิฟฟารีน กล่าวถึงทางรอดเศรษฐกิจไทยจากวิกฤตโควิด-19 ว่า ตนเองคิดว่าเรื่องกำลังใจมีความสำคัญ หากไม่มีกำลังใจแล้วจะไปสร้างกำลังใจให้คนอื่นไม่ได้ และพร้อมปรับเปลี่ยนให้อยู่รอด ไม่รอความช่วยเหลืออยู่เฉยๆ

“โควิดจะอยู่กับเราไปอีกนาน และกลายพันธุ์ตลอดเวลา ดังนั้นต้องปรับตัว ปรับวิธีคิด ต้องแข็งแรงทั้งร่างการและจิตใจ วิธีคิดสำคัญที่สุด อย่าสิ้นหวัง เพราะโควิดยังต้องมีระลอก 3 ระลอก 4 แน่นอน ถ้าก้าวข้ามสิ่งที่น่ากลัวที่สุดไปได้ก็จะอยู่รอด” น.ต.พญ.นลินี กล่าว

ประธานกรรมการบริหารบริษัทในเครือกิฟฟารีน กล่าวว่า ตนเองเคยผ่านประสบการณ์น้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 54 โรงงานที่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรมนวนครจมน้ำลึกกว่า 2 เมตร แต่สามารถกู้กลับคืนมาได้เป็นรายแรก โดยให้กำลังใจกับพนักงานและเครือข่ายทุกคนว่าบริษัทจะผ่านพ้นวิกฤตดังกล่าวมาได้

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (10 ส.ค. 64)

Tags: , , ,
Back to Top