ธปท.เผยภาพรวมสินเชื่อ Q2/64 โต 3.7% ระบบแบงก์ยังแข็งแกร่งรองรับผลกระทบโควิดได้

น.ส.สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายและกำกับสถาบันการเงิน 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยผลการดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์ไตรมาส 2/64 ว่า ระบบธนาคารพาณิชย์ยังมีความเข้มแข็ง โดยมีเงินกองทุน เงินสำรองและสภาพคล่องอยู่ในระดับสูง สามารถรองรับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ต่อเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว และทำหน้าที่เป็นกลไกสำคัญในการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ และสนับสนุนความต้องการสินเชื่อได้

ทั้งนี้ มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ และการผ่อนปรนเกณฑ์การจัดชั้น ช่วยชะลอการด้อยลงของคุณภาพสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ ขณะที่ผลประกอบการปรับดีขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปีก่อน โดยหลักจากค่าใช้จ่ายกันสำรองที่ลดลงหลังจากการกันสำรองในระดับสูงในปีก่อน

โดยภาพรวมการเติบโตของสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 2/64 เพิ่มขึ้น 3.7% โดยลดลงเล็กน้อยจาก 3.8% ในไตรมาสก่อนหน้า สำหรับสินเชื่อธุรกิจ SMEs ขยายตัวได้ 0.7% ซึ่งถือว่ากลับมาเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 5 ปี นับตั้งแต่ไตรมาส 1/59 ที่สินเชื่อธุรกิจ SMEs ขยายตัวได้ 0.35%

“สินเชื่อ SME กลับมาบวกเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี นับจากไตรมาส 1/59 ที่ติดลบมาโดยตลอด ซึ่งการกลับมาบวกในไตรมาสนี้ พบว่ามีความครอบคลุมการปล่อยสินเชื่อทั้ง sector อุตสาหกรรม, พาณิชย์ และบริการ” 

น.ส.สุวรรณี ระบุ

สินเชื่ออุปโภคบริโภคขยายตัว 5.7% เทียบกับไตรมาส 2/63 และปรับเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า ที่ขยายตัว 5.3% โดยหลักจากสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่ยังคงขยายตัวได้ดีตามอุปสงค์ต่อที่อยู่อาศัยแนวราบที่ยังปรับเพิ่มขึ้น

ขณะที่สินเชื่อรถยนต์ ขยายตัวชะลอลง สอดคล้องกับยอดขายรถยนต์ในประเทศที่ปรับลดลงจากไตรมาสก่อน ด้านสินเชื่อบัตรเครดิตขยายตัวลดลง จากปริมาณการใช้บัตรเครดิตที่ลดลงจากไตรมาสก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการจำกัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจก่อนการล็อกดาวน์ ขณะที่สินเชื่อส่วนบุคคลขยายตัวเพิ่มขึ้น จากความต้องการสภาพคล่องในภาคครัวเรือน โดยบางส่วนเป็นการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อสวัสดิการ

สำหรับคุณภาพสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ไตรมาส 2/64 ยังคงได้รับผลจากมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้และการผ่อนปรนเกณฑ์การจัดชั้นลูกหนี้ โดยยอดคงค้างสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Non Performing Loan: NPL หรือ stage 3) เพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 5.45 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน NPL ต่อสินเชื่อรวมที่ 3.09% ขณะที่สัดส่วนสินเชื่อที่มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของความเสี่ยงด้านเครดิตต่อสินเชื่อรวม (Significant Increase in Credit Risk: SICR หรือ stage 2) อยู่ที่ 6.34% ลดลงจากไตรมาสก่อนที่ 6.42%

ในส่วนยอดคงค้างสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Non Performing Loan: NPL หรือ stage 3) เพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 5.45 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน NPL ต่อสินเชื่อรวมที่ 3.09% ซึ่งระดับ NPL ยังทรงตัวจากไตรมาสก่อนหน้า เป็นผลจากมาตรการผ่อนปรนและการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ของธนาคารพาณิชย์ แต่ ธปท. ยังพบสัญญาณความเปราะบางของสินเชื่อรายย่อย โดยคาดว่า NPL ในไตรมาส 3 และ 4 ยังมีแนวโน้มที่จะทยอยเพิ่มขึ้นได้

ทั้งนี้ ระบบธนาคารพาณิชย์มีเงินกองทุนทั้งสิ้น 3.03 ล้านล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS ratio) ที่ 20% เงินสำรองอยู่ในระดับสูงที่ 8.51 แสนล้านบาท โดยอัตราส่วนเงินสำรองที่มีต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL coverage ratio) อยู่ที่ 152.2% และอัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องเพื่อรองรับกระแสเงินสดที่อาจไหลออกในภาวะวิกฤต (Liquidity Coverage Ratio: LCR) อยู่ที่ 186.7%

น.ส.สุวรรณี กล่าวว่า ระบบธนาคารพาณิชย์มีกำไรสุทธิในไตรมาส 2/64 จำนวน 6.04 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปีก่อน 72.1% โดยหลักจากค่าใช้จ่ายกันสำรองที่ลดลงจากการกันสำรองในระดับสูงในปีก่อน ประกอบกับรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นจากรายได้เงินปันผลและรายได้ค่าธรรมเนียม หากเทียบกับไตรมาสก่อน กำไรสุทธิที่ไม่รวมผลของรายการพิเศษปรับเพิ่มขึ้นจากรายได้เงินปันผลและรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ ตามรายได้ดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อที่เพิ่มขึ้นจากการขยายตัวของสินเชื่อ ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (Return on Assets: ROA) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1.08% แต่หากตัดผลของรายการพิเศษ ROA จะปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 0.89% จากไตรมาสก่อนที่ 0.81%

ขณะที่อัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้ดอกเบี้ยเฉลี่ย (Net Interest Margin: NIM) ทรงตัวอยู่ที่ 2.46% ใกล้เคียงกับไตรมาสก่อนที่ 2.43%

น.ส.สุวรรณี ยังกล่าวถึงการพิจารณาการจ่ายเงินปันผลของสถาบันการเงินในปี 2564 ว่า จะต้องรอการประเมินแผนการดำเนินงานภายใต้ภาวะวิกฤติ (Stress test) ของแต่ละสถาบันการเงินก่อน ซึ่งคาดว่าจะออกมาในช่วงต้นไตรมาส 4/64

สำหรับการควบรวมของธนาคารพาณิชย์ 2 แห่ง ได้แก่ ธนาคารทหารไทย (TMB) และ ธนาคารธนชาต (TBANK) เป็นธนาคารทหารไทยธนชาต (TTB) เสร็จสมบูรณ์เมื่อวันที่ 5 ก.ค. 2564 ทำให้ธนาคารมีขนาดใหญ่ขึ้น มีการทำธุรกรรมเชื่อมโยงกับสถาบันการเงินอื่นมากขึ้น รวมทั้งมีการให้บริการทางการเงินที่สำคัญทั้งสินเชื่อ เงินฝาก การโอนเงินชำระเงิน ในปริมาณที่สูงและมีลูกค้าจำนวนมาก ส่งผลให้ธนาคารทหารไทยธนชาต เป็นธนาคารพาณิชย์ที่มีความสำคัญต่อระบบในประเทศ (Domestic Systemically Important Banks: D-SIBs) เพิ่มขึ้นอีก 1 แห่งในปีนี้ จากเดิมที่มีอยู่จำนวน 5 แห่ง ประกอบด้วย ธนาคารกรุงเทพ (BBL) ธนาคารกรุงไทย (KTB) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) และธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB)

“ปัจจุบัน D-SIBs ทุกแห่งมีความมั่นคง มีเงินกองทุนอยู่ในระดับสูงกว่าอัตราที่ ธปท. กำหนดและเพียงพอรองรับการดำรงเงินกองทุนส่วนเพิ่มตามมาตรการที่กำหนดในการกำกับดูแล D-SIBs”

น.ส.สุวรรณี ระบุ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 ส.ค. 64)

Tags: , , , , , ,
Back to Top