รมว.คลัง วาง 5 แนวทางพัฒนาตลาดทุนไทยปี 65-70 เน้นสอดรับเศรษฐกิจโลก

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการพัฒนาตลาดทุนไทย เมื่อวันพุธที่ 27 ตุลาคม 64 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ว่า ที่ประชุมฯ ได้ให้ความเห็นชอบการกำหนดแนวทางและทิศทางของแผนพัฒนาตลาดทุนไทย ฉบับที่ 4 (ปี 65 – 70) และมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักในการดำเนินการจัดทำแผนพัฒนาตลาดทุนไทยฉบับที่ 4 ต่อไป ซึ่งกำหนดให้สอดรับกับสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจโลกอย่างรอบด้าน ดังนี้

(1) การส่งเสริมการเข้าถึงทางการเงินผ่านกลไกตลาดทุน (Accessibility)

(2) การเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของตลาดทุนไทย (Competitiveness)

(3) การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลสำหรับตลาดทุน (Digital for Capital Market)

(4) ตลาดทุนยั่งยืน (Sustainable Capital Market)

(5) การสร้างสุขภาพทางการเงินที่ดีในระยะยาวครอบคลุมถึงวัยเกษียณ (Financial Well-being)

ขณะที่ที่ประชุมฯ ได้รับทราบการรายงานความคืบหน้าของการดำเนินการตามแผนพัฒนาตลาดทุนไทย ประจำปี 63 ที่ประกอบด้วย 7 มาตรการหลัก 17 มาตรการย่อย และแผนงานสนับสนุน 65 แผนงาน โดย ณ สิ้นไตรมาสที่ 3/64 มีแผนงานที่ดำเนินการแล้วเสร็จจำนวน 32 แผนงาน จากแผนพัฒนาตลาดทุนฯ

นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ได้รับทราบรายงานความคืบหน้าการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านตลาดทุนและตลาดเงินที่ได้มีการดำเนินมาตรการเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้แก่ สำนักงาน ก.ล.ต. ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

  • การดำเนินมาตรการของสำนักงาน ก.ล.ต. ได้มีมาตรการช่วยเหลือกิจการที่ประสบปัญหาโควิด-19 ใน 3 ด้าน ได้แก่

ด้านการช่วยเหลือกิจการที่ประสบปัญหาโควิด-19 มีการเสริมสภาพคล่องให้กิจการที่กำลังประสบปัญหา/ช่วยเหลือกิจการที่ประสบปัญหาแล้วผ่านมาตรการต่าง ๆ อาทิ มาตรการ REITs with Buy Back Condition มาตรการPrivate REITs มาตรการ High Yield Bond Fund เป็นต้น

ด้านการเปิดช่องทางและอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงตลาดทุน อาทิ การอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ลงทุนในขั้นตอนการเปิดบัญชี รวมทั้งพัฒนาแบบฟอร์มมาตรฐาน และปรับปรุงหลักเกณฑ์การทำความรู้จักลูกค้าด้วยวิธีอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

ด้านสร้างความเข้มแข็งและ Resiliency มีส่วนช่วยสร้างความยั่งยืน อาทิ การสนับสนุนการระดมทุนที่ช่วยส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคม ชุมชน สิ่งแวดล้อม และลดความเสี่ยงเชิงระบบ เป็นต้น

  • การดำเนินมาตรการของ ธปท. ได้มีมาตรการเพื่อบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจและดูแลเสถียรภาพของระบบการเงินใน 2 ด้านที่สำคัญ ได้แก่

มาตรการเสริมสภาพคล่องให้กับภาคธุรกิจ อาทิ

(1) มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (สินเชื่อ soft loan)

(2) มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู เพื่อให้ SMEs สามารถประคับประคองกิจการและรักษาการจ้างงานภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19

(3) มาตรการสนับสนุนสภาพคล่องให้กับสถาบันที่ให้ความช่วยเหลือแก่กองทุนรวมตราสารหนี้ (4) มาตรการกองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ เป็นต้น

มาตรการแก้ไขปัญหาหนี้ของประชาชนและภาคธุรกิจ อาทิ (1) โครงการ “พักทรัพย์ พักหนี้” (2) มาตรการการปรับโครงสร้างหนี้ที่ยั่งยืนในระยะยาวให้แก่ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบ (3) มาตรการเพื่อรักษาสภาพคล่องเดิมและเติมเงินใหม่ เป็นต้น

  • การดำเนินมาตรการของสำนักงาน คปภ. ได้มีการปรับปรุงหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง รวมถึง ออกมาตรการด้านประกันภัย เพื่อให้ความช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับผู้ได้รับผลกระทบด้านประกันภัยประกอบด้วยประชาชนและผู้ประกอบการบริษัทประกันภัยและคนกลางประกันภัย
  • การดำเนินมาตรการของ ตลท. ได้มีการดำเนินมาตรการได้แก่ (1) มาตรการดูแลความผันผวนในตลาด (2) มาตรการที่สำนักงาน ก.ล.ต. อนุมัติให้ ตลท. ใช้เป็นการชั่วคราว เพื่อแก้ไขหรือบรรเทาผลกระทบที่เกิดจากความผันผวนของตลาดและ (3) มาตรการช่วยเหลือผู้มีส่วนได้เสีย อาทิ การลดค่าธรรมเนียมให้แก่ผู้ร่วมตลาด และการปรับรูปแบบกิจกรรมให้สอดคล้องกับการดำเนินธุรกิจในภาวะการระบาดของโควิด-19 เป็นต้น
  • การดำเนินมาตรการของ FETCOได้มีส่วนร่วมในการเสนอมาตรการ อาทิ (1) มาตรการขอผ่อนปรนเงื่อนไขการหยุด เลื่อน นำส่งเงินสะสม/สมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (2) มาตรการจัดตั้งกองทุนรวม SSFX เป็นต้น

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 ต.ค. 64)

Tags: , , ,
Back to Top