ออสท์แลนด์ ยันชุดตรวจ ATK Lepu ผ่านมาตรฐานสากล

แจงราคาขายรวมต้นทุนนำเข้า-ขนส่งแล้ว

นางรังสินี หวังมั่น ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย Executive specialist and Director of R&D บริษัท ออสท์แลนด์ แคปปิตอล จำกัด ในฐานะบริษัทผู้ชนะการประมูลและได้รับอนุญาตให้เป็นผู้นำเข้าชุดผลิตภัณฑ์ทดสอบโควิด-19 แบบตรวจหาแอนติเจนด้วยตนเอง (COVID-19 Antigen self-test Test Kits : ATK) ภายใต้ชื่อ “SARS-CoV-2 Antigen Rapid Test” ซึ่งผลิตโดย Beijing Lepu Medical Technology Co., Ltd. จากสาธารณรัฐประชาชนจีน กล่าวชี้แจงข้อสงสัยต่อชุดผลิตภัณฑ์ ทดสอบโควิด-19 ATK ว่า ผลการทดสอบของชุดตรวจ ATK ของ Lepu ผ่านมาตรฐานตามสากลจากหลายแห่ง ได้แก่

1. สถาบัน BIOMEX GmbH Heidelberg ณ ประเทศเยอรมัน ได้มีผลการศึกษาและทดสอบเพื่อตรวจสอบผลิตภัณฑ์ ATK “SARS-CoV-2 Antigen Rapid Test” หลังจากออกสู่ตลาดโดยการใช้งานของบุคคลทั่วไปและบุคคลากรทางการแพทย์ ในเดือนเม.ย. 64 ซึ่งมีผลการศึกษาและทดสอบตามลำดับ ดังนี้ ในเดือนเม.ย. 64 พบว่ามีความไวเชิงวินิจฉัย (Sensitivity) อยู่ที่ 91.30% และความจำเพาะเชิงวินิจฉัย (Specificity) อยู่ที่ 100% ส่วนในเดือนมิ.ย. 64 พบว่าความไวเชิงวินิจฉัย (Sensitivity) อยู่ที่ 95.5% และความจำเพาะเชิงวินิจฉัย (Specificity) อยู่ที่ 100%

2. คณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) ได้มีผลการศึกษา และทดสอบเมื่อเดือนก.พ. 64 พบว่ามีความไวเชิงวินิจฉัย (Sensitivity) อยู่ที่ 92% และความจำเพาะเชิงวินิจฉัย (Specificity) อยู่ที่ 99.3%

3. คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล จากผลการศึกษาพบว่ามีความไวในการวินิจฉัย (Sensitivity) อยู่ที่ 90% ความจำเพาะเชิงวินิจฉัย (Specificity) อยู่ที่ 100% ส่วนความไม่จำเพาะ (Non-Specificity) อยู่ที่ 0%

ทั้งนี้ผลการทดสอบดังกล่าวผ่านตามเกณฑ์ทางกฎหมาย และเกณฑ์ที่องค์การอนามัยโลกกำหนด (WHO) ที่กำหนดความไวเชิงวินิจฉัย (Sensitivity) ว่าต้องเกิน 80% รวมถึงสอดคล้องกับประกาศจาก อย.ไทยเรื่องชุดตรวจโควิดแบบตรวจหาแอนติเจนด้วยตนเอง ที่ได้กำหนดว่าต้องมีคุณภาพมาตรฐานโดยผ่านเกณฑ์ประเมิน คือ ความไวในการวินิจฉัย (Sensitivity) ต้องมากกว่าหรือเท่ากับ 90% ด้านความจำเพาะเชิงวินิจฉัย (Specificity) มากกว่าหรือเท่ากับ 98% และความไม่จำเพาะ (Non-Specificity) ต้องน้อยกว่าหรือเท่ากับ 10%

อย่างไรก็ดีการที่ชุดตรวจ ATK ของ Lepu ไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับทางองค์การอนามัยโลกของสหรัฐฯ เนื่องจากทางบริษัท Lepu ไม่ได้จะทำการตลาดที่ประเทศสหรัฐฯ แต่อย่างใด แต่เนื่องจากสหรัฐฯ ได้มีการนำเข้าชุดตรวจ ATK ของ Lepu อย่างผิดกฎหมาย เพราะเป็นสินค้าที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน จึงทำให้ต้องมีการเรียกคืนสินค้าเพื่อความปลอดภัยของประชาชน อย่างไรก็ตามหลังจากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นทางสหรัฐฯ ได้ส่งหนังสือให้ทาง Lepu ไปดำเนินการขึ้นทะเบียนให้ถูกต้อง แต่เนื่องจากทาง Lepu ไม่ต้องการทำการตลาดจึงไม่มีการดำเนินการในส่วนนี้แต่อย่างใด โดยสินค้าที่เรียกคืนทั้งหมด ได้แก่ ชุดตรวจ Antigen Test Kit (ATK) จำนวน 2 แสนชุด และชุดตรวจ Antibody Test Kit จำนวน 8.4 ล้านชุด ซึ่งชุดตรวจที่เรียกคืนทั้งหมดได้ทำการทำลายเรียบร้อยแล้ว

ส่วนกรณีที่ทางประเทศปากีสถานเรียกคืนชุดตรวจของ Lepu เนื่องจากจากงานวิจัย พบว่ามีความไวเชิงวินิจฉัย (Sensitivity) อยู่ในระดับต่ำ โดยกรณีนี้เป็นการเรียกคืนชุดตรวจ ATK จริง แต่เป็นผลมาจากการใช้ชุดตรวจ ATK แบบไม่ถูกต้อง คือใช้ทดสอบด้วยน้ำลาย แทนการใช้ทดสอบด้วยการแหย่ทางจมูก ส่วนการเรียกคืนชุดตรวจของ Lepu ที่ประเทศฟิลิปปินส์นั้น เป็นการเรียกคืนชุดตรวจ Antibody Test Kit ไม่ใช่ ATK แต่อย่างใด

ด้านนางศิริญา เทพเจริญ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานการตลาด บมจ.ณุศาศิริ (NUSA) และกรรมการบริหารบริษัท เวิลด์ เมดิคอล อัลไลแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งอยู่ในฐานะผู้จัดจำหน่าย กล่าวว่าชุดตรวจ ATK ของ Lepu ผ่านการรับรองจากหลายแห่ง และวางขายหลายที่ทั่วโลก โดยสามารถตรวจสอบประสิทธิภาพ ราคา และความโปร่งใสในการประมูลครั้งนี้ได้ทุกขั้นตอน

โดยทางเวิลด์ เมดิคอล อัลไลแอนซ์ มีจุดประสงค์ในการเป็นตัวแทนจำหน่าย คือ ต้องการจำหน่ายชุดตรวจ ATK ที่ได้มาตรฐาน และมีราคาถูก เพื่อให้ประเทศไทยสามารถเดินหน้าต่อไปได้ โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยวที่เป็นรายได้หลักของประเทศ ดังนั้นสำหรับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และภาคส่วนอื่นๆ ที่มีความเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ทางเวิลด์ เมดิคอล อัลไลแอนซ์ ยินดีจำหน่ายชุดตรวจ ATK ในราคาเดียวกับที่จำหน่ายให้กับทางภาครัฐ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงสินค้าได้ เพื่อให้การท่องเที่ยวกลับมาได้เร็วที่สุด

ด้านโครงสร้างราคาของชุดตรวจ ATK ของ Lepu อยู่ที่ 70 บาท/ชุด ซึ่งมีต้นทุนแฝงรวมทั้งค่าภาษี, ค่าขนส่งเครื่องบินแบบเหมาลำเนื่องจากไม่มีไฟล์ทบินในช่วงนี้ โดยเป็นเครื่องบินจากสายการบิน China Air ออกจากท่าอากาศยานนานาชาติกรุงปักกิ่งขนส่งสินค้าถึงประเทศไทย, ค่ากระจายสินค้า ซึ่งมีการเซ็นสัญญากับบริษัทขนส่งอุปกรณ์ทางการแพทย์ วัคซีน เรียบร้อยแล้ว ซึ่งทางบริษัทต้องดำเนินการจัดส่งอีกกว่า 1,000 จุดทั่วประเทศ, ค่าเช่าพื้นที่เพื่อจัดเก็บสินค้าในอุณหภูมิที่เหมาะสม รวมทั้งค่าชุดตรวจ และค่าผลิตบรรจุภัณฑ์ใหม่ให้เป็นภาษาไทย ทั้งนี้ราคาของชุดตรวจแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ เช่นการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาล เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากมีการชะลอการดำเนินการออกไป จึงต้องรอผลการดำเนินงานของทางองค์การเภสัชกรรม (อภ.) และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) อีกครั้ง ว่ากำหนดการส่งมอบจะมีการเลื่อนหรือไม่ แต่คาดว่าประชาชนจะได้ใช้ชุดตรวจ ATK ภายในเดือนส.ค. 64 และหากมีการยกเลิกการประมูลในภายหลังจะมีการพิจารณาอีกครั้งว่าจะทำการสั่งฟ้องหรือไม่

“การชะลอการดำเนินการออกไปหลังจากที่ถูกโจมตีนั้น เสียเวลาแทนที่ประชาชนจะได้ตรวจโควิด-19 เร็วๆ หากมีข้อถกเถียงด้านมาตราฐานของสินค้าสามารถดูได้จากเอกสาร ส่วนด้านราคาเราต้องการราคาที่ถูกที่สุดเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงได้ ซึ่งราคาที่ประมูลก็ไม่ต่างจากรายอื่นๆ มากนัก ชนะไปแค่ 2 บาทเท่านั้น หลังจากนี้อยากให้มีการตรวจสอบรายอื่นๆ ที่ทำการยื่นประมูลด้วยเหมือนกัน” นางศิริญา กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 ส.ค. 64)

Tags: , , , , , ,
Back to Top