พล.อ.ประวิตร ห่วงผลกระทบลานีญา สั่งสทนช.พร้อมรับน้ำหลากภาคใต้ก่อนฤดูมรสุม

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยในโอกาสลงพื้นที่หารือร่วมกับนายขจรศักดิ์ เจริญโสภา ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือฤดูฝนในพื้นที่ภาคใต้ ปี 2564 ณ โครงการระบบระบายน้ำแม่น้ำตรัง จ.ตรัง เพื่อติดตามความก้าวหน้าผลการดำเนินงานตาม 10 มาตรการรับมือฤดูฝน ตามข้อสั่งการ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ซึ่งมีข้อห่วงใยต่อสถานการณ์น้ำหลากในพื้นที่ภาคใต้ ตามที่มีสัญญาณของปรากฏการณ์ลานีญาอ่อนๆ ในช่วงปลายปี โดยกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านน้ำภายใต้ กอนช.ติดตามสภาพอากาศ และประเมินแนวโน้มสถานการณ์น้ำ ปริมาณฝน และพายุอย่างใกล้ชิด รวมถึงวางแผนบริหารจัดการน้ำอย่างรอบคอบ เพื่อป้องกันและลดผลกระทบให้กับประชาชนล่วงหน้า ก่อนที่ภาคใต้จะเริ่มเข้าสู่ฤดูมรสุมในช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม

ซึ่งจากการติดตามสถานการณ์น้ำในแม่น้ำตรัง ขณะนี้ยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ ระดับยังต่ำกว่าตลิ่งทุกสถานี ขณะที่แหล่งน้ำใน จ.ตรัง มีความจุเก็บกักรวม 29.62 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ปัจจุบันมีปริมาณน้ำรวม 24.35 ล้าน ลบ.ม. แบ่งเป็น แหล่งน้ำขนาดกลาง 2 แห่ง แหล่งน้ำขนาดเล็ก 150 แห่ง โดยขณะนี้ยังไม่มีอ่างเก็บน้ำที่มีความเสี่ยงน้ำมากแต่อย่างใด แต่ก็ต้องไม่ประมาทและต้องบริหารจัดการน้ำเพื่อรองรับปริมาณฝนที่ตกลงมาเพิ่มขึ้นในช่วงวันที่ 25-27 ก.ย. 64 มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง และในช่วง 1-3 เดือนข้างหน้าด้วย

“รองนายกรัฐมนตรี ได้กำชับให้หน่วยงานเกี่ยวข้องเร่งกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ ทั้งที่เป็นสิ่งก่อสร้างและไม่ใช่สิ่งก่อสร้าง เร่งขุดลอกคูคลอง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ รวมทั้งการพร่องน้ำในคูคลองและอ่างเก็บน้ำให้มีที่ว่างพอสำหรับการรับน้ำหลาก นอกจากนี้ยังให้มีการเตรียมความพร้อมเครื่องจักรเครื่องมือ เช่น เครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ รถขุด เรือขุด การจัดเตรียมระบบโทรมาตรไว้คอยเฝ้าระวังแจ้งเตือนภัยให้ประชาชนทราบล่วงหน้า เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์น้ำได้อย่างทันท่วงที” นายสมเกียรติ กล่าว

สำหรับการเตรียมการรับมือน้ำหลากในช่วงฤดูฝนนี้ของโครงการระบบระบายน้ำแม่น้ำตรัง ประกอบด้วย ระบบคลองผันน้ำ ประตูระบายน้ำ และอาคารประกอบ ปัจจุบันโครงการจะมีความคืบหน้าประมาณ 60.45% แต่ในช่วงฤดูฝนนี้ กรมชลประทานได้เตรียมทำการระบายน้ำผ่านคลองผันน้ำเมื่อปริมาณน้ำในแม่น้ำตรังมากกว่า 300 ลบ.ม./วินาที พร้อมติดตั้งเครื่องสูบน้ำบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำที่ติดอยู่กับแนวคลองผันน้ำ กรณีที่ปริมาณน้ำมากหรือน้ำล้นตลิ่ง เพื่อปกป้องน้ำท่วมเขตเมืองตรัง ต.หนองตรุด ต.บางรัก ต.นาโตะหมิง ซึ่งที่ผ่านมาเกิดปัญหาอุทกภัยสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนในเขตชุมชนเมืองและพื้นที่ข้างเคียง เป็นประจำเกือบทุกปี

อย่างไรก็ตาม เมื่อโครงการระบบระบายน้ำแม่น้ำตรังแล้วเสร็จประมาณปี 65 กรมชลประทาน ได้ออกแบบไว้รองรับวิกฤติในอนาคต โดยสามารถรองรับการระบายน้ำได้ถึง 750 ลบ.ม./วินาที จากสถิติที่ต้องระบายน้ำสูงสุด 400 ลบ.ม./วินาที ก็จะบรรเทาอุทกภัย 3 ตำบลในเขตเมืองตรังเป็นพื้นที่กว่า 10,000 ไร่ได้อย่างยั่งยืน โดยสามารถนำน้ำที่เก็บกักไว้ไปใช้เพื่อการอุปโภคบริโภคและการเกษตรในช่วงฤดูแล้งกว่า 3,000 ไร่ อีกทั้งยังเป็นแหล่งน้ำต้นทุนในการผลักดันการรุกตัวของน้ำเค็ม เพื่อรักษาระบบนิเวศ และช่วยผลิตน้ำประปาได้ปีละประมาณ 1.74 ล้าน ลบ.ม.ด้วย

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 ก.ย. 64)

Tags: , , , , ,
Back to Top