In Focus: จับตาโควิดระลอกใหม่ในจีน นโยบาย Zero-tolerance สกัดร่วงทั้งโควิด-เศรษฐกิจ

หลังจากที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศเคาะดีเดย์เปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวจากต่างชาติ 1 พ.ย.นี้ ภาคธุรกิจของไทยต่างยินดีและมีความหวังที่จะได้กอบโกยรายได้ที่ขาดหายไปเกือบ 2 ปี หลังจากที่การท่องเที่ยวซบเซาอย่างหนักจากวิกฤตโควิด-19 โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากจีนที่นิยมเดินทางมาประเทศไทย และเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อมหาศาล

แต่แล้วเมื่อช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาก็เกิดข่าวใหญ่ว่า จีนพบการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ที่มีแนวโน้มลุกลามบานปลายอย่างรวดเร็วในอีกไม่กี่วันนี้ ซึ่งข่าวดังกล่าวได้ดับความหวังของบรรดาผู้ประกอบการ และทำให้ทั่วโลกจับจ้องไปที่สถานการณ์ในจีนอีกครั้งว่า นโยบายสกัดโควิด-19 เชิงรุกของจีนนั้นจะ “เอาอยู่” จริงหรือไม่

โควิดหวนอาละวาด

เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา เกิดข่าวใหญ่ที่ทำให้โลกต้องจับตาสถานการณ์โควิด-19 ในจีน หลังหน่วยงานสาธารณสุขของจีนออกมายอมรับว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบล่าสุดมีแนวโน้มว่าจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในประเทศอาจเพิ่มสูงขึ้นในอีกไม่กี่วันข้างหน้า ซ้ำร้าย หลายพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบนั้นยังมีแนวโน้มว่าสถานการณ์จะย่ำแย่ลงไปอีก โดยระบุว่า การระบาดรอบล่าสุดนั้นเป็นผลกระทบมาจากไวรัสสายพันธุ์เดลตาที่มาจากต่างประเทศ

นับตั้งแต่วันที่ 17 ต.ค. จนถึงปัจจุบัน หรือเป็นเวลาเพียงแค่ 10 วัน โควิด-19 สายพันธุ์เดลตาได้เผยแพร่กระจายไปแล้วในกว่า 11 มณฑล และมียอดผู้ติดเชื้อเกือบ 200 คนในประเทศ สิ่งที่น่าสังเกตก็คือ ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน ซึ่งไม่มีระบบการแพทย์ที่พรั่งพร้อมเหมือนในเขตเมืองใหญ่ ด้วยเหตุนี้ การแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบล่าสุดจึงได้ตีแผ่ถึงปัญหาที่ถูกซุกอยู่ใต้พรม

แม้ในปีที่ผ่านมา จีนจะประสบความสำเร็จในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคด้วยแนวทางการตรวจเชื้ออย่างสม่ำเสมอ ตลอดจนการตรวจเชื้อให้กับประชาชนเป็นจำนวนมาก (Mass testing) แต่การระบาดครั้งใหม่เผยให้เห็นว่า บริการตรวจสุขภาพของจีนยังไม่เป็นที่น่าพึงพอใจในหลายภูมิภาคของประเทศ โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ห่างไกลความเจริญ ทั้งปัญหาสถานที่ตรวจโรคที่ไม่ได้มาตรฐาน การเข้าถึงบริการได้ยาก อีกทั้งยังส่งผลตรวจได้ล่าช้า ซึ่งปัจจัยดังกล่าวได้สร้างความไม่พอใจในหมู่ประชาชนอย่างมาก ขณะผู้คนบางส่วนเริ่มต่อต้านข้อกำหนดควบคุมโรค เนื่องจากถูกกดดันจากการบังคับใช้มาตรการที่เข้มงวดมายาวนานเกินไป

ยกเลิกปักกิ่งมาราธอน สกัดยอดผู้ติดเชื้อพุ่ง

จากคำเตือนของคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติของจีน (NHC) ที่ระบุว่า การแพร่ระบาดรอบนี้มีแนวโน้มที่จะรุนแรงขึ้นอีก ประกอบกับฤดูหนาวที่มาเยือนเร็วกว่าปกติ จึงทำให้การคาดคะเนแนวโน้มของโรคนั้นเป็นไปได้ยาก รัฐบาลจีนจึงตัดสินใจยกเลิกงานปักกิ่งมาราธอนปีนี้ ซึ่งเดิมมีกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 31 ต.ค. และคาดว่าจะมีประชาชนกว่า 30,000 คนเข้าร่วมกิจกรรม

แถลงการณ์ของผู้จัดงานระบุว่า จีนตัดสินใจยกเลิกงานเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยคำนึงถึงสุขภาพของนักวิ่ง เจ้าหน้าที่จัดงาน และประชาชนเป็นสำคัญ

อย่างไรก็ตาม ความเคลื่อนไหวดังกล่าวถือเป็นที่ประเด็นที่ต้องจับตามอง เนื่องจากปักกิ่งมาราธอนเป็นมหกรรมกีฬาท้องถิ่นที่สำคัญและยิ่งใหญ่ที่สุดของจีน ซึ่งจัดต่อเนื่องเป็นประจำทุกปีมาตั้งแต่ปี 2524 ประเด็นที่เกิดขึ้นส่งผลให้หลายฝ่ายตั้งคำถามถึงศักยภาพในการควบคุมโรคระบาดของจีน และการตัดสินใจใช้นโยบายต่าง ๆ ของภาครัฐที่ยากจะคาดเดา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่มหกรรมโอลิมปิกฤดูหนาว 2022 ใกล้จะเปิดฉากขึ้นในเวลาอีกไม่ถึง 100 วันข้างหน้า

ธุรกิจท่องเที่ยวฝันสลาย เหตุรัฐบาลสั่งระงับกรุ๊ปทัวร์เด็ดขาด

อย่างที่ทราบกันดีว่า จีนเลือกรับมือกับโรคระบาดด้วยการใช้นโยบายความอดทนต่อโควิด-19 เป็นศูนย์ หรือ Zero-tolerance ซึ่งมุ่งเน้นการควบคุมตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ให้เป็นศูนย์ ด้วยการบังคับใช้มาตรการที่เข้มข้นทันทีที่พบผู้ติดเชื้อ ไม่ว่าจะเป็นการล็อกดาวน์ การระดมตรวจเชื้อ และการจำกัดการเดินทางข้ามประเทศ

แต่ถึงเช่นนั้น การบังคับใช้นโยบายที่เข้มงวดดังกล่าวกลับยิ่งบดขยี้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่บอบช้ำอยู่แล้วให้แหลกลงไปอีก โดยในกรุงปักกิ่ง รัฐบาลได้ประกาศไม่ให้กรุ๊ปทัวร์นักท่องเที่ยวที่เคยมีประวัติเดินทางไปยังพื้นที่เสี่ยงสูงจากโควิดเข้าเมือง ข่าวดังกล่าวทำให้บริษัททัวร์ชื่อดังของจีนยกเลิกบริการทัวร์ท่องเที่ยวในประเทศทันที รวมถึงบริษัทท่องเที่ยวออนไลน์ Ctrip ที่ระงับการท่องเที่ยวแบบกลุ่มเดินทางด้วยเช่นกัน

ส่วนในพื้นที่อื่น ๆ นั้น NHC ได้ขอความร่วมมือให้ 11 มณฑลที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดงัดใช้มาตรการฉุกเฉินเพื่อควบคุมไวรัสโดยด่วน โดยเมืองบางแห่งในมณฑลกานซู รวมถึงเมืองหลานโจว และมองโกเลียใน ได้สั่งระงับบริการรถบัสและรถแท็กซี่เนื่องจากโควิด-19 แล้ว

สำหรับต้นตอของการแพร่ระบาดรอบใหม่นั้น ทางการจีนระบุว่า มาจากสองสามีภรรยาคู่หนึ่งที่เดินทางท่องเที่ยวไปหลายพื้นที่ในประเทศ ตั้งแต่เซี่ยงไฮ้ ซีอาน กานซู่ ไปจนถึงมองโกเลียใน (Inner Mongolia) ซึ่งจากการสืบสวนโรคพบว่ามีผู้ติดเชื้อหลายสิบรายที่มีความเกี่ยวข้องกับสามีภรรยาคู่นี้ ทางการจึงได้จับตาความเคลื่อนไหวของนักท่องเที่ยวเป็นพิเศษ

ผู้ประกอบการไทยยังต้องรอ

เมื่อวันที่ 22 ต.ค. กระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวจีนได้ออกประกาศว่า ปัจจุบันจีนยังไม่อนุญาตให้บริษัททัวร์พานักท่องเที่ยวชาวจีนออกนอกประเทศ และในทางกลับกันก็ไม่อนุญาตให้กรุ๊ปทัวร์จากต่างชาติเข้าจีนด้วยเช่นกัน ซึ่งเห็นได้ชัดเจนว่า การแพร่ระบาดระลอกใหม่นี้จะยิ่งทำให้โอกาสที่จีนจะผ่อนคลายมาตรการสกัดโควิดลดน้อยลงไปกว่าเดิม ฉะนั้น ธุรกิจที่ได้อานิสงส์จากนักท่องเที่ยวจีนในต่างประเทศจึงอาจยังไม่สามารถฟื้นตัวได้ในเร็ว ๆ นี้

สำหรับไทย แม้จีนจะเป็น 1 ใน 46 ประเทศเสี่ยงต่ำที่ทางการอนุญาตให้ผู้ที่ฉีดวัคซีนครบโดสและปลอดโควิดสามารถมาท่องเที่ยวได้โดยไม่ต้องกักตัว แต่เปอร์เซ็นต์ที่นักท่องเที่ยวจะมาเยือนบ้านเราคึกคักเหมือนแต่ก่อนยังยากมากจากปัจจัยหลายประการด้วยกัน

ประการแรกคือ กรุ๊ปทัวร์ใหญ่ซึ่งเป็นกลุ่มหลักที่ทำรายได้ให้กับภาคการท่องเที่ยวไทยอย่างมหาศาลนั้น ยังไม่สามารถเดินทางมาได้ตามที่กล่าวไปข้างต้น ส่วนนักท่องเที่ยวรายย่อยก็เผชิญกับอุปสรรคที่ทำให้ต้องคิดหนัก เนื่องจากการที่จีนได้บังคับใช้มาตรการควบคุมโรคอย่างเข้มข้นนั้น ส่งผลให้เที่ยวบินมีน้อยลงกว่าเดิมมาก และราคาตั๋วโดยสารในปัจจุบันจึงพุ่งทะยานแบบสุด ๆ ยกตัวอย่างเช่น เส้นทางบินกวางโจว-กรุงเทพฯ ขณะนี้ราคาตั๋วอยู่ที่ราว 29,000 บาท เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวจากช่วงเวลาปกติ และยังไม่รวมถึงค่าใช้จ่ายในการต่อเครื่องบินและต่อรถ หากบางพื้นที่ของประเทศมีการปิดเมืองสกัดโควิด ส่วนนโยบายในการกลับเข้าประเทศก็แสนยุ่งยากไม่แพ้กับขาออก ทั้งการตรวจเชื้อและกักตัวที่อาจกินเวลาร่วมเดือน อีกทั้งค่าใช้จ่ายในการกักตัวนั้นรัฐบาลจะให้นักเดินทางเป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมด ซึ่งก็กลายเป็นว่า ทริปเที่ยวไทยที่เคยมีราคาสบายกระเป๋า กลับต้องใช้เงินเทียบเท่ากับทริปทัวร์ยุโรปสุดหรูในช่วงเวลาปกติ

ประเด็นต่อมาคือความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยว เนื่องจากขณะนี้ประเทศไทยยังมีอัตราการฉีดวัคซีนไม่ถึง 50% ของประเทศ ซึ่งเป็นจุดที่รัฐบาลต้องเรียกคืนความเชื่อมั่นให้ได้ และออกข้อเสนอพิเศษที่น่าดึงดูดใจนักท่องเที่ยว เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยอีกแรง

Zero-tolerance สกัดโควิด-สกัดเศรษฐกิจ

ปัจจุบัน จีนยังคงยืนหยัดใช้นโยบาย Zero-tolerance ต่อไป แม้หลายประเทศทั่วโลกจะถอดใจจากนโยบายดังกล่าวไปแล้ว เนื่องจากตระหนักดีว่าไม่มีสรรพกำลังพอที่จะสกัดโควิดได้ รวมถึงมีความต้องการที่จะเปิดเศรษฐกิจอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม มาตรการควบคุมโรคที่เด็ดขาดของจีนได้ฉุดรั้งความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในประเทศ อีกทั้งยังทำให้ตลาดตั้งคำถามถึงศักยภาพทางเศรษฐกิจของจีน ซึ่งเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก

วันที่ 18 ต.ค. สำนักงานสถิติแห่งชาติจีนเปิดเผยว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 3 ขยายตัวเพียง 4.9% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งเป็นการขยายตัวในอัตราที่ช้าที่สุดในรอบ 3 ไตรมาส และเพียง 1 วันหลังจากนั้น (19 ต.ค.) แบงก์ ออฟ อเมริกา (BofA) ก็ได้ประกาศปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจจีนด้วยเช่นกัน โดยหั่น GDP จริงของจีนในปี 2564 ลงเหลือ 7.7% จากเดิมที่ระดับ 8.0%

ภาพที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นชัดเจนว่า แนวทางการควบคุมโรคระบาดดังกล่าวได้สร้างบาดแผลให้กับเศรษฐกิจจีนอยู่ไม่น้อย เพราะถึงแม้การใช้กลยุทธ์ที่เด็ดขาดจะช่วยให้ยอดผู้ติดเชื้อของประเทศอยู่ต่ำมากหากเทียบกับประเทศอื่น ๆ แต่นั่นก็แลกมาด้วยมูลค่าความหายเสียทางเศรษฐกิจจำนวนมหาศาล

แม้ในปี 2563 ที่ผ่านมา จีนเป็นประเทศเศรษฐกิจหลักเพียงประเทศเดียวที่สามารถฝ่าวิกฤตโควิดได้โดยที่เศรษฐกิจไม่ถดถอยแม้แต่น้อย แต่มาในปีนี้ดูเหมือนว่า พญามังกรจะเจอศึกหนักรอบด้าน เพราะนอกจากโควิด-19 แล้ว จีนยังเผชิญกับความท้าทายอีกหลายประการ โดยเฉพาะวิกฤตพลังงานครั้งรุนแรงในรอบหลายปี และปัญหาหนี้สินในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ปัจจุบันก็ยังแก้ไม่ตก ต้องมาดูกันต่อไปว่า จีนจะกอบกู้เศรษฐกิจของตนเอง และฝ่าทุกวิกฤตเหล่านี้ไปได้อย่างไร …

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 ต.ค. 64)

Tags: , , , , , ,
Back to Top