รมว.คลัง หวังมาตรการภาครัฐหนุน GDP ปีนี้โต 1.3% ก่อนฟื้นเป็น 4-5% ในปี 65

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวปาฐกถาในงาน “Sustainable Thailand 2021” ว่า จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลทำให้เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบ ซึ่งรัฐบาลพยายามควบคุมการแพร่ระบาด และนำนโยบายการเงินการคลังมาช่วยภาคธุรกิจและแรงงาน ทั้งโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ และรักษาการบริโภคในประเทศ ซึ่งได้ให้ความช่วยเหลือมาอย่างต่อเนื่อง โดยเชื่อว่าเศรษฐกิจของไทยในปี 2564 จะเติบโตอยู่ในระดับ 1.3% และในปี 2565 จะพยายามรักษาระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจในอยู่ที่ระดับ 4-5%

ทั้งนี้ ในระยะต่อไปภายหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย รัฐบาลวางแผนในการฟื้นฟูเศรษฐกิจผ่านการใช้นโยบายการคลังอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างยั่งยืน โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ซึ่งจะมีการเปิดตัวในเร็ว ๆ นี้ ซึ่งในแผนดังกล่าวจะมีการวางแนวทางสำหรับประเทศไทยในการเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน

“เศรษฐกิจไทยกำลังรับมือกับโควิด-19 โดยที่ผ่านมา รัฐบาลพยายามออกมาตรการเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจผ่าน 2-3 มาตรการ อาทิ การเพิ่มรายได้ให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบ ทั้งภาคธุรกิจและประชาชน การจัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เพื่อให้หลายส่วนมีรายได้มากขึ้น และการวางนโยบายการคลังเพื่อช่วยเหลืออย่างฉุกเฉิน ควบคู่กับการเร่งกระจายวัคซีน ซึ่งคาดว่าจะช่วยให้เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวได้อีกครั้ง และเดินหน้าสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต” นายอาคม กล่าว

สำหรับการฟื้นตัวระยะยาว ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนมีความสำคัญ ซึ่งประกอบด้วย 6 แนวทางสำคัญ คือ

1. การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อรองรับการฟื้นตัวอย่างยั่งยืนในระยะยาว โดยการเน้นโมเดลเศรษฐกิจใหม่ (BCG Economy Model) ซึ่งสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลได้ดำเนินการผ่านการออกพันธบัตรรัฐบาลเพื่อความยั่งยืน (Sustainability Bond) และการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า (EV)

2. การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจสู่อุตสาหกรรมใหม่ 12 เป้าหมาย รวมถึงการสนับสนุนการลงทุนใน EEC ที่ในอนาคตจะเป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตและเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศไทย

3. การสนับสนุนเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งภาครัฐและภาคเอกชนต้องให้ความสำคัญต่อการเปลี่ยนผ่านสู่โลกดิจิทัล โดยรัฐบาลจะให้ความช่วยเหลือด้านระบบ e-Tax หรือการทำธุรกรรมกับรัฐวิสาหกิจ เพื่อลดต้นทุนจากธุรกรรมเงินสด

4. การให้ความสำคัญในการสร้างเครือข่ายรับรองทางสังคม โดยพลเมืองทุกคนควรได้รับการดูแลอย่างเท่าเทียม

5. การลดความเหลื่อมล้ำและการแก้ปัญหาความยากจน โดยการวางนโยบายด้านเศรษฐกิจเพื่อพัฒนาระบบสวัสดิการต่าง ๆ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากรในประเทศ การเร่งกระจายรายได้

6. บทบาทของตลาดทุนและตลาดเงิน ซึ่งจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการจัดการทรัพยากรทางการเงินในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะภาคการเงินสีเขียว (Green Finance) ที่รองรับธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม เพื่อนำไปสู่การพัฒนาของเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนในอนาคต

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 ก.ย. 64)

Tags: , , , , , , ,
Back to Top