กอนช.เตรียมพิจารณาแผนป้องกันน้ำท่วมพื้นที่เศรษฐกิจ-นิคมฯ หวันซ้ำรอยบางปู

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดเผยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญเกี่ยวกับการวางระบบบริหารจัดการน้ำ จุดเชื่อมต่อต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ โดยเฉพาะนิคมอุตสาหกรรมที่เคยประสบปัญหาน้ำท่วมในอดีตหลายแห่ง ทั้งในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา กรุงเทพมหานคร และสมุทรปราการ

โดยได้สั่งการให้ กอนช.ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าการเตรียมแผนรับมือของการนิคมอุตสาหกรรม รวมถึงความพร้อมของหน่วยงานเกี่ยวข้องในเรื่องระบบการระบายน้ำให้สอดรับจากตะวันออกตอนบนระบายสู่ทะเล การแก้ไขปัญหาสิ่งกีดขวางทางน้ำที่จะเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในฤดูฝนนี้ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคกลางซึ่งมีความเสี่ยงได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ฝนในช่วงนี้ที่จะเริ่มมีความเข้มข้นมากขึ้น ตั้งแต่กลางเดือนนี้ต่อเนื่องไปจนถึงเดือน ต.ค.นี้

โดยขณะนี้หน่วยงานเกี่ยวข้องมีแผนดำเนินงานโครงการที่จะเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในพื้นที่เศรษฐกิจ และนิคมอุตสาหกรรมที่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำให้เร็วขึ้น ซึ่งจะเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) พิจารณาในวันที่ 10 ก.ย.นี้ เพื่อเร่งรัดแผนงานโครงการต่างๆ ให้สามารถดำเนินการโดยเร็ว ทั้งการตัดยอดน้ำจากพื้นตอนบนเบนไปทิศทางอื่น ไม่ให้ปริมาณน้ำมากระทบกับพื้นที่เศรษฐกิจด้านล่าง การเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำสู่คลองระบายน้ำสุวรรณภูมิและอ่าวไทย โดยเฉพาะพื้นที่สนามบินสุวรรณภูมิที่ถือว่าเป็นจุดเสี่ยงเนื่องจากเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ การแก้ไขสิ่งกีดขวางทางน้ำ การวางระบบท่อลอดใต้ถนน (pipe jacking) เขื่อนป้องกันตลิ่ง การขุดลอกคลอง เป็นต้น

สำหรับแผนป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมบางปูเร่งด่วนเฉพาะหน้า ที่ยังอาจจะมีความเสี่ยงได้รับผลกระทบกรณีหากฝนตกในพื้นที่ติดต่อกัน 100 มม./ชม. การนิคมฯ ได้ดำเนินการกำหนดจุดติดตั้งสถานีสูบน้ำสำรวจชั่วคราว เพื่อเร่งสูบน้ำออกจากนิคมฯ ในกรณีวิกฤติ โดยกรมชลประทานเตรียมเตรียมแผนพร่องน้ำในลำคลองต่างๆ ลงในช่วงที่คาดว่าจะเกิดฝนตกหนักขึ้น เพื่อให้มีพื้นที่เพียงพอรับน้ำเพื่อระบายลงสู่ทะเล แต่ทั้งนี้ ก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยการหนุนของน้ำทะเลในแต่ละช่วงเวลา เพื่อบังคับการเปิดบานประตูระบายน้ำไม่ให้น้ำทะเลไหลย้อนเข้ามาซ้ำเติมด้วยเช่นกัน ขยายทางระบายน้ำมีรองรับ มีประตูปิดเปิดเพื่อจัดจราจรน้ำได้ มีปั๊มสูบออกให้ต่อเนื่อง เป็นต้น

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 ก.ย. 64)

Tags: , , , , , , , ,
Back to Top