รมว.สธ. คาดปลายปีนี้อาจฉีดวัคซีนได้ครอบคลุม 80% เร่งคุมโควิดภาคใต้

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข คาดปีนี้จะสามารถฉีดวัคซีนให้ครอบคลุม 80% ของประชากรทั้งประเทศ หลังผู้ผลิตส่งมอบวัคซีนให้ตามแผนงานที่กำหนดไว้จนสามารถกระจายออกไปให้บริการฉีดวัคซีนแก่ประชาชนได้เพิ่มขึ้นแตะวันละ 1 ล้านโดส

“ในภาพรวมทั่วประเทศให้บริการวัคซีนได้มากกว่า 65 ล้านโดสแล้ว ถือว่าเร็วกว่าที่คาดกันเอาไว้ ส่วนหนึ่งเพราะเราฉีดกับเด็กด้วย จากเดิมที่ไม่มีแผนนี้ตั้งแต่แรก นอกจากนั้นวัคซีนก็เข้ามาอย่างสม่ำเสมอ คาดว่าเราจะฉีดได้มากกว่าเป้าที่วางไว้ว่าจะฉีดให้ได้ 70% ของประชากร ซึ่งผู้บริหารกระทรวงฯ เห็นว่า เรามองเป้าที่ 80% ได้เลย เมื่อก่อนฉีดได้วันละ 6 แสนโดสก็เยี่ยมแล้ว ปัจจุบัน บางวันสามารถฉีดได้แตะ 1 ล้านโดส วัคซีนเข้ามาต่อเนื่อง เราเร่งตรวจสอบ ส่งเข้าระบบบริการอย่างต่อเนื่อง การให้บริการรวดเร็ว แต่ทุกอย่างต้องเป็นไปตามการพิจารณาของแพทย์ ต้องมีทั้งปริมาณและคุณภาพด้วย”

นายอนุทิน กล่าว

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ต้องจับตามองการระบาดในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งเป็นการระบาดในครัวเรือนหรือในชุมชน ก็ต้องเข้าไปล้อมกรอบ จัดการแพร่กระจายออกนอกพื้นที่ นอกจากนั้นยังขอให้ผู้นำชุมชนสร้างความเข้าใจถึงเรื่องความจำเป็นของการรับวัคซีน ทางกระทรวงฯ ตั้งเป้าว่าภายในเดือน พ.ย.นี้สถานการณ์น่าจะคลี่คลาย เพราะสามารถฉีดวัคซีนได้ตามเป้า จะเห็นว่า ยอดผู้ป่วยยังทรง ไม่เพิ่มไปจากเดิม เพราะได้วัคซีนเข้ามาช่วย ตอนนี้ในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนใต้ได้รับวัคซีนไปแล้วกว่า 50% และในเดือน ต.ค.ก็น่าจะได้ถึงตัวเลข 70% น่าจะสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ระดับป้องกันการป่วยหนักและเสียชีวิตได้ จากนั้นในเดือน พ.ย.จะระดมฉีดเข็ม 2 ทันที ซึ่งยอดผู้ติดเชื้อยังจะมีรายงานเข้ามา แต่ยอดการป่วยหนักและเสียชีวิตจะน้อยลงแน่นอน เพราะคุณสมบัติของวัคซีนคือป้องกันป่วย และป้องกันการสูญเสีย

ส่วนการตั้ง ศูนย์บูรณาการแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ (ศบค.ส่วนหน้า) นั้น นายอนุทิน กล่าวว่า มองว่าเป็นการช่วยกันทำงาน เพราะการคุมโควิดก็ต้องบูรณาการงานระหว่างหลายภาคส่วน งานด้านความมั่นคงก็ต้องให้ฝ่ายปกครอง ฝ่ายความมั่นคง ดูแลไป แต่เรื่องการรักษาโรคต้องยกให้แพทย์

นายอนุทิน คาดว่าในปีหน้าจะมีวัคซีนของไทยเข้าสู่ระบบบริการด้วย เพราะหลายทีมผู้ผลิตมีความคืบหน้าไปมาก อาทิ ทีมขององค์การเภสัชกรรม และทีมของจุฬาฯ โดยเราไม่ได้วางแผนฉีดแค่ 2 เข็ม แต่เรามองไปถึงเข็มบูสเตอร์แล้ว จากประสบการณ์ทำให้เรามีความรู้เรื่องวัคซีนและการจัดหามากขึ้น โดยจะจัดหาวัคซีนที่ดีและสอดคล้องกับสถานการณ์มากที่สุด

ส่วนการจัดหายาและเวชภัณฑ์นั้นมีแผนจะนำเข้ายาโมลนูพิราเวียร์ แต่ขอให้พิจารณาเรื่องประสิทธิภาพ และความปลอดภัยก่อน ระหว่างนี้ยังใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ ซึ่งไทยสามารถนำเข้าและผลิตได้เองแล้ว ที่ผ่านมามีการปรับการให้ยาให้เร็วขึ้น เพื่อลดความสูญเสียที่เกิดกับผู้ป่วย

สำหรับความพร้อมในการเปิดประเทศ คนที่เข้ามาต้องฉีดวีคซีน ต้องมีเอกสารรับรองการฉีดวัคซีน และต้องผ่านการ RT-PCR ว่าไม่ติดโรค โดยกำลังพิจารณาว่าถึงจะผ่านการตรวจด้วย RT-PCR แล้ว แต่เมื่อมาถึงไทยควรจะตรวจยืนยันอย่างไรต่อ เพื่อให้เกิดความมั่นใจสูงที่สุด อย่างไรก็ตามเข้ามาคืนแรกก็ต้องเฝ้าระวัง แต่ที่แน่ๆ คือ มาตรการออกมาแล้วก็ต้องปฏิบัติตาม เช่นเดียวกับการเปิดผับบาร์ ยอมรับว่าเป็นห่วง ต้องมีมาตรการออกมาคอยดูแลประชาชนแน่นอน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 ต.ค. 64)

Tags: , , , , , , ,
Back to Top