ส.ส.เพื่อไทย ชี้นายกฯ ทำท่องเที่ยวดิ่งเหว-บริหารวัคซีนผิดพลาด

นายจักรพล ตั้งสุทธิธรรม ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย อภิปรายไม่ไว้วางใจการทำงานของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ระบุถึงการบริหารงานล้มเหลว โดยเฉพาะการบริหารด้านท่องเที่ยวซึ่งทำหน้าที่พยุงเศรษฐกิจไทยมาตลอด โดยในปี 62 การท่องเที่ยวสามารถสร้างรายได้ถึง 20% ของจีดีพี และอยู่อันดับที่ 3 ของอาเซียน มีนักท่องเที่ยวในประเทศไทยจำนวน 39.8 ล้านคน และสร้างรายได้กว่า 3 ล้านล้านบาท แต่ในปี 63 เทียบกับปี 62 จำนวนนักท่องเที่ยวลดลงถึง 33 ล้านคน ส่งผลให้เงินที่หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจหายไป 1.6 ล้านล้านบาท จากการบริหารงานที่ล้มเหลว

ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ต่างประเทศมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทยลดลงทั้งภาคการลงทุน การผลิต และการเดินทางมาท่องเที่ยว โดยประเทศสหรัฐฯ ได้ประกาศให้ประชาชนในประเทศหลีกเลี่ยงการเดินทางมาประเทศไทย เนื่องจากมีความเสี่ยงสูงต่อการระบาดของโควิด-19 อยู่ในระดับ 4 ส่วนประเทศสหราชอาณาจักรประกาศให้ประเทศไทยเป็นพื้นที่สีแดงจากอัตราการติดเชื้อที่สูง รวมถึงเว็บไซต์บลูมเบิร์กจัดอันดับให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่ฟื้นฟูจากโควิด-19 ได้ช้าอยู่ในอันดับ 49

ทั้งนี้ในวันที่ 25 ก.ค. พล.อ.ประยุทธ์ ได้แถลงต่อรัฐสภาเรื่องการพัฒนาการท่องเที่ยว ทั้งการพัฒนาคุณภาพความหลากหลายของการท่องเที่ยว, อนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม, ดึงดูดนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ, พัฒนาคุณภาพและมาตรฐานธุรกิจบริการ และกระจายรายได้ธุรกิจท่องเที่ยวสู่ชุมชน แต่พล.อ.ประยุทธ์ ไม่สามารถทำได้ตามที่เคยกล่าวไว้ จากการบริหารงานที่ไร้ประสิทธิภาพทั้งการบริหารจัดการวัคซีน การเยียวยาประชาชนแบบชิงโชค และการสนใจการปราบม็อบมากกว่าการช่วยเหลือประชาชน จึงนำมาสู่วิกฤตการณ์ของการท่องเที่ยวในประเทศไทย จากการล็อกดาวน์แบบไม่วางแผน และไม่ใส่ใจประชาชน ส่งผลให้ตัวเลขจีดีพีของปี 64 ดิ่งลงเหลือโตเพียง 1.2% เท่านั้น รวมถึงการคาดการณ์จากสถาบันต่างๆ ก็มีการปรับลดจีดีพีลง เช่น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยปรับลดประมาณการณ์ของเศรษฐกิจจาก 1.0% เป็น -0.5% เป็นต้น นอกจากนี้ตัวเลขประชากรที่ว่างงานก็เพิ่มสูงขึ้นด้วย

ในขณะเดียวกันในช่วงไตรมาส 2/64 ตัวเลขหนี้ค้างชำระ (NPL) เพิ่มขึ้นจากการที่รายได้ของลูกหนี้ลดลง จึงไม่มีศักยภาพในการชำระหนี้ ส่งผลให้เกิดหนี้เสียในระบบสูงถึง 18,000 ล้านบาท ภายใน 6 เดือน ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ได้ออกมาตรการต่างๆ แต่ไม่ตรงประเด็น รวมทั้งมาตรการซอฟท์โลนที่ออกมาเยียวยาประชาชนมีข้อกำหนด และเงื่อนไขที่เป็นกำแพงที่หนา และสูงต่อผู้ประกอบการ จึงทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ยาก และเกิดการกู้นอกระบบที่มากขึ้น

ทั้งนี้เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 พล.อ.ประยุทธ์ ไม่วางแผนการบริหารงาน ไม่คิดล่วงหน้า และยึดติดกับภาคการท่องเที่ยวมากเกินไป สุดท้ายเมื่อประเทศประสบปัญหาก็ออกมาตรการเยียวยาแบบทวงบุญคุณ ทั้งที่ประชาชนเป็นเจ้าของเงิน และประเทศนี้อย่างแท้จริง

นายจักรพล ยังกล่าวถึงแผนการเปิดประเทศภายใน 120 วัน ซึ่งต้องมีการฉีดวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้ครอบคลุมก่อนจึงจะสามารถเปิดประเทศได้ โดยก่อนหน้านี้พล.อ.ประยุทธ์ เคยประกาศว่าจะฉีดวัคซีนเข็มแรกให้ครบ 50 ล้านคนในต้นเดือนต.ค. ซึ่งค่าเฉลี่ยการฉีดวัคซีนต่อวันในขณะนี้อยู่ที่ประมาณ 3 แสนคนต่อวัน แต่หากจะเปิดประเทศซึ่งเหลือระยะเวลาเพียง 40 วัน จะต้องฉีดวัคซีนให้ได้ 5 แสนคนต่อวัน ถ้าต้องการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ 70% แต่หากมีการกลายพันธุ์ของเชื้อโควิด-19 ต้องฉีดวัคซีนเพิ่มเป็น 85% หรือวันละ 8 แสนคนต่อวัน ซึ่งแผนการจัดการนี้เป็นแผนการบริหารจัดการที่เป็นไปไม่ได้

“หากฉีดวัคซีนด้วยอัตราความเร็วเท่าเดิม จะต้องสูญเสียมูลค่าการท่องเที่ยวช้าออกไปอีก 30 วัน เสียค่าโง่ 1.73 แสนล้านบาท หากต้องการให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ 85% จะเสียค่าโง่ 3.3 แสนล้านบาท”

นายจักรพล กล่าว

ด้านโรงแรมต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากการปิดประเทศนั้น ปัจจุบันเหลือเปิดให้บริการอยู่เพียง 38% เท่านั้น และปิดกิจการชั่วคราวไปกว่า 30% ซึ่งมาตรการที่ภาครัฐที่ออกมาอย่างมาตรการ “เราเที่ยวด้วยกัน” นั้นเป็นมาตรการที่ไม่ครอบคลุมทุกอาชีพที่มีความเกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยว เช่น มัคคุเทศก์ ในขณะเดียวกันเป็นมาตรการที่ก่อให้เกิดการทุจริตในส่วนของธุรกิจโรงแรม และธุรกิจทัวร์

สำหรับนโยบายภูเก็ตแซนด์บอกซ์ ความหวังเดียวของภาคการท่องเที่ยว ซึ่งคาดว่านักท่องเที่ยวไม่สามารถเดินทางเข้ามาตามเป้าหมายที่วางไว้ จากการบริหารจัดการที่ไม่ดี และได้เกิดเหตุการณ์สะเทือนใจที่ภูเก็ต ประกอบกับช่วงปลายเดือนก.ค. ที่ผ่านมามีการติดเชื้อเกินมาตรฐานที่ตั้งไว้ 90 คนต่อสัปดาห์จึงได้มีมาตรการการปิดสถานที่ต่างๆ ในจังหวัดอีกครั้ง เนื่องจากยังมีการฉีดวัคซีนเข็มที่สองที่ยังไม่ทั่วถึง

นายจักรพล กล่าวว่า หากพรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาล การท่องเที่ยวจะไม่ดิ่งลงเหว ด้วยการดำเนินมาตรการที่เคยเสนอแก่ พล.อ.ประยุทธ์ ทั้งเปิดประเทศผ่านมาตรการวัคซีนพาสปอร์ต, มาตราการคงการจ้างงานโดยเฉพาะโรงแรม ปล่อยเงินกู้ 0%, และมาตรการฟื้นฟูสร้างแหล่งท่องเที่ยว 1 อำเภอ 1 แหล่งท่องเที่ยวใหม่ เพื่อรองรับการท่องเที่ยวแบบ New Normal โดยหากดำเนินมาตรการแบบที่พรรคเพื่อไทยเคยเสนอ จะสามารถสร้างรายได้การท่องเที่ยวถึง 7 เท่าของรายได้ที่รัฐบาลดำเนินการอยู่ขณะนี้

นอกจากนี้ ได้เสนอทางออกของประเทศไทยเพิ่มเติม คือ การเพิ่มภูมิคุ้มกันการท่องเที่ยวไทย ทั้งการปลดล็อกประเทศในลิสต์ที่ห้ามเดินทางของ CDC, ใช้ความสัมพันธ์ต่างประเทศปลดล็อกการท่องเที่ยว, การพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพใช้เวลานานในการพักฟื้น ด้วยการดึงศักยภาพของประเทศไทย และประเทศเพื่อนบ้านมาใช้ เช่นระเบียงเศรษฐกิจ R3A, T-pop to World pop นโยบายส่งเสริมวงการอุตสาหกรรมเพลงของประเทศไทย และการค้าบริการแบบถูกกฎหมาย เพื่อดึงเงินนอกระบบเข้าระบบ ซึ่งจะสามารถสร้างมูลค่าได้ไม่ต่ำกว่า 2 แสนล้านบาท

“การอภิปรายครั้งที่ 25 ครั้งนี้จะถือเป็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งสุดท้าย เนื่องจากผมไม่สามารถให้ท่านเป็นนายกรัฐมนตรีบริหารประเทศนี้ต่อไปได้แล้ว จากการบริหารงานที่ล้มเหลว เพิ่มความเหลื่อมล้ำ นักท่องเที่ยวไม่มี เม็ดเงินในเศรษฐกิจหาย และแผนการเปิดประเทศที่ไร้ทิศทาง”

นายจักรพล กล่าว

ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้ปฎิบัติหน้าที่ที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมาตรา 47 ที่ว่าด้วยบุคลลย่อมมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขของรัฐ ประกอบกับมาตรา 55 ที่ว่าด้วยรัฐต้องดำเนการให้ประชาชนได้รับบริการสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพอย่างทั่วถึง และมาตรา 157 ที่ว่าด้วยการละเว้นการปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (01 ก.ย. 64)

Tags: , , ,
Back to Top