ASP มอง SET ยังรับปัจจัยกดดันแต่ Q4/64 ค่อยๆฟื้น คงเป้าสิ้นปีที่ 1,670 จุด

นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส (ASP)กล่าวว่า ภาพรวมการลงทุนในช่วงไตรมาส 4/64 คาดว่าปัจจัยต่าง ๆ ที่กดดันตลาดหุ้นน่าจะเหลืออีกไม่มาก ถือเป็นโอกาสทยอยสะสมหุ้นพื้นฐานดี เพื่อคาดหวังการเติบโตที่แข็งแรงในช่วงที่เหลือของปี 64 ต่อเนื่องในปี 65 โดยคงเป้าหมายดัชนีปี 64 ที่ระดับ 1,670 จุด และวางเป้าหมายดัชนีปี 65 ในเบื้องต้นไว้ที่ระดับ 1,816 จุด

โดยปัจจัยรบกวนตลาดหุ้นมีทั้งหมด 4 ประการ ได้แก่ 1.ความกังวลกรณีบริษัท Evergrande 2.การส่งสัญญาณลดวงเงิน QE (QE Tapering) ของ Fed 3.ความเสี่ยงจากสถานการณ์น้ำท่วมในประเทศ 4.กำไรบริษัทจดทะเบียนช่วงครึ่งปีหลังมีโอกาสลดลง โดยเฉพาะในช่วงไตรมาส 3/64 แต่โดยรวมประเมินว่าตลาดหุ้นได้ซึมซับปัจจัยต่าง ๆ ไปในระดับหนึ่งแล้ว

“ฝ่ายวิจัยคาดว่าเศรษฐกิจไทยไตรมาส 3/64 จะหดตัว 5.3% YoY แต่จะเห็นการฟื้นตัวที่ดีขึ้นในช่วงไตรมาส 4/64 จากการทยอยผ่อนคลายกิจกรรมทางเศรษฐกิจและนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐที่กำลังจะออกมา อีกทั้งยอดผู้ติดเชื้อทยอยลดลงตามลำดับ พร้อมกับการจัดหาวัคซีนมากขึ้น หนุนเศรษฐกิจเติบโตแบบชัดเจนขึ้นในปี 65 โดยฝ่ายวิจัยประเมิน GDP ปี 65 เติบโตถึง 3.2% YoY จาก เช่นเดียวกับกำไรบริษัทจดทะเบียนปี 65 ที่เบื้องต้นคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 9.21 แสนล้านบาท เติบโตถึง 8.8%YoY” 

นายเทิดศักดิ์กล่าว

อีกปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามคือในเดือนก.ย.ที่ผ่านมา ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเปิดฟังความคิดเห็นหลักเกณฑ์การทบทวนดัชนี SET50/100 ซึ่งมีแนวคิดนำมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Capitalization) ที่มีการนำจำนวนหุ้นที่ถือโดยผู้ถือหุ้นรายย่อย (Free Float) หรือ Free Float Adjusted Market Capitalization และระยะเวลาที่หลักทรัพย์นั้นเข้าข่ายการกำกับการซื้อขาย มาร่วมคำนวณดัชนีด้วย ถ้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ปรับหลักเกณฑ์การคัดเลือกหลักทรัพย์เข้าดัชนีจริง ประเมินว่าจะสร้างความผันผวนต่อตลาดหุ้นได้ในระยะสั้น เพราะในตลาดมีทั้งหุ้นที่ได้ประโยชน์ และได้รับผลกระทบจากหลักเกณฑ์ใหม่ แต่เชื่อว่าในระยะยาวจะช่วยให้ดัชนีมีเสถียรภาพ และสะท้อนความสามารถในการลงทุนได้อย่างเหมาะสม

สำหรับกลยุทธ์การลงทุนในไตรมาส 4/64 แนะนำสะสมหุ้นใน 2 ธีมหลัก คือ Restart Economy และ Restructure SET50/100 เพื่อรองรับการเติบโตต่อเนื่องในปี 65 พร้อมกับกระจายการลงทุนหลากหลาย Sector และเลือกมาเฉพาะหุ้นที่มีความโดดเด่นเป็นอันดับต้น ๆ ของกลุ่ม อย่างเช่น ADVANC, AEONTS, CPALL, CPN, KBANK และ TOP

นายภาดร สุขสวัสดิ์ หัวหน้าฝ่ายที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์การลงทุนและผลิตภัณฑ์ บล.เอเซีย พลัส เปิดเผยว่า ตลาดลงทุนในไตรมาสสุดท้ายของปี 64 ยังคงต้องจับตาเรื่องการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ไม่เท่ากันในแต่ละประเทศ ส่งผลให้เศรษฐกิจในแต่ละที่ฟื้นตัวไม่พร้อมกัน ด้านความร้อนแรงของเศรษฐกิจจีนและสหรัฐฯ ที่ฟื้นตัวไปก่อนหน้านี้ก็เริ่มลดความร้อนแรงลง มี Valuation ที่ค่อนข้างตึงตัวเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นในภูมิภาคอื่นๆ จึงแนะนำเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในตลาดหุ้นที่ Valuation ยังไม่ตึงตัวมากนัก และมีปัจจัยบวกจากเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัวร่วมด้วย เช่น ยุโรปและญี่ปุ่น และเลือกเข้าลงทุนในธุรกิจที่มองเห็นภาพการลงทุนที่ชัดเจน ซึ่งได้แก่ ธีมพลังงานสะอาด

นางสาวกฤตยภรณ์ ธาดาสีห์ หัวหน้าฝ่ายลงทุนหลักทรัพย์ต่างประเทศ บล.เอเซีย พลัส กล่าวว่า ในส่วนของการลงทุนต่างประเทศ อุตสาหกรรมพลังงานสะอาดและการขับเคลื่อนอัจฉริยะได้เข้ามามีบทบาทมากขึ้นในชีวิตประจำวัน ประกอบกับแนวทางที่รัฐบาลฝั่งสหรัฐฯ ยุโรป และจีน ที่ตั้งจุดมุ่งหมายลดคาร์บอนให้ได้เป็น 0%ภายในปีค.ศ. 2050 และ 2060 ตามลำดับ ด้วยนโยบายการสนับสนุนบริษัทผู้ผลิตพลังงานสะอาดและสร้างบทลงโทษแก่บริษัทผู้ผลิตพลังงานเสีย นอกจากนี้ความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีขับเคลื่อน ยังช่วยสนับสนุนกลุ่มรถยนต์ไฟฟ้าและการขับเคลื่อนอัจฉริยะให้เติบโตได้ในระยะยาว

“เรามองไปยังการลงทุนในกลุ่มดังกล่าวตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มผลิตแผงโซลาร์ ผลิตกังหันลม กลุ่มผลิตและออกแบบชิพประมวลผลหรือชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้สำหรับการพัฒนาพลังงานสะอาด และรถยนต์ไฟฟ้า รวมถึงกลุ่มเทคโนโลยีพลังงานสะอาด (Clean Tech) และระบบ AI ที่พัฒนาการขับเคลื่อนอัจฉริยะซึ่งได้รับความนิยมในขณะนี้” 

นางสาวกฤตยภรณ์กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (05 ต.ค. 64)

Tags: , , , ,
Back to Top