ม.มหิดล ส่งเสริมผู้สูงวัยเตรียมพร้อมสู่การเป็นผู้ประกอบการในยุคโควิด

ตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) แห่งสหประชาชาติ ข้อที่ 8 ซึ่งว่าด้วยการส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน (Decent Work And Economic Growth) ในโลกยุคปัจจุบัน ที่ขับเคลื่อนด้วยกลไกทางเศรษฐกิจ และการก้าวสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างเต็มรูปแบบลำพังแรงงานของคนหนุ่มสาวอาจไม่เพียงพอต่อการทำให้เศรษฐกิจชาติเกิดความมั่นคงและยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงวิกฤติโควิด-19 พบกุญแจสำคัญในการตอบโจทย์กลุ่มผู้บริโภคสูงวัย คือ การเตรียมความพร้อมให้ผู้สูงวัยด้วยกันเองได้มีโอกาสลุกขึ้นมาเป็นผู้ประกอบการ

ดร.สุเทพ นิ่มสาย หัวหน้าสาขาการจัดการและกลยุทธ์ และสาขาการจัดการธุรกิจอาหาร วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) กล่าวในฐานะหัวหน้าทีมผู้สอนรายวิชาอบรมออนไลน์ “ผู้ประกอบการและนวัตกรรมสำหรับธุรกิจผู้สูงวัย” (Entrepreneurship And Innovation For Aging Business) ทางระบบ MUx ของมหาวิทยาลัยมหิดล ว่า วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) ไม่ได้มุ่งเน้นการเรียนการสอนเพื่อพัฒนานักบริหารและผู้ประกอบการที่มุ่งหวังผลกำไรแต่เพียงอย่างเดียว แต่จะพยายามส่งเสริมให้มีทักษะการเป็นนักบริหารและผู้ประกอบการที่มีมุมมองที่มุ่งเน้นการพัฒนาธุรกิจแบบยั่งยืน และส่งผลดีต่อสังคมและชุมชน ซึ่งต้องอาศัยการพึ่งพาตนเองเพื่อให้สามารถอยู่รอดได้ตามสภาพเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุค Next Normal ที่เปลี่ยนแปลง และการที่นับวันยิ่งมีสัดส่วนของประชากรผู้สูงวัยมากขึ้น จึงไม่อาจมองข้ามการขยายตลาดแรงงานสู่กลุ่มประชากรผู้สูงวัย ซึ่งการส่งเสริมให้ผู้สูงวัยได้ก้าวสู่การเป็นผู้ประกอบการจะเป็นการตอบโจทย์ที่ตอบสนองความต้องการของผู้สูงวัยด้วยกันเองได้ดีที่สุด โดยปัจจัยพื้นฐานที่จะทำให้ประสบความสำเร็จในการเป็นผู้ประกอบการ คือ การที่จะต้องทำธุรกิจที่ต้องขับเคลื่อนด้วยข้อมูล (Build Data-Driven Culture) “รู้เขา” “รู้เรา” และ “เข้าใจตลาด” อย่างแท้จริง

โดยจะต้องเข้าใจก่อนว่าปัจจุบันผู้บริโภคมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไปอย่างมาก โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงวัยมีแนวโน้มการใช้ชีวิตที่แตกต่างกันออกไปตามสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลง “รู้เขา” คือ จะต้องเข้าใจกลุ่มเป้าหมายว่า เป็นผู้สูงวัยที่มีการใช้ชีวิต (Life Style) อยู่ในกลุ่มใด ซึ่งปัจจุบันพบโดยทั่วไปใน 3 แบบแบ่งตามลักษณะทางสังคมและสุขภาวะ คือ ผู้สูงวัยแบบ “ติดบ้าน” “ติดเตียง” และ “ติดสังคม” แล้วให้มาพิจารณา “รู้เรา” หรือปัจจัยความพร้อมทางเศรษฐกิจ ประสบการณ์ความเชี่ยวชาญ และปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องของตัวผู้ประกอบการเอง รวมทั้งจะต้อง”เข้าใจตลาด” โดยศึกษาได้จากแนวโน้มความสนใจของผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย

แนวโน้มการประกอบการ หรือธุรกิจที่น่าจับตาของผู้สูงวัยในปัจจุบัน ได้แก่ การประกอบการ หรือธุรกิจที่มีความเฉพาะด้าน อาทิ ด้านอาหาร ด้านที่อยู่อาศัย และด้านสุขภาวะนอกจากนี้ ยังมีการประกอบการ หรือธุรกิจที่น่าสนใจรองลงมา อาทิ ด้านการท่องเที่ยว และด้านการเงิน ซึ่งจากข้อมูลการสำรวจที่ผ่านมา เป็นที่น่าสังเกตว่าผู้สูงวัยส่วนใหญ่มีแนวโน้มที่จะเป็นโสด และพักอาศัยอยู่คนเดียว ดังนั้นรูปแบบในการอยู่อาศัยจึงเปลี่ยนไปจากเดิม จึงจำเป็นที่จะต้องมีการวางกลยุทธ์ทางธุรกิจให้เหมาะสม และตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคใหม่

เพื่อการเตรียมความพร้อมสู่การเป็นผู้ประกอบการสำหรับธุรกิจผู้สูงวัยที่ยั่งยืน จำเป็นต้องมีการสร้างเครือข่าย และเพิ่มพูนทักษะต่างๆ ที่จำเป็นต่อการประกอบการในโลกยุคปัจจุบันอยู่เสมอ โดย มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เปิดอบรมออนไลน์เพื่อการเรียนรู้ทักษะที่จำเป็นต่างๆ ในการดำรงชีพและประกอบวิชาชีพที่ทันสมัยในระบบ MUx ซึ่งได้เปิดกว้างให้ประชาชนโดยทั่วไปสามารถลงทะเบียนเพื่อเข้ารับการอบรมออนไลน์พร้อมรับประกาศนียบัตรได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ทาง http://mux.mahidol.ac.th

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 ส.ค. 64)

Tags: , , ,
Back to Top