ก.เกษตรฯ เดินหน้า 5 ยุทธศาสตร์ปรับกลยุทธ์ยางพาราไทยสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษา รมว.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการติดตามและเสนอมาตรการแก้ไขปัญหาราคายางและรักษาเสถียรภาพราคายาง กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ดำเนินนโยบายบริหารจัดการยางพาราสินค้าเกษตรที่สำคัญของประเทศไทย ซึ่งมีเกษตรกรผู้ปลูกยางจำนวน 1.83 ล้านราย ครอบคลุมพื้นที่ 24.76 ล้านไร่ ภายใต้ 5 ยุทธศาสตร์การปฏิรูปภาคเกษตรกรรม ของนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ โดยได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคีเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยาง มีการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ขับเคลื่อนนโยบายพิจารณาแก้ไขปัญหาและส่งเสริมการตลาดยางพารา โดยเฉพาะการเชื่อมโยงระหว่าง ผู้ซื้อ และผู้ขาย ประกอบด้วย ตลาดกลางยางพารา การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) 8 แห่ง ตลาดซื้อขายออนไลน์ และตลาดยางพาราท้องถิ่น

รวมทั้งการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางด้านรายได้ ในภาวะช่วงเปลี่ยนผ่านสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน และการลดผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 ด้วยการขับเคลื่อนโครงการประกันรายได้ชาวสวนยาง ตลอดจนการสร้างกลไกและกลยุทธ์ใหม่ ๆ ในการรักษาเสถียรภาพราคา และเพิ่มรายได้ชาวสวนยาง เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาว

สำหรับการขับเคลื่อนนโยบายตลาดเชิงรุก โดยการให้สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ทูตเกษตรประจำอยู่ต่างประเทศ เช่น จีน ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป (EU) ร่วมกับทูตพาณิชย์ กระทรวงพาณิชย์ ตามโมเดลเกษตรผลิตพาณิชย์ตลาดภายใต้ยุทธศาสตร์ตลาดนำการผลิต ได้ผนึกกำลังกันส่งเสริมการตลาดยางพาราในประเทศคู่ค้าสำคัญๆ พร้อมกับติดตามและรายงานข้อมูลสถานการณ์การนำเข้าและส่งออก สินค้าและผลิตภัณฑ์ยางพาราไทย และสภาวะแวดล้อมด้านการค้าการแข่งขัน รวมทั้งการวิเคราะห์ปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะโอกาสทางการค้าและการลงทุน

“ถือได้ว่า เป็นการปรับมิติของกลยุทธ์การตลาดยางพารา โดยขับเคลื่อนร่วมกับการยางแห่งประเทศไทย เป็นกลไกขับเคลื่อนพัฒนาตลาดยางพาราในต่างประเทศ ทั้งในตลาดเก่า และการเปิดตลาดใหม่ โดยตั้งเป้าเพิ่มส่วนแบ่งตลาด (Market Share) และขยายการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางทุกชนิด” นายอลงกรณ์ ระบุ

นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยังได้เร่งดำเนินการจัดตั้ง “ตลาดซื้อขายล่วงหน้าส่งมอบจริงของยางพารา” โดย กยท. เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ ซึ่งอยู่ระหว่างขั้นตอนการเสนอต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) พร้อมกันนั้นได้เร่งส่งเสริมการแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยส่งเสริมการลงทุนโรงงานผลิตถุงมือยาง รวมทั้งผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ตอบโจทย์ความต้องการใหม่ในยุค New Normal จากผลกระทบของโควิด-19 รวมถึงการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อพัฒนาการผลิตการแปรรูปสินค้าและผลิตภัณฑ์ยางพาราโดยร่วมมือกับศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (AIC) ในงานด้านวิจัยและพัฒนาและสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ เน้นเทคโนโลยี Made in Thailand พร้อมทั้งร่วมมือกับภาคเอกชน เช่น สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ภายใต้คณะกรรมการความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กรกอ.) ส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมยางพารา เช่น “โครงการ 1 กลุ่มจังหวัด 1 นิคมอุตสาหกรรม” และโครงการเกษตรแม่นยำ 2 ล้านไร่สู่ธุรกิจอุตสาหกรรมเกษตรยุคใหม่ (Big Brothers)

รวมถึงข้อริเริ่มใหม่ๆ เช่นโครงการ Rubber Valley ซึ่งเป็นโครงการการพัฒนาอุตสาหกรรมยางพาราในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช (suitability and development of the rubber industry in Nakhon Si Thammarat Province) ตามนโยบายของ รมว.เกษตรฯ เพื่อรองรับการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (Southern Economic Corridor) ของรัฐบาลสู่การพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมยางพาราครบวงจร ครอบคลุมทั้งกิจกรรมต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มยางพาราทั้งระบบ

ทั้งนี้ ประเทศไทยมีผลผลิตยางพารามากเป็นอันดับ 1 ของโลก ประมาณ 4.4 ล้านตัน หรือ 38.2% รองลงมา ได้แก่ อินโดนีเซีย เวียดนาม จีน มาเลเซีย และอินเดีย โดยภูมิภาคเอเซียผลิตมากที่สุดในโลก เป็นแหล่งผลิตยางพารา 93% ของผลผลิตยางพาราทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศในกลุ่มอาเซียนที่เป็นแหล่งผลิตใหญ่ ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย และประเทศกลุ่ม CLMV (Cambodia, Laos, Myanmar, Vietnam)

สำหรับการพัฒนายางพาราไทย และการสร้างเสถียรภาพราคายางเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของประเทศสู่อนาคตที่ยั่งยืนได้วางกรอบเป็นแนวทางและกลยุทธ์ด้วยมุมมองและกลไกใหม่ ๆ เพื่อยกระดับอัพเกรดจากฐานศักยภาพเดิม มี 6 แนวทางการพัฒนาน้ำยางพาราสู่ศักยภาพใหม่ ดังนี้ 1. การพัฒนาการผลิตและผลิตภัณฑ์ 2. การพัฒนาเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร 3. การพัฒนากยท. สู่ Global Player 4. การพัฒนากลไกการค้า (Fair Trade) และเกษตรพันธสัญญาเพื่อเสถียรภาพราคาที่เป็นธรรม 5. การส่งเสริมอุตสาหกรรมกลางน้ำและปลายน้ำ 6. การสร้างหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์CLMV AEC RCEP

พร้อมกับการวางระบบการบริหารจัดการเชิงกลยุทธ์ด้วย 7 กลยุทธ์สู่ศักยภาพใหม่ยางพาราไทยได้แก่

  1. การยกระดับมาตรฐานGAP FSC GMP
  2. การประกันรายได้ชาวสวนยาง การนำระบบการประมูลออนไลน์และตลาดกลางซื้อขายล่วงหน้าส่งมอบจริงมาเป็นกลไกใหม่ๆ
  3. การยกระดับด้วย AIC และ กยท.ด้วยการวิจัยและพัฒนา เทคโนโลยี นวัตกรรมสู่การผลิตที่ดีมีมาตรฐานมี Productivity สูงและผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง
  4. กยท.และบริษัทของไทย เช่น ศรีตรัง ต้องยกระดับอัพเกรดองค์กรและการบริหารจัดการทะยานสู่ Global Player
  5. การพัฒนาวิสาหกิจยางพาราสู่SMEเกษตร
  6. ส่งเสริมเชิงรุกอุตสาหกรรมน้ำยางข้นทั้งในภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคสถาบันเกษตรกร เช่น โครงการ Rubber Valley Rubber City SEC EEC
  7. สร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่าง 4 แกนหลัก ได้แก่ ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคเกษตรกรและภาควิชาการ (ไม่ใช่ภาครัฐและภาคเอกชนเท่านั้นเหมือนในอดีต) แบบทวิภาคีและพหุภาคี แบบคู่ค้าและคู่ขา ไม่ใช่คู่แข่ง โมเดล Win-Win

“เรากำลังสร้างการเปลี่ยนแปลงในทิศทางการลงทุนอุตสาหกรรมแปรรูป สร้างมูลค่าเพิ่มเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ตอบสนองตลาดยุคโควิดแทนการส่งออกน้ำยางข้น เพื่อสร้างรายได้เพิ่มตลอดห่วงโซ่อุปทาน โดยเฉพาะชาวสวนยาง 1.83 ล้านราย และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง บนฐานการเป็นประเทศผู้ส่งออกยางอันดับ 1 ของโลก” นายอลงกรณ์ กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (10 ต.ค. 64)

Tags: , , ,
Back to Top