เฉลิมชัย แจงสภาฯ ยันไม่มีฮั้วประมูลยาง ทุกกระบวนการโปร่งใส-ตรวจสอบได้

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ และรองประธานคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) ชี้แจงกรณีที่ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ ได้อภิปรายไม่ไว้วางใจการทำหน้าที่ของ กนย. โดยระบุว่า กระบวนการหารือเรื่องยางพารา และการระบายยางในการประชุมทุกครั้ง จะต้องมีองค์ประชุมครบถึงจะดำเนินการได้ และต้องเป็นมติของที่ประชุมการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ที่มีบอร์ดการยางฯ 14 คน เป็นผู้ออกนโยบายกำกับดูแล และอนุมัติในกิจกรรมของ กยท. ซึ่งมติของที่ประชุมจะถือเป็นความรับผิดชอบร่วมกัน พร้อมยืนยันว่า การประมูลยางจำนวน 104,000 ตัน เป็นไปตามกระบวนการโดยสุจริตเชิงนโยบาย และพร้อมให้ทุกหน่วยงานตรวจสอบ

โดยจากการระบายยาง ครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 เนื่องจากเป็นการเปิดกว้างให้แก่บุคคลทั่วไปลงทะเบียนเพื่อเข้าตรวจสอบคุณภาพยางในแต่ละโกดังและเปิดให้เลือกประมูล ส่งผลให้มีการเลือกประมูลในส่วนของโกดังที่ยางมีคุณภาพดี โดยมีการนำยางที่ซื้อไปมาเวียนขายใหม่ในตลาด ซึ่งส่งผลกระทบต่อปริมาณและราคายางพารา

ทั้งนี้ ได้เกิดกรณีที่มีผู้ประมูลบางรายไม่มีความพร้อมในด้านการผลิต และสถานะทางการเงิน จึงเกิดปัญหาการไม่รับมอบยาง ทำให้ส่งผลต่อภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นภายหลัง นอกจากนี้ การระบายยางใช้ช่วงระยะเวลาดำเนินการนาน ส่งผลต่อราคายางในตลาดและปัญหาการรับมอบยางของผู้ซื้อ โดยราคายาง ณ วันเริ่มประมูล (16-17 ม.ค. 60) ราคาอยู่ที่ 88.88 บาท, ราคาวันที่ประมูลครั้งสุดท้าย (29 มี.ค. 60) ราคาอยู่ที่ 71.51 บาท และมีการปรับตัวลดลงถึง 51.78 บาท (5 ก.ค. 60)

ทั้งนี้ ด้วยคุณภาพและราคายางที่มีข้อจำกัด จึงต้องมีการกำหนดคุณสมบัติผู้เข้าเสนอราคา และหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง โดยคุณสมบัติของผู้เข้าร่วม มีดังนี้

1. ผู้ยื่นข้อเสนอต้องเป็นนิติบุคคล สัญชาติไทย และมีทุนจดทะเบียนไม่น้อยกว่า 500 ล้านบาท เนื่องจากต้องการบริษัทที่มีความเข้มแข็งทางการเงิน และไม่สร้างความเสียหายให้กับรัฐ

2. ผู้ยื่นข้อเสนอต้องเป็นนิติบุคคลที่เคยมีผลงานประมูลยาง โครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง และโครงการสร้างมูลภัณฑ์กันชนรักษาเสถียรภาพราคายาง ในหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งรวมทุกสัญญามีมูลค่าไม่น้อยกว่า 300 ล้านบาท เนื่องจากต้องการบริษัทที่ทราบถึงคุณภาพยางในแต่ละโกดัง

3. เป็นบริษัทที่มีโรงงานผลิตและแปรรูปยาง STR 20 และมีปริมาณการผลิตในปี 63 มากกว่า 200,000 ตัน เนื่องจากต้องการระบายยางให้กับผู้ใช้จริง ไม่ต้องการให้เกิดการเวียนยางในตลาด

4. ไม่เคยมีการผิดสัญญาซื้อขายโครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง และอยู่ระหว่างการดำเนินการฟ้องร้องคดีกับ กยท. เพื่อไม่ให้สร้างความเสียหายกับรัฐ

โดยมีเงื่อนไขเพิ่มเติม คือ ผู้ชนะการประมูลต้องสมัครใจซื้อยางจากสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางอีกจำนวน 1 เท่าของปริมาณยางที่ซื้อ รวมทั้งผู้ชนะการประมูลต้องดำเนินการรับมอบยางให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 พ.ค. 64 เนื่องจากค่าเช่าโกดัง และค่าประกันภัยจะหมดลงในวันที่ 31 พ.ค. 64 หากไม่ดำเนินการจะเพิ่มค่าใช้จ่ายปีละ 132 ล้านบาท มีค่าเสื่อมยางกิโลกรัมละ 1.26 บาท/ปี

นายเฉลิมชัย กล่าวว่า ดังนั้นขั้นตอนการระบายสต็อกยางตามมติครม. ครั้งที่ 3 โดยคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ ในวันที่ 9 มิ.ย. 63 จึงมีมติเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาโครงการ และมอบหมายให้ กยท. เร่งดำเนินการระบายสต็อกยาง โครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง และโครงการสร้างมูลภัณฑ์กันชนรักษาเสถียรภาพราคายางให้หมดโดยเร็ว โดยให้คำนึงถึงระยะเวลาและระดับราคาจำหน่ายที่เหมาะสม เพื่อลดการภาระงบประมาณ และเพื่อรักษาประโยชน์สูงสุดของรัฐ

โดยในวันที่ 3 พ.ย. 63 ครม. มีมติให้ กยท.เร่งระบายสต็อกยาง โดยให้ดำเนินการระบายสต็อกยางโครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง และโครงการสร้างมูลภัณฑ์กันชนรักษาเสถียรภาพราคายาง ส่วน บอร์ด กยท.ในวันที่ 8 เม.ย. 64 มีมติรับทราบผลการประเมินปริมาณและคุณภาพยางของผู้ประเมินอิสระ และ กยท. โดยเห็นชอบร่างประกาศ รวมถึงอนุมัติให้คณะกรรมการบริหารสต็อกยาง ดำเนินการระบายยางตามเงื่อนไขของบอร์ด กยท.จำนวน 104,643.19 ตัน ซึ่งผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมในการประมูลครั้งที่ 3 นี้ มีเพียง 1 รายเท่านั้น

“เมื่อครม.ได้รับทราบ ผมในฐานะกำกับดูแลกยท. ได้ให้นโยบาย กยท.ในการระบายยางในสต็อก คือ 1.ให้ดูช่วงเวลาที่เหมาะสมในการระบายยาง เพื่อไม่ให้กระทบราคาในตลาด 2.พี่น้องเกษตรกรต้องได้รับประโยชน์ 3.ต้องรักษาผลประโยชน์ภาครัฐ เพราะเป็นเงินภาษีของพี่น้องประชาชน 4.ต้องทำโดยสุจริตโปร่งใสตรวจสอบได้ และถูกต้องตามระเบียบ ที่เน้นย้ำที่สุด คือห้ามทุจริตคอรัปชั่นโดยเด็ดขาด ถ้าเขาทำทุจริตผิดกฎหมาย ผมไม่ละเว้นอยู่แล้ว และนอกจากไม่ละเว้นแล้ว ยังมีหน่วยงานมากมายที่รอการตรวจสอบ ท่านสามารถฟ้องได้เลย เพราะถ้าไม่ถูกต้อง ผมก็ไม่ชอบ อยู่ประเทศไทยทำร้ายประเทศ ผมก็ไม่เอา ” นายเฉลิมชัย กล่าว

สำหรับผลจากการระบายยางโครงการพัฒนาศักยภาพฯ และโครงการมูลภัณฑ์กันชนฯ ที่มีประโยชน์ต่อเกษตรกรชาวสวนยาง คือ มีงบประมาณจากเงินกองทุน 49 (3) เพื่อนำไปใช้ดูแลเกษตรกรเพิ่มขึ้นปีละ 132 ล้านบาท จากการลดค่าใช้จ่ายการเก็บรักษาและประกันภัยยางพารา นอกจากนี้ ราคายางมีเสถียรภาพมากขึ้น เนื่องจากการลดปัจจัยกดดันราคายาง ซึ่งจะเห็นได้ว่าภายหลังการระบายยาง ทำให้ราคายางปรับตัวในทิศทางบวกมากขึ้น รวมทั้งเป็นการเพิ่มปริมาณการซื้อยางภายในประเทศจากเงื่อนไขที่ผู้ชนะต้องมีการซื้อยางเพิ่มขึ้น 104,763 ตัน

ด้านประโยชน์ต่อประเทศ คือ รัฐบาลได้เสริมสภาพคล่องจากการชำระคืนเงินต้นจำนวน 3,904 ล้านบาท และลดภาระรัฐบาลในการชดเชยอัตราดอกเบี้ย และค่าใช้จ่ายต่างๆ ประมาณปีละ 33 ล้านบาท รวมถึงเป็นการประหยัดงบประมาณในการรักษาเสถียรภาพราคายาง

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (03 ก.ย. 64)

Tags: , ,
Back to Top