มิ่งขวัญ ซัดนายกฯ แก้โควิด-จัดสรรงบฯ ผิดพลาด ทำเศรษฐกิจ-ปชช.เสียหาย

นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเศรษฐกิจใหม่ อภิปรายไม่ไว้วางใจการทำงานของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม โดยระบุว่าพล.อ.ประยุทธ์ บริหารงานโดยได้มีการตัดสินใจผิดพลาดในหลายเรื่อง ทั้งเรื่องการจัดการกับโรคระบาดโควิด-19 การบริหารเศรษฐกิจ ซึ่งจากการตัดสินใจผิดพลาดนั้นสร้างความเสียหายแก่เศรษฐกิจไทย และส่งผลกระทบต่อประชาชนเป็นอย่างมาก

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย ที่ทุกประเทศนั้นล้วนได้รับผลกระทบมากน้อยต่างกันไป ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการของรัฐบาลของแต่ละประเทศ สำหรับประเทศไทยถือว่ามีการบริหารงานที่ล้มเหลว เห็นได้จากตัวเลขผู้ติดเชื้อเมื่อปี 63 ทั้งปีอยู่ที่ 6,884 ราย และเสียชีวิต 61 ราย ในส่วนของปี 64 ที่ผ่านมาเพียง 8 เดือนมีจำนวนผู้ติดเชื้อที่พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วอยู่ที่ 1,175,866 ราย คิดเป็น 17,081% ของปี 63 และพบผู้เสียชีวิตแล้วถึง 11,495 ราย คิดเป็น 18,844% ของปี 63

ความผิดพลาดแรกนั้นเริ่มจากการที่รัฐบาลตัดสินใจผิดพลาดเรื่องงบประมาณแผ่นดิน ในปี 63 ที่มีงบประมาณประจำปีจำนวน 3.2 ล้านล้านบาท ปี 64 มีงบประมาณประจำปีจำนวน 3.28 ล้านล้านบาท และในปี 65 ได้มีการอนุมัติงบประมาณประจำปีจำนวน 3.1 ล้านล้านบาท ซึ่งตลอดระยะเวลสามปีนั้นเป็นช่วงที่อยู่ระหว่างสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่รัฐบาลตั้งงบประมาณเพื่อใช้ในการบริหารงานอื่นๆ เหมือนสถานการณ์ปกติ ซึ่งเป็นการใช้งบประมาณที่ไม่สมฐานะการเงินของประเทศ

ทั้งนี้รัฐบาลได้ทำการกู้เงินนอกงบประมาณแผ่นดินเพื่อใช้ในสถานการณ์โควิด-19 ทั้งหมด 2 ครั้ง รวมทั้งสิ้น 1.5 ล้านล้านบาท โดยวันที่ 5 มิ.ย. 63 จำนวน 1 ล้านล้านบาท ซึ่งมีการจัดสรรให้การแพทย์และสาธารณสุข 45,000 ล้านบาท เยียวยาประชาชน 685,000 ล้านบาท และฟื้นฟูเศรษฐกิจ 270,000 ล้านบาท ส่วนครั้งที่สองในวันที่ 9 มิ.ย. ปี 64 ได้มีการกู้เพิ่มอีก 5 แสนล้านบาท โดยมีการจัดสรรให้การแพทย์และสาธารณสุข 30,000 ล้านบาท เยียวยาประชาชน 470,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นการจัดสรรงบประมาณที่ไม่ถูกต้อง ควรมีการจัดสรรให้การแพทย์และสาธารณสุขในจำนวนที่มากกว่านี้เพื่อแก้ปัญหาโควิด-19 อย่างเร่งด่วน โดยในส่วนของงบประมาณที่นำมาใช้เยียวยาประชาชน ได้มีการนำงบส่วนนี้ไปใช้ในการพัฒนาแอพพลิเคชั่นเป๋าตัง ซึ่งโครงการดังกล่าวเป็นโครงการที่ไม่สามารถตรวจสอบได้ไม่มีรายละเอียดโครงการ และเป็นการเอื้อต่อนายทุน

ความผิดพลาดต่อมา คือเรื่องการจัดซื้อวัคซีนซิโนแวคก่อนหน้าที่ทางองค์การอนามัยโลก (WHO) จะอนุญาตขึ้นทะเบียนให้การรับรอง ซึ่งเป็นข้อสงสัยว่าทำไม่รัฐบาลไทยเลือกซื้อวัคซีนซิโนแวค ที่เป็นบริษัทเอกชนในประเทศจีน แทนที่จะจัดซื้อวัคซีนซิโนฟาร์ม ซึ่งเป็นวัคซีนของรัฐบาลประเทศจีน ที่ทางภาครัฐใช้ฉีดให้กับประชาชนทั้งประเทศ โดยรัฐบาลไทยได้มีการบังคับให้ประชาชนอายุ 18-60 ปี หรือประมาณ 41 ล้านคน ฉีดวัคซีนซิโนแวคโดยที่ไม่มีทางเลือก ทั้งๆ ที่จากการศึกษาของมหาวิทยาลัยมหิดลมีการระบุว่าการฉีดวัคซีนซิโนแวคครบ 2 โดสไม่มีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อโควิดสายพันธุ์อัลฟา เดลตา และบาตาได้เพียงพอ แสดงให้เห็นว่าคนไทยที่ฉีดวัคซีนดังกล่าวไปแล้วนั้นมีโอกาสติดเชื้อ และเสียชีวิตที่สูงขึ้น

ทั้งนี้รัฐบาลยังมีความผิดพลาดต่อเนื่อง จากการที่รัฐจัดซื้อวัคซีนซิโนแวคท่ามกลางเสียงทักท้วงจากหลายฝ่าย ทั้งการออกมาแสดงจุดยืนของแพทย์โรงพยาบาลรามาธิบดีจำนวน 604 คน, กลุ่มหมอไม่ทนยื่นรายชื่อต่อรัฐสภาให้มีการนำเข้าวัคซีนชนิด mRNA และมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่ออกแถลงว่าวัคซีนซิโนแวค 2 โดสควบคุมโรคไม่อยู่ ต้องมีการฉีดเข็มบูสเตอร์ เป็นต้น แต่ในวันที่ 16 ส.ค. 64 นายกรัฐมนตรีก็มีประกาศสั่งซื้อวัคซีนซิโนแวคเพิ่มอีก 12 ล้านโดส ท่ามกลางเสียงทักท้วง

นอกจากนี้รัฐบาลยังตัดสินใจไม่เข้าร่วมโครงการ COVAX ทั้งๆ ที่จาก 200 ประเทศทั่วโลก มีประเทศที่ไม่เข้าร่วมโครงการเพียง 7 ประเทศ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือประเทศไทย ทำให้ประเทศไทยมีวัคซีนไม่เพียงพอกับจำนวนประชากร เมื่อวัคซีนมีไม่เพียงพอรัฐบาลจึงมีการคิดค้นสูตรการฉีดวัคซีนแบบไขว้ เพื่อแก้ปัญหาในการใช้วัคซีนที่มีอยู่ในคลังให้หมดไป โดยไทยได้คิดค้นสูตรการฉีดวัคซีนซิโนแวคเข็มแรก ตามด้วยวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเข็มที่สอง อย่างไรก็ตามทาง WHO ได้ออกมาเตือนการใช้สูตรการฉีดแบบไขว้ที่ยังไม่ได้ผ่านการรับรองจาก WHO ว่ามีความเสี่ยง แต่ประเทศไทยก็ยังยืนยันการใช้สูตรฉีดวัคซีนแบบไขว้ทั้งที่ไม่ผ่านการรับรองจาก WHO

ความผิดพลาดถัดมา คือการที่รัฐบาลไม่จัดหาชุดตรวจโควิด Antigen Test Kit (ATK) มาตั้งแต่ช่วงแรกของการระบาด ส่งผลให้ประชาชนต้องเสียค่าใช้จ่ายในการตรวจซึ่งมีราคาสูง เป็นที่แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกคนจะสามารถออกค่าใช้จ่ายในการตรวจได้ แต่เมื่อมีการจัดซื้อชุดตรวจ ATK กลับมีการจัดซื้อที่ไม่โปร่งใส ไม่มีคุณภาพ และจัดซื้อในราคาที่แพงกว่าประเทศอื่นๆ โดยทางองค์การเภสัชกรรมได้มีการจัดซื้อชุดตรวจ ATK จำนวน 8.5 ล้านชุด ด้วยราคา 70 บาทต่อชุด ทั้งนี้ทางชมรมแพทย์ชนบทออกมาทักท้วงการจัดซื้อในครั้งนี้แต่ไม่เป็นผล โดยระบุว่าราคาที่แท้จริงของชุดตรวจอยู่ที่ 35 บาทต่อชุดเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีผลการศึกษาจากต่างประเทศว่าชุดตรวจมีความไวในการตรวจหาเชื้อน้อย หมายความว่าผลตรวจที่ได้ออกมาจะมีความแม่นยำน้อยเช่นกัน

รัฐบาลยังมีความผิดพลาดในการสั่งปิดแคมป์คนงานที่เป็นแหล่งระบาดโควิด-19 โดยการประกาศให้เจ้าของโรงงานและแรงงานได้ทราบก่อน ส่งผลให้แรงงานมีการเคลื่อนย้ายเดินทางไปต่างจังหวัด ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ในประเทศไทย เมื่อมีการแพร่ระบาดในวงกว้าง จึงมีประกาศพ.ร.ก. ฉุกเฉินออกไปเรื่อยๆ และมีการสั่งล็อกดาวน์ โดยที่รัฐบาลไม่มีการวางแผนเยียวยาประชาชน ส่งผลให้มีประชาชนจำนวนมากต้องสูญเสียชีวิต และสูญเสียรายได้ท่ามกลางการบริหารของรัฐบาลนี้ โดยส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในทุกภาคส่วน ทั้งธุรกิจ SME, โรงแรม, ร้านอาหาร และสายการบิน รวมทั้งยังส่งผลกระทบต่อภาคเกษตร ที่ราคาผลผลิตตกต่ำ เช่น ราคาข้าว ราคายาง ราคาผลไม้ เป็นต้น

การบริหารของรัฐบาลที่ผิดพลาดนั้น ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของประเทศ จากครัวเรือนจำนวน 14 ล้านล้านบาท ทะลุ 90% ต่อจีดีพี, ต่างชาติคาดการณ์ประเทศไทยปีนี้เติบโตต่ำที่ 0% และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)คาดเศรษฐกิจไทยใช้เวลานาน 6 ปีจึงจะสามารถฟื้นตัวจากโควิด-19 ได้ รวมถึงต่างประเทศประกาศให้ประเทศไทยเป็นพื้นที่เสี่ยงโควิด-19

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 ก.ย. 64)

Tags: , ,
Back to Top