สธ.ชี้ผู้เสียชีวิตจากโควิดจะลดลงหลังยอดฉีดวัคซีนมากขึ้น คาดพื้นที่เสี่ยงได้เข็มสาม พ.ย.

นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยในวันนี้มีผู้ติดเชื้ออยู่ที่ประมาณ 16,000 ราย ทั้งนี้จำนวนผู้เสียชีวิตต่อวันยังอยู่ในระดับสูงที่ประมาณ 200 ราย/วัน จำนวนตัวเลขผู้เสียชีวิตในภาพรวมต่อวันยังไม่ลดลง

เนื่องจากระยะเวลาในการรักษาตัวของผู้ป่วยแต่ละคนไม่เท่ากัน รวมทั้งเป็นการเก็บจำนวนผู้เสียชีวิตย้อนหลังจึงทำให้จำนวนผู้เสียชีวิตยังอยู่ในระดับสูง ดังนั้นคาดว่าหลังจากนี้น่าจะเห็นจำนวนผู้เสียชีวิตลดลง จากการฉีดวัคซีนในกลุ่มผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้น

โดยความครอบคลุมในการฉีดวัคซีนในกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป (28 ก.พ.-29 ส.ค. 64) ประเทศไทยสามารถฉีดวัคซีนครอบคลุมกลุ่มผู้สูงอายุที่ 43.8% ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 13 จังหวัด สามารถฉีดวัคซีนครอบคลุมอยู่ที่ 68.8% โดยเฉพาะในพื้นที่กทม. ที่มีการฉีดวัคซีนครอบคลุมถึง 97.1% ทำให้มีอัตราการเสียชีวิตในกลุ่มผู้สูงอายุลดลงเป็นอย่างมาก

“การฉีดวัคซีนที่มีความครอบคลุมมากขึ้นนั้น จากสถิติสะท้อนให้เห็นถึงอัตราการป่วยและเสียชีวิตที่เริ่มมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ สอดคล้องกับการศึกษาของต่างประเทศ ที่ระบุว่าการฉีดวัคซีนช่วยลดอัตราการป่วย และเสียชีวิตได้ ซึ่งมีแนวโน้มเกิดกับกลุ่มผู้สูงอายุเป็นหลัก” 

นพ.เฉวตสรร กล่าว

พร้อมระบุว่า ในประเทศไทยมีการฉีดวัคซีนเข็มแรกครอบคลุมทั่วประเทศแล้ว 32% และฉีดวัคซีนเข็มที่สองครอบคลุมแล้ว 10.2% โดยการฉีดวัคซีนเข็มที่สองยังมีสัดส่วนที่น้อยอยู่ เนื่องจากประชาชนบางส่วนได้รับวัคซีนเข็มแรกเป็นวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า จึงจะต้องใช้ระยะเวลาห่างกันสองเข็มนานถึง 12 สัปดาห์ อย่างไรก็ดี ขณะนี้มีการปรับสูตรการฉีดวัคซีนแบบไขว้ คือวัคซีนซิโนแวคเข็มแรก และวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเป็นเข็มที่สอง ซึ่งสูตรการฉีดวัคซีนนี้ใช้ระยะเวลาห่างระหว่างสองเข็มเพียง 3 สัปดาห์เท่านั้น ดังนั้นจึงคาดว่าหลังจากนี้สัดส่วนการฉีดวัคซีนเข็มที่สองน่าจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ส่วนประชาชนที่มีความกังวลในการฉีดวัคซีนแบบไขว้ ทางองค์การอนามัยโลก (WHO) ให้หน่วยงานสาธารณสุขของประเทศ พิจารณาการฉีดวัคซีนแบบไขว้ได้ แต่แนะนำว่าไม่ให้ประชาชนเลือกวัคซีนชนิดไขว้เอง โดยจากการศึกษาของประเทศไทยพบว่าสูตรการฉีดวัคซีนซิโนแวคเข็มแรก และวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเข็มที่สอง มีความปลอดภัย และสามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้สูงกว่าการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าสองเข็ม ดังนั้นขอให้ประชาชนมีความมั่นใจในการรับวัคซีน โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรัง และสตรีมีครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป (608)

สำหรับแผนการจัดหาวัคซีนในประเทศไทยตั้งแต่เดือน ส.ค.-ธ.ค. 64 มีแผนการส่งมอบปลายปีนี้จำนวน 124 ล้านโดส โดยหากรวมวัคซีนซิโนฟาร์ม และวัคซีนโมเดอร์นาจะมีวัคซีนทั้งหมด 140 ล้านโดส ทั้งนี้จำนวนวัคซีนขึ้นอยู่กับการส่งมอบของแต่ละบริษัท

คาดฉีดวัคซีนเข็มสามให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงได้ พ.ย.นี้

นพ.เฉวตสรร ยังกล่าวถึงเป้าหมายการฉีดวัคซีนในประเทศไทยช่วงที่เหลือของปีนี้ว่า ในเดือนก.ย. คาดว่าจะสามารถฉีดวัคซีนเข็มแรกให้ครอบคลุมมากกว่าหรือเท่ากับ 70% ในพื้นที่ทุกจังหวัด สำหรับกลุ่ม 608, เดือนต.ค. สามารถฉีดวัคซีนครบสองเข็มให้ครอบคลุมมากกว่าหรือเท่ากับ 70% สำหรับกลุ่ม 608 และสามารถฉีดวัคซีนเข็มแรกได้มากกว่า 50% ครอบคลุมทั้งประเทศ รวมการฉีดวัคซีนในเด็ก, เดือน พ.ย. สามารถฉีดวัคซีนเข็มแรกได้ครอบคลุม 70% ทั้งประเทศ และมีการฉีดเข็มกระตุ้นเข็มที่สามแก่ประชาชนในพื้นที่เสี่ยง

ทั้งนี้ จะต้องมีการกำหนดแนวทางในการรับวัคซีน รวมทั้งต้องมีการพิจารณาชนิดของวัคซีนอีกครั้ง และเป้าหมายในเดือนธ.ค. คือสามารถฉีดวัคซีนครบสองเข็ม และสามารถฉีดวัคซีนเข็มที่สามครอบคลุมทั้งประเทศ 70%

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 ส.ค. 64)

Tags: , , , , , , ,
Back to Top