SCB EIC หั่นคาดการณ์ GDP ปีนี้เหลือโต 0.7% ก่อนฟื้นโต 3.4% ในปี 65

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 64 เหลือโต 0.7% จากเดิม 0.9% ตามการระบาดโควิด-19 ในประเทศระลอกสามที่รุนแรงและยืดเยื้อ ส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายภาคเอกชนและการท่องเที่ยวมากกว่าคาด

ส่วนปี 65 คาดว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวมาเติบโตราว 3.4% ตามความคืบหน้าในการฉีดวัคซีน แต่ถือเป็นการฟื้นตัวอย่างช้า ๆ เนื่องจากผลของแผลเป็นทางเศรษฐกิจยังเป็นอุปสรรคสำคัญ

นายยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มงาน Economic Intelligence Center SCB EIC ระบุว่า การปรับลดประมาณการเศรษฐกิจปี 2564 เหลือ 0.7% จากเดิมที่คาดไว้ที่ 0.9% มีสาเหตุหลักจากผลการระบาดในประเทศระลอกที่สามที่รุนแรงและยืดเยื้อ ส่งผลให้การบริโภคภาคเอกชนได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก รวมถึงจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติน้อยกว่าคาด โดยได้ปรับลดคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวเหลือ 1.7 แสนคน (เดิมคาด 3 แสนคน) จากความกังวลของสถานการณ์ระบาดในประเทศ

ทั้งนี้ คาดว่าสถานการณ์จะทยอยปรับดีขึ้นในช่วงต้นไตรมาส 4 ปีนี้ จากอัตราการฉีดวัคซีนครบโดสของประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งจะส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นและการฟื้นตัวของกิจกรรมเศรษฐกิจในประเทศ

ขณะที่มูลค่าการส่งออกสินค้าในปีนี้ จะขยายตัวได้ 15% โดยการส่งออกยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง แต่คาดว่าในช่วงที่เหลือของปี จะมีทิศทางชะลอลงบ้างทั้งจากฐานที่ปรับสูงขึ้น และผลกระทบของการระบาดสายพันธุ์เดลตาทั่วโลกที่ทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวและเกิด Supply disruption ในหลายห่วงโซ่การผลิตของภาคอุตสาหกรรมของไทยและกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในอาเซียน

ในส่วนของภาครัฐ ยังมีการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าเศรษฐกิจต่อเนื่อง ทั้งจากการใช้จ่ายอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาครัฐ รวมถึงมาตรการพยุงเศรษฐกิจหลายประเภท อย่างไรก็ตาม มาตรการที่ออกมาล่าสุดยังไม่เพียงพอทั้งในมิติเชิงพื้นที่ ระยะเวลา และจำนวนเงิน โดย EIC คาดว่าภาครัฐจะออกมาตรการพยุงเศรษฐกิจเพิ่มเติมในปีนี้ โดยจะเป็นการใช้เม็ดเงินในส่วนที่เหลือจาก พ.ร.ก. กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท และเพิ่มเติมอีก 2 แสนล้านบาท จาก พ.ร.ก. กู้เงิน 5 แสนล้านบาท

“มาตรการภาครัฐที่ช่วยเหลือเยียวยาประชาชน และภาคธุรกิจในช่วงการระบาดที่ยืดเยื้อและรุนแรงในรอบที่ 3 นี้ หากเทียบแล้วยังใช้เม็ดเงินน้อยกว่าช่วงการระบาดรอบแรก และรอบสอง…ยังมี room ที่ภาครัฐจะใช้จ่ายเพิ่มเติมได้ โดย พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ที่คาดว่าจะนำมาใช้ในปีนี้ 2 แสนล้านบาท และที่เหลือปีหน้าอีก 3 แสนล้านบาทนั้น ไม่ตอบโจทย์เพียงพอสำหรับการเยียวยา ฟื้นฟู และปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ” นายยรรยงกล่าว

อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยปีนี้ ยังมีโอกาสที่จะเติบโตต่ำกว่าระดับที่คาดการณ์ไว้ที่ 0.7% ได้ หากการระบาดโควิดกลับมารุนแรงอีกครั้งในช่วงไตรมาส 4 นี้ จนทำให้รัฐบาลต้องกลับไปใช้มาตรการควบคุมโรคที่เข้มงวดมากขึ้น นอกจากนี้ หากการใช้จ่ายของภาครัฐตาม พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ในปีนี้ทำได้น้อยกว่า 2 แสนล้านบาท ก็อาจจะทำให้เศรษฐกิจไทยปีนี้มีโอกาสหดตัว -0.5% ได้

สำหรับการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในอนาคตนั้น โดยกว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับไปอยู่เท่ากับปี 2562 จะต้องรอถึงช่วงกลางปี 2566 ดังนั้น ภาครัฐจึงควรพิจารณากู้เงินเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนการฟื้นฟูและการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทย โดยแม้ระดับหนี้สาธารณะจะปรับสูงขึ้นกว่าเพดานหนี้ที่ 60% ต่อ GDP แต่ยังอยู่ในวิสัยที่ภาครัฐจะสามารถบริหารจัดการได้ในภาวะดอกเบี้ยต่ำ และสภาพคล่องในประเทศที่อยู่ในระดับสูง โดยภาครัฐต้องสื่อสารถึงแผนการลดระดับหนี้ในระยะปานกลางที่น่าเชื่อถือ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อเสถียรภาพการคลัง

“รัฐบาลอาจมีความจำเป็นต้องกู้เงินเพิ่มเติมได้อีก 5 แสน-1 ล้านล้านบาท เพื่อมาใช้เยียวยา ฟื้นฟู และปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งการกู้เงินเพิ่มในระดับดังกล่าว อาจทำให้หนี้สาธารณะขึ้นไปที่ 69% สูงกว่าเพดานที่กำหนดไว้ที่ 60% ต่อจีดีพี แต่มองว่าผลลัพธ์ที่ได้น่าจะเป็นประโยชน์มากกว่า” นายยรรยง กล่าว

ด้านนโยบายการเงิน คาดว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% ตลอดปี 2564 และ 2565 เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะให้น้ำหนักกับการเพิ่มประสิทธิภาพการส่งผ่านนโยบายการเงินผ่านมาตรการทางการเงินต่าง ๆ เพื่อกระจายสภาพคล่องไปยังภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ SME ให้มากขึ้น ควบคู่กับการสนับสนุนการปรับโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงินให้สอดคล้องกับปัญหาของลูกหนี้แต่ละกลุ่มมากยิ่งขึ้น รวมทั้งพิจารณาเข้าดูแลอัตราดอกเบี้ยในตลาดการเงินหากเกิดความผันผวนตามภาวะการเงินโลกที่อาจตึงตัวขึ้น

อย่างไรก็ดี ยังมีโอกาส 20-30% ที่กนง.จะลดดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้ โดยขึ้นอยู่กับการแพร่ระบาดโควิด และอัตราการฉีดวัคซีนที่อาจล่าช้ากว่า คาดจนทำให้เศรษฐกิจกลับมาหดตัวอีกครั้ง

“EIC คาดว่า ธปท. จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.5% ตลอดปี 2564 และปี 2565 หากการแพร่ระบาดไม่กลับมารุนแรงขึ้นมากในไตรมาสที่ 4 ปีนี้ โดย กนง.น่าจะต้องการเก็บ policy space ไว้ใช้ยามจำเป็นที่เศรษฐกิจไทยกลับมาหดตัว และถึงแม้ว่าการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย จะช่วยลดภาระการชำระหนี้ลง แต่จะมีผลกระตุ้นเศรษฐกิจค่อนข้างจำกัด นอกจากนี้ ดอกเบี้ยที่ลดต่ำลงอีก อาจทำให้ประชาชนที่พึ่งพารายรับจากดอกเบี้ยเงินฝากต้องหันมาออมเงินมากขึ้น และลดการใช้จ่ายลง อีกทั้งยังเป็นการสะสมความเปราะบางต่อเสถียรภาพการเงินไทยในระยะยาวอีกด้วย ” นายยรรยง กล่าว

ทั้งนี้ ภาวะการเงินโดยรวมของไทยยังคงอยู่ในระดับผ่อนคลายจากการที่ ธปท. คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ภายใต้แนวโน้มเงินเฟ้อที่แม้จะสูงขึ้นจากปีก่อนหน้าตามราคาน้ำมันแต่จะยังอยู่ในระดับต่ำ (คาดเงินเฟ้อทั่วไปปี 2564 อยู่ที่ 0.9% และปี 2565 อยู่ที่ 1%) อย่างไรก็ดี อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวของไทยในปีนี้ปรับสูงขึ้นตามอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ส่งผลให้ต้นทุนการระดมทุนของทั้งภาคธุรกิจและภาครัฐปรับสูงขึ้นตามไปด้วย โดยเฉพาะธุรกิจที่มีความเสี่ยงด้านเครดิตสูงได้รับผลกระทบมากกว่า สะท้อนจาก credit spread ที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ในระยะต่อไป

สำหรับค่าเงินบาท ณ สิ้นปี 2564 EIC คาดว่ามีแนวโน้มอยู่ในช่วง 32.50-33.00 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยเงินบาทกลับมาแข็งค่าเล็กน้อยในเดือนที่ผ่านมา จากความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่ปรับดีขึ้นตามสถานการณ์การติดเชื้อในประเทศที่ลดลง ทำให้มีเงินทุนเคลื่อนย้ายไหลกลับเข้าสู่ตลาดการเงินไทย สำหรับในช่วงที่เหลือของปี เงินบาทมีแนวโน้มอ่อนตัวเล็กน้อยอยู่ในช่วง 32.50-33.00 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากดุลบัญชีเดินสะพัดจะยังขาดดุลอยู่มากจากอัตราค่าระวางสินค้า (Freight) ในระดับสูง และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะฟื้นตัวช้า อีกทั้ง ยังมีความเสี่ยงที่จำนวนผู้ติดเชื้ออาจกลับมาสูงขึ้นอีกได้หลังมีการเปิดเมืองมากขึ้น

สำหรับแนวโน้มเงินบาทในปี 2565 คาดว่าอาจกลับมาแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยที่ 32-33 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจาก 1) เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นตามแนวโน้มการเปิดเมืองหลังมีการฉีดวัคซีนได้มากขึ้น 2) ดุลบัญชีเดินสะพัดคาดว่าจะขาดดุลลดลง (คาดขาดดุล 0.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จากปีนี้ขาดดุลที่ 10.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) จากการทยอยเปิดรับนักท่องเที่ยว และค่าระวางสินค้าที่จะทยอยลดลง และ 3) เงินดอลลาร์สหรัฐมีแนวโน้มอ่อนค่าลง จากการแพร่ระบาดที่โน้มลดลง ทำให้เศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะกลุ่มประเทศเกิดใหม่มีแนวโน้มฟื้นตัวชัดเจนขึ้น ทำให้มีเงินไหลกลับเข้าประเทศกำลังพัฒนามากขึ้น

นายยรรยง กล่าวว่า สำหรับปี 2565 EIC คาดเศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ที่ 3.4% จากการฟื้นตัวจากทั้งอุปสงค์ภายในและนอกประเทศ ตามความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนที่มากขึ้น โดยอัตราการฉีดวัคซีนที่มากขึ้นทั่วโลกในปีหน้าจะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาที่เศรษฐกิจจะฟื้นตัวเร่งขึ้นจากปีก่อน ซึ่งทำให้การส่งออกไทยยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องแต่ในอัตราที่ชะลอลงมาที่ 4.7% นอกจากนี้ ภาคท่องเที่ยวระหว่างประเทศก็มีแนวโน้มฟื้นตัวเช่นกัน โดยคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไทยเพิ่มขึ้นเป็น 6.3 ล้านคน

ด้านเศรษฐกิจในประเทศ มีแนวโน้มฟื้นตัวเช่นกันจากอัตราการฉีดวัคซีนที่คืบหน้า โดยในช่วงไตรมาสแรกปี 2565 อาจมีผู้ได้รับวัคซีนครบโดสถึง 70-80% ของประชากร ซึ่งส่งผลดีต่อการฟื้นตัวของกิจกรรมเศรษฐกิจ สำหรับภาครัฐ แม้การใช้จ่ายบริโภคจะมีแนวโน้มหดตัวตามกรอบงบประมาณที่ลดลง แต่การลงทุนภาครัฐยังมีแนวโน้มขยายตัวจากเงินลงทุนของรัฐวิสาหกิจในโครงการเมกะโปรเจกต์และอัตราเบิกจ่ายปี 2564 ที่ต่ำจากมาตรการปิดแคมป์คนงานที่จะกลับมาเร่งตัวในปีหน้า นอกจากนี้ ยังคาดว่าภาครัฐจะใช้เงินที่เหลือราว 3 แสนล้านบาทจาก พ.ร.ก. กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจเพิ่มเติมในปี 2565

ทั้งนี้ แม้เศรษฐกิจไทยจะเริ่มฟื้นตัวได้ในปี 2565 แต่ก็จะเป็นการฟื้นตัวแบบช้า ๆ เนื่องจากผลของแผลเป็นเศรษฐกิจที่สำคัญ 3 ตัว คือ 1.แผลเป็นในภาคธุรกิจ 2.แผลเป็นในตลาดแรงงาน และ 3.แผลเป็นจากหนี้สิน โดยแผลเป็นในภาคธุรกิจ ที่การเปิดกิจการยังมีการหดตัวสูงเมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิด-19 โดยเฉพาะกลุ่มโรงแรม ยานยนต์ และอสังหาริมทรัพย์ ขณะที่กิจการที่เปิดใหม่ในระยะหลังมักมีขนาดเล็กและอยู่ในสาขาที่มีการลงทุนน้อยกว่า

นอกจากนี้ แผลเป็นยังเกิดขึ้นในตลาดแรงงาน สะท้อนจากอัตราการว่างงานช่วงครึ่งแรกของปี 2564 ที่อยู่ในระดับสูงต่อเนื่องที่ราว 1.9% เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวจากในช่วงก่อนโควิด-19 โดยสภาวะตลาดแรงงานที่ซบเซานี้ จะบั่นทอนความสามารถของภาคครัวเรือนในการหารายได้และการบริหารจัดการหนี้ที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งคาดว่าน่าจะยังเป็นหนึ่งในภาระหนักของภาคครัวเรือนไทยต่อเนื่องในระยะปานกลางดังนั้น ภาครัฐควรพิจารณากู้เงินเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจเพิ่มเติมเพื่อลดขนาด Output loss และแผลเป็นเศรษฐกิจเพื่อไม่ให้กระทบศักยภาพของเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 ก.ย. 64)

Tags: , , , , , ,
Back to Top