ส.อ.ท.เผยยอดส่งออกรถยนต์ ก.ค. โต 42.42% มาที่ 70,590 คัน

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ในเดือน ก.ค.64 รถยนต์สำเร็จรูปส่งออกได้ 70,590 คัน เพิ่มขึ้น 42.42% จากเดือน ก.ค.63 เพราะฐานต่ำในปีที่แล้ว แต่ลดลง 14.97% จากเดือน มิ.ย.64 โดยส่งออกลดลงในบางทวีป อาทิ เช่น ตะวันออกกลาง แอฟริกา และยุโรป เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ทำให้ยอดขายรถยนต์ในประเทศคู่ค้าลดลง ซึ่งมีมูลค่าการส่งออก 43,430.62 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 50.55% จากเดือน ก.ค.63 อย่างไรก็ตามประเทศคู่ค้าได้เปิดโรงงานผลิตรถยนต์เกือบเป็นปกติแล้วจึงทำให้การส่งออกเครื่องยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์เพิ่มขึ้น

“หากไม่นับเดือนเมษายน ถือว่ายอดส่งออกต่ำสุดในปีนี้ เนื่องจากประสบปัญหาการแพร่ระบาดของโควิดและขาดแคลนชิป”

 นายสุรพงษ์ กล่าว

ขณะที่ส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป 7 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ก.ค.64) เพิ่มขึ้น 35.98% จากช่วงเดียวกันปีก่อนมาที่ 544,079 คัน คิดเป็นมูลค่า 314,138.68 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 44.88% แต่ยังคงเป้าส่งออกไว้ที่ 8-8.5 แสนคัน เนื่องจากยังมีความกังวลเรื่องผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และการขาดแคลนชิปที่คาดว่าจะยืดเยื้อไปถึงปีหน้า ซึ่งทั้งสองปัจจัยจะส่งผลกระทบต่อทั้งการผลิต การส่งออก และการขายในประเทศ

“ข้อกังวลทั้งสองเรื่องทำให้ยังไม่มีการปรับเป้าส่งออก ทั้งที่หากดูจากยอด 7 เดือนแรกของปีนี้แล้วปีนี้น่าจะส่งออกได้ถึง 9.5 แสนคันก็ตาม ขอรอดูสถานการณ์จนถึงไตรมาส 4 ก่อนค่อยพิจารณาอีกที”

 นายสุรพงษ์ กล่าว

ทั้งนี้ ปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 และขาดแคลนชิปนั้นส่งผลกระทบในวงกว้าง เพราะเมื่อมีการล็อกดาวน์ในประเทศต่างๆ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 แล้ว ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจลดลงส่งผลกระทบต่อยอดส่งออก ส่วนการขาดแคลนชิปนั้นเนื่องจากเป็นการลงทุนที่ใช้งบจำนวนมากและต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูงที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ความต้องการใช้ไม่ได้จำกัดเฉพาะในอุตสาหกรรมยานยนต์ เมื่อมีการทำงานที่บ้าน (Work Form Home) มากขึ้น ทำให้เกิดความต้องการใช้ชิปเพื่อนำไปผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ นอกจากนี้ยังมีปัญหาอื่น เช่น โรงงานผลิตชิ้นส่วนในสหรัฐไม่สามารถขนส่งสินค้าได้เพราะหิมะตกหนัก โรงงานผลิตชิ้นส่วนรายใหญ่ในญี่ปุ่นถูกเพลิงไหม้

“เราต้องพึ่งพาชิปและชิปส่วนจากต่างประเทศ พอเกิดการแพร่ระบาดของโควิดต้องปิดโรงงาน เหมือนตอนที่เราเกิดปัญหาน้ำท่วมใหญ่ไม่สามารถส่งออกชิ้นส่วนไปยัง 140 ประเทศ ทำให้โรงงานในต่างประเทศต้องหยุดการผลิตเหมือนกัน”

 นายสุรพงษ์ กล่าว

ส่วนยอดขายรถยนต์ภายในประเทศของเดือน ก.ค.64 มีจำนวนทั้งสิ้น 52,442 คัน ต่ำสุดในรอบ 7 เดือนเช่นกัน โดยลดลงจากเดือนเดียวกันในปีที่แล้ว 11.62% และลดลงจากเดือน มิ.ย.64 ถึง 15.08% หลังประกาศล็อกดาวน์ตั้งแต่กลางเดือนก.ค. ลูกค้าจึงระมัดระวังในการใช้เงิน มีการยกเลิกการจองรถหรือเลื่อนการรับรถออกไป รวมทั้งการเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อของสถาบันการเงิน และการชะลอการผลิตรถยนต์รุ่นที่นิยมจากการขาดแคลนชิปและชิ้นส่วนรถยนต์จากการระบาดของโควิด-19 ในประเทศและประเทศคู่ค้าที่ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ แต่เป้ายอดขายในประเทศปีนี้ยังคงไว้ที่ 7.5 แสนคัน

“ไฟแนนซ์จะเข้มงวดมากขึ้น โดยเฉพาะรถยนต์ขนาดเล็กที่ปฏิเสธการให้สินเชื่อมากถึง 50% จากสถานการณ์ปกติที่จะมีการปฏิเสธแค่ 5-10% ลูกค้าแจ้งยกเลิกมากกว่าขอเลื่อนรับรถ เนื่องจากไม่มั่นใจเรื่องรายได้ในอนาคต หากมีการขยายเวลาล็อกดาวน์ออกไปอีก 1-2 เดือนน่าจะเกิดความเสียหายอีกมาก”

 นายสุรพงษ์ กล่าว

ขณะที่ นายศุภรัตน์ ศิริสุวรรณางกูร ประธานกิตติมศักดิ์กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ส.อ.ท. กล่าวว่า ผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 น่าจะมีแนวโน้มคลี่คลายดีขึ้น หลังจำนวนผู้ติดเชื้อเริ่มลดลง ขณะที่มีการเร่งฉีดวัคซีนให้กับประชาชนเพิ่มขึ้น และมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดในสถานประกอบการ และล่าสุดมีข่าวภาครัฐเตรียมผ่อนคลายมาตรการเพื่อให้มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้นในเดือน ก.ย.นี้ ส่วนตัวคาดว่าการผลิตรถยนต์ในปีนี้น่าจะถึง 1.6 ล้านคัน และสามารถส่งออกได้ 8.2-8.5 แสนคัน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 ส.ค. 64)

Tags: , , , , ,
Back to Top