ผบ.ตร.สั่งกำชับทุกโรงพักรับแจ้งความคดีความผิดทางไซเบอร์

พล.ต.ต.ยิ่งยศ เทพจำนงค์ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (โฆษก ตร.) เปิดเผยว่า พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ได้กำชับการปฏิบัติหน้าที่ในการทำคดีความผิดบนโลกไซเบอร์ ซึ่งสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนเป็นวงกว้าง เช่น การฉ้อโกง, การเจาะข้อมูลธนาคาร หรือขโมยข้อมูลบัตรเครดิตของผู้เสียหาย ฯลฯ โดยให้พนักงานสอบสวน ผู้กำกับการและหรือหัวหน้าสถานี ตลอดจนทุกหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่รับแจ้งความว่า เมื่อผู้เสียหายมาแจ้งความ ให้สอบปากคำและลงบันทึกประจำวันทุกกรณี รวมทั้งห้ามแนะนำ ชักจูง ให้ผู้เสียหายไปแจ้งความที่อื่น ไม่ว่าพนักงานสอบสวนจะมีประเด็นข้อสงสัยในเรื่องเขตอำนาจการสอบสวน หรือประเด็นข้อกฎหมายอื่นใดก็ตาม

ในกรณีจำเป็นต้องดำเนินการอายัดบัญชี อายัดทรัพย์สิน ขอเอกสารหลักฐานเพิ่มเติมจากผู้แจ้งหรือจากหน่วยงานใดก็ตามให้ดำเนินการไปตามอำนาจหน้าที่ในทันทีหลังจากที่ได้บันทึกคำให้การพร้อมการลงบันทึกประจำวันแล้ว

ขณะเดียวกันให้ทุกกองบังคับการ (บก.) จัดตั้งคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนคดีความผิดที่ใช้โซเชียลมีเดียเป็นช่องทางในการกระทำผิด มีหน้าที่รับผิดชอบประสานงานให้คำแนะนำกับพนักงานสอบสวน ผู้กำกับการ หัวหน้าสถานี หรือเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบเสียเองในคดีที่พนักงานสอบสวนในสังกัดได้รับแจ้งไว้

โฆษก ตร. กล่าวว่า ในการนี้ ผบ.ตร.ได้มอบหมายให้ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รอง ผบ.ตร.เป็นผู้ควบคุมการปฏิบัติให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อเป็นการให้บริการประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ

ด้าน พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รองโฆษก ตร.กล่าวว่า จากที่มีกรณีมีประชาชนจำนวนมากได้ตรวจสอบพบว่ามีการทำรายการที่ผิดปกติ กับบัตรเครดิต/บัตรเดบิต ของตน โดยที่เจ้าของบัตรไม่ได้เป็นผู้ทำรายการ และกรณีดังกล่าวกำลังอยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อมูลของทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ เพื่อหาสาเหตุที่เกิดขึ้น เพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะได้ประสานข้อมูลเพื่อทำการสืบสวนสอบสวนหาต้นตอของเหตุการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิดต่อไป

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงขอให้คำแนะนำกับพี่น้องประชาชน ในการลดความเสี่ยงและป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น โดยสามารถแยกได้เป็น 2 วิธีการหลักคือ วิธีทางออนไลน์ และวิธีทางออฟไลน์ ดังนี้

1.วิธีทางออนไลน์

– ไม่ผูก บัตรเครดิต/เดบิต กับเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันที่ไม่น่าเชื่อถือ เพราะเสี่ยงต่อการที่ข้อมูลบัตรจะรั่วไหล หรือถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด

– หากจำเป็นต้องนำ บัตรเครดิต/เดบิต ไปผูกข้อมูล ควรจะกำหนดวงเงินของบัตรที่ทำการผูกข้อมูลให้น้อยที่สุดและเหมาะสมกับการใช้งาน เพื่อลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น และเป็นการจำกัดวงเงินความเสียหายหากกรณีเกิดปัญหาขึ้น

– สมัครบริการกับทางธนาคารหรือสถาบันทางการเงิน ให้ส่งข้อความแจ้งเตือน (SMS Alert)เมื่อมีการทำธุรกรรมผ่าน บัตรเครดิต/เดบิต เพื่อให้เราสามารถตรวจสอบธุรกรรมที่ผิดปกติได้รวดเร็ว

2.วิธีทางออฟไลน์

– นำสติกเกอร์ หรือวัตถุอื่น ๆ มาปิดบังหมายเลขหลังบัตรเครดิต (CVV) เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้อื่น เช่น พนักงานห้างสรรพสินค้า พนักงานสถานีบริการน้ำมันฯลฯ นำหมายเลขดังกล่าวพร้อมข้อมูลหน้าบัตรไปใช้ให้เกิดความเสียหาย

– หมั่นตรวจสอบรายการธุรกรรมของบัตรของตนอย่างสม่ำเสมอ หากมีรายการธุรกรรมที่ผิดปกติ ควรแจ้งทางธนาคารทราบ เพื่อทำการอายัดบัตร และตรวจสอบการทำธุรกรรม

ทั้งนี้หากพบว่ามีรายการธุรกรรมที่ผิดปกติ ให้รีบแจ้งทางธนาคารเพื่อทำการอายัดบัตร และรวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องแจ้งความร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวนที่สถานีตำรวจทั่วประเทศ โดยสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน 191 หรือ สายด่วนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 1599 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 ต.ค. 64)

Tags: , , , , , ,
Back to Top