ทริสฯ คงเครดิตองค์กร-หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิฯ TU ที่ A+ และ Hybrid Debentures ที่ A-

ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป (TU) ที่ระดับ “A+” และคงอันดับเครดิตหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน ซึ่งไม่มีประกันและไถ่ถอนเมื่อเลิกบริษัท (Hybrid Debentures) ของบริษัทที่ระดับ “A-” และปรับแนวโน้มอันดับเครดิตเป็น “Positive” หรือ “บวก” จาก “Stable” หรือ “คงที่”

อันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะทางการตลาดที่เข้มแข็งของบริษัทในฐานะผู้ผลิตอาหารทะเลแปรรูปชั้นนำของโลก รวมถึงการมีสินค้าและตลาดที่หลากหลาย และตราสัญลักษณ์สินค้าที่เป็นที่รู้จักทั้งในทวีปยุโรปและประเทศสหรัฐอเมริกา ตลอดจนลักษณะของธุรกิจที่คู่แข่งรายใหม่เข้ามาได้ยากเนื่องจากมีโควต้าการจับปลาและต้องอาศัยเงินลงทุนจำนวนมาก

นอกจากนี้ การประเมินอันดับเครดิตยังพิจารณาถึงผลกระทบจากการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ และความไม่แน่นอนอันเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19)

การปรับแนวโน้มอันดับเครดิต สะท้อนถึงสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งขึ้นของบริษัท จากอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินและอัตรากำไรต่อยอดขายที่ดีขึ้น อันเป็นผลมาจากกลยุทธ์ของบริษัทที่มุ่งเน้นการผลิตสินค้าที่มีนวัตกรรมและสินค้าที่เพิ่มมูลค่า ตลอดจนการเพิ่มประสิทธิภาพและการลดต้นทุนในกระบวนการผลิต

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

– ผลประกอบการที่แข็งแกร่ง ผลการดำเนินงานของบริษัทปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 อันเป็นผลมาจากการฟื้นตัวของธุรกิจอาหารทะเลแช่แข็งและแช่เย็น ตลอดจนผลการดำเนินงานที่ดีของธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงและผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่า

ความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายหลังการเปิดเมือง โดยเฉพาะในประเทศสหรัฐอเมริกาและทวีปยุโรป ส่งผลให้ธุรกิจอาหารทะเลแช่แข็งและแช่เย็นของบริษัทฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งจากระดับต่ำสุดในปี 2563 นอกจากนี้ ธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงและผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่ายังคงมีอัตราการเติบโตของรายได้และกำไรที่ดีอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลมาจากแนวโน้มการเติบโตที่เพิ่มขึ้นของธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง และการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ของบริษัท

ในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 บริษัทมีรายได้จากการดำเนินงานรวมเพิ่มขึ้น 4.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยมาอยู่ที่ระดับ 6.7 หมื่นล้านบาท ในขณะที่กำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทเพิ่มขึ้น 16.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมาอยู่ที่ระดับ 7.8 พันล้านบาท อัตรากำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 11.5% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 จากระดับ 7%-10% ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะยังคงมีผลประกอบการที่ดี แม้ว่าจะเผชิญความไม่แน่นอนในหลายด้าน ทั้งนี้ กลยุทธ์ของบริษัทที่มุ่งเน้นการผลิตสินค้าที่มีนวัตกรรม และสินค้าเพิ่มมูลค่าที่มีอัตรากำไรที่ดี ซึ่งบริษัทมีแผนจะออกจำหน่ายหลายรายการในอนาคต ตลอดจนกลยุทธ์ที่มุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตและการลดต้นทุน รวมทั้งภาวะเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้นภายหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 นั้นน่าจะช่วยให้ผลการดำเนินงานของบริษัทมีความมั่นคงได้ในระยะ 2-3 ปีข้างหน้า

– ผลประกอบการที่ฟื้นตัวของ “Red Lobster” ผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหารในประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งบริษัทมีสัดส่วนการลงทุน 49% ประกอบด้วยการลงทุนในหุ้นสามัญจำนวน 25% ของหน่วยลงทุนที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด และอีกจำนวน 24% เป็นการลงทุนในหุ้นบุริมสิทธิที่แปลงสภาพได้คิดเป็นมูลค่า 345 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งนี้ ธุรกิจของ Red Lobster ได้รับผลกระทบอย่างมากจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 และมาตรการปิดเมืองในปี 2563

ในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 ผลการดำเนินงานของ Red Lobster ปรับตัวดีขึ้นจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจของประเทศสหรัฐฯ ตลอดจนการปรับตัวของบริษัทในด้านสินค้าและบริการ รวมทั้งความพยายามในการลดต้นทุน ปัจจุบันร้านอาหารทุกแห่งของ Red Lobster สามารถกลับมาเปิดให้บริการภายในร้านได้และมียอดขายจากการให้บริการส่งอาหารเติบโตเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่าของช่วงก่อนการระบาดของโรคโควิด19 ส่งผลให้บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป มีผลขาดทุนจากการลงทุนในบริษัทร่วมลดลง

โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 บริษัทมีผลขาดทุนจากการลงทุนในบริษัทร่วมจำนวน 105 ล้านบาท ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับผลขาดทุนจำนวน 597 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปี 2563 ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าผลการดำเนินงานของ Red Lobster จะค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้น แต่ยังคงต้องใช้เวลาในการดึงดูดลูกค้าให้เข้าร้านมากขึ้น ตลอดจนการปรับปรุงอัตรากำไรจากการดำเนินงานให้ดีขึ้นจนแตะระดับจุดคุ้มทุน

– โครงสร้างทางการเงินปรับตัวดีขึ้น โดยโครงสร้างทางการเงินและอัตราส่วนภาระหนี้สินของบริษัทปรับตัวดีขึ้นจากผลประกอบการที่แข็งแกร่งของธุรกิจหลัก ตลอดจนนโยบายชะลอการลงทุนในช่วงที่มีภาวะโรคระบาดที่ผ่านมา อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนลดลงมาอยู่ที่ระดับ 52.3% ณ สิ้นปี 2563 และระดับ 53.1% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2564 ปรับตัวดีขึ้นจากระดับ 55%-60% ในปี 2560-2562 อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินสุทธิต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 4.2 เท่าในปี 2563 และช่วงครึ่งแรกของปี 2564 จากระดับ 6-7 เท่าในช่วงปี 2560-2562

ในอนาคตข้างหน้า ทริสเรทติ้งคาดว่าภาระหนี้ของบริษัทจะค่อย ๆ ปรับลดลงเนื่องจากบริษัทไม่มีแผนการลงทุนซื้อกิจการขนาดใหญ่ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า นอกจากนี้ ผลการดำเนินงานของบริษัทคาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นจากการที่มีสัดส่วนรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากสินค้าที่มีนวัตกรรม ซึ่งมีอัตรากำไรที่ดี ตลอดจนการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานของบริษัท นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนปรับปรุงสถานะทางการเงินโดยจะนำบริษัทย่อย 2 แห่งคือ บริษัทที่ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายอาหารสัตว์น้ำ และบริษัทที่ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายอาหารสัตว์เลี้ยง เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยอีกด้วย

ทั้งนี้ สมมติฐานพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดว่า บริษัทจะใช้งบลงทุนประมาณ 5.0-5.5 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2564-2566 ทริสเรทติ้งประมาณการว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทจะเพิ่มขึ้นกลับมาอยู่ที่ระดับ 3.8-4.2 เท่าในระหว่างปี 2564-2566 ในขณะที่อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนคาดว่าจะอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 50%

– การมีผลิตภัณฑ์อาหารทะเลที่หลากหลาย บริษัทเป็นผู้ผลิตปลาทูน่าบรรจุกระป๋องรายใหญ่ที่สุดในโลกโดยมีปริมาณการผลิตประมาณ 570,000 ตันต่อปี ซึ่งคิดเป็นประมาณ 1 ใน 5 ของผลิตภัณฑ์ปลาทูน่าบรรจุกระป๋องทั่วโลก นอกจากนี้ บริษัทยังเป็นหนึ่งในผู้นำในกลุ่มผู้ผลิตอาหารทะเลระดับโลกอีกด้วย โดยนอกเหนือจากปลาทูน่าซึ่งเป็นสินค้าที่สร้างรายได้หลักในสัดส่วน 36% ของยอดขายรวมของบริษัทในปี 2563 แล้ว สินค้าอาหารทะเลของบริษัทยังประกอบไปด้วย กุ้งและสินค้าที่เกี่ยวข้อง (26%) อาหารสัตว์เลี้ยง (9%) ปลาซาร์ดีนและปลาแมคเคอร์เรล (8%) ปลาแซลมอน (7%) รวมทั้งสินค้าเพิ่มมูลค่าและสินค้าอื่น ๆ (13%) ด้วย

การมีฐานการผลิตขนาดใหญ่ส่งผลให้บริษัทมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่าและมีอำนาจในการต่อรองกับผู้จัดจำหน่ายวัตถุดิบที่เหนือกว่าผู้ผลิตรายเล็ก ทั้งนี้ ความสามารถในการแข่งขันของบริษัทยังเพิ่มขึ้นจากความสามารถในการใช้ผลผลิตพลอยได้ เช่น การนำก้าง หนัง และหัวปลามาใช้ในการผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น ได้แก่ น้ำมันปลาทูน่า และผลิตภัณฑ์ใหม่ที่บริษัทได้รับสิทธิบัตรคือ แคลเซียมจากปลาทูน่าอีกด้วย

– การกระจายตัวทางภูมิศาสตร์ ทั้งในด้านฐานการผลิตและตลาดช่วยลดทอนความเสี่ยงทางธุรกิจของบริษัทลงได้บางส่วน โดยบริษัทมีฐานการผลิตที่กระจายตัวอยู่ใน 14 ประเทศซึ่งครอบคลุม 4 ทวีป นอกจากนี้ บริษัทยังมีการกระจายตัวของแหล่งรายได้ด้วยเช่นกัน โดยรายได้จากทวีปอเมริกาเหนือซึ่งเป็นตลาดหลักของบริษัทคิดเป็นสัดส่วน 43% ของรายได้รวมในปี 2563 รองลงมาคือตลาดยุโรป 29% ประเทศไทย 10% และประเทศญี่ปุ่น 5% ความพยายามอย่างต่อเนื่องของบริษัทในการกระจายตัวทางภูมิศาสตร์จะช่วยลดผลกระทบที่อาจเกิดจากโรคระบาด ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงด้านกฎระเบียบทางการค้า และกฎเกณฑ์การจับปลาทั่วโลกได้ในระดับหนึ่ง

– สภาพคล่องเพียงพอ ทริสเรทติ้งมองว่าบริษัทมีสภาพคล่องที่เพียงพอ โดยในช่วง 12 เดือนข้างหน้าบริษัทจะมีหนี้สินทางการเงินที่ครบกำหนดชำระประมาณ 2.1 หมื่นล้านบาท แหล่งที่มาของเงินทุนในการชำระหนี้โดยหลัก ๆ จะมาจากเงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทประมาณปีละ 1.1 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ สภาพคล่องของบริษัทยังมาจากเงินสดประมาณ 6.5 พันล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2564 ตลอดจนวงเงินกู้ที่ยังไม่ได้เบิกใช้ประมาณ 5 พันล้านบาทที่บริษัทมีกับสถาบันทางการเงินอีกหลายแห่ง

สมมติฐานกรณีพื้นฐาน

– รายได้จากการดำเนินงานจะเพิ่มขึ้น 2%-4% ในช่วงปี 2564-2566

– อัตรากำไรขั้นต้นจะอยู่ในช่วงระหว่าง 17%-18% ในขณะที่อัตรากำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้จะอยู่ที่ระดับประมาณ 9%-10%

– ค่าใช้จ่ายลงทุนโดยรวมจะอยู่ที่ระดับ 5.0-5.5 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2564-2566

แนวโน้มอันดับเครดิต “Positive” หรือ “บวก” สะท้อนถึงสถานะทางการเงินของบริษัทที่แข็งแกร่งขึ้น จากกลยุทธ์ของที่มุ่งเน้นการผลิตสินค้าที่มีนวัตกรรม ตลอดจนการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานของบริษัท

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง อันดับเครดิตของบริษัทอาจมีการปรับเพิ่มขึ้นหากโครงสร้างเงินทุนและกระแสเงินสดของบริษัทปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนส่งผลให้อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทต่ำกว่าระดับ 4 เท่าอย่างต่อเนื่องยาวนาน ในทางตรงกันข้าม อันดับเครดิตของบริษัทอาจได้รับการปรับลดลงหากผลการดำเนินงานของบริษัทอ่อนตัวลงกว่าที่คาดไว้เป็นอย่างมาก หรือบริษัทมีการลงทุนขนาดใหญ่จนส่งผลให้โครงสร้างเงินทุนและกระแสเงินสดเพื่อการชำระหนี้อ่อนแอลง

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 ก.ย. 64)

Tags: , , ,
Back to Top