311 ร้านอาหาร-สถานบันเทิง เสนอปลดล็อกจำหน่ายแอลกอฮอล์ใน 17 จ.นำร่องท่องเที่ยว

ตัวแทนกลุ่มผู้ประกอบการร้านอาหาร สถานบันเทิงในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล และกลุ่มจังหวัดที่เป็นพื้นที่เศรษฐกิจและการท่องเที่ยวหลัก คือ ชลบุรี เชียงใหม่ ภูเก็ต รวม 311 ราย ได้ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19, กระทรวงมหาดไทย, กระทรวงสาธารณสุข และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เพื่อขอให้พิจารณาอนุญาตให้จำหน่ายและดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหารในพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว 17 จังหวัด ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.64 และอนุญาตให้เปิดกิจการสถานบริการ ผับ บาร์ คาราโอเกะ ทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.64 เป็นต้นไป พร้อมข้อเสนอมาตรฐานการดำเนินกิจการปลอดภัย (COVID-Free Setting) สำหรับสถานบริการ ผับ บาร์ คาราโอเกะ และมาตรการช่วยเหลือและเยียวยาผู้ประกอบการ

ตัวแทนกลุ่มผู้ประกอบการฯ กล่าวว่า นับตั้งแต่เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อโควิด-19 มานานกว่า 19 เดือน ผู้ประกอบการฯ รวมถึงพนักงานหลายหมื่นคนได้ปฏิบัติตามมาตรการของภาครัฐอย่างเคร่งครัดมาโดยตลอด แม้จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรง ต่อเนื่อง และยาวนาน ต่อธุรกิจ พนักงาน และครอบครัว ส่งผลให้ผู้ประกอบการกว่า 40-50% จำเป็นต้องปิดตัวลงอย่างถาวร เนื่องจากขาดรายได้และขาดสภาพคล่อง

อย่างไรก็ตาม จากนโยบายเปิดประเทศของนายกรัฐมนตรีที่ครอบคลุมการพิจารณาการอนุญาตให้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหารในเขตพื้นที่ที่กำหนดเป็นพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว 17 จังหวัด ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.64 และการพิจารณาอนุญาตให้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหาร รวมถึงเปิดกิจการสถานบริการ ผับ บาร์ คาราโอเกะ ทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.64 นั้นจะเกิดขึ้นได้ภายใต้มาตรการด้านความปลอดภัยด้านสาธารณสุขที่เหมาะสม ถือเป็นปัจจัยสำคัญในการผลักดันให้เกิดการฟื้นฟูของภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการบริการ โดยกระตุ้นการจ้างงานและการกระจายรายได้ ในช่วงเทศกาลปีใหม่ซึ่งถือเป็นไฮซีซั่นของภาคอุตสาหกรรมดังกล่าว

โดยกลุ่มผู้ประกอบการฯ ได้เสนอมาตรการดังนี้

1.ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในแต่ละพื้นที่จะดำเนินการร่วมกับผู้ประกอบการเพื่อกำกับดูแลและควบคุมให้เป็นไปตามมาตรการข้อเสนอมาตรการปลอดภัย (COVID-Free Setting) สำหรับสถานบริการ ผับ บาร์ คาราโอเกะ จัดหาชุดตรวจ Antigen Test Kit (ATK) โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย หรือในราคาที่ถูกที่สุดแก่สถานประกอบการเพื่อให้พนักงานทำการตรวจด้วยตนเองอย่างน้อยทุก 7 วัน

2.จัดลำดับความสำคัญในระดับต้นสำหรับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น (booster) หรือวัคซีนที่พัฒนารุ่นใหม่ เช่น กลุ่ม Protein Subunit และ mRNA เป็นต้น แก่ผู้ประกอบการและพนักงานของสถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ ที่จะเกิดขึ้นในปี 2565

3.เมื่อมีหลักฐานประจักษ์ว่ามีผู้ติดเชื้อเข้ามาใช้บริการในสถานประกอบการ หรือมีพนักงานเป็นผู้ติดเชื้อ ให้พิจารณาปิดสถานประกอบการชั่วคราวเป็นเวลา 3 วัน หรือตามเกณฑ์ที่ใช้ในกิจกรรมอื่น เพื่อทำความสะอาดและฆ่าเชื้อในสถานประกอบการอย่างเข้มข้น และกักตัว (Home Isolation) เฉพาะผู้สัมผัสเสี่ยงสูงเป็นเวลา 14 วัน

4.จัดหาสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ โดยมีระยะปลอดดอกเบี้ย พร้อมผ่อนคลายเงื่อนไขในการพิจารณาสินเชื่อเพื่อเสริมสร้างสภาพคล่องแก่สถานประกอบการในระยะเร่งด่วน

5.มอบหมายผู้ว่าราชการจังหวัดหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในแต่ละจังหวัดบูรณาการการการรณรงค์และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบ ตระหนักรู้ และปฏิบัติตามมาตการป้องกันตนเองขั้นสูงสุด (Universal Prevention) อย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันการการ์ดตก

ทั้งนี้ กลุ่มผู้ประกอบการในเขตพื้นกรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมถึงในจังหวัดที่เป็นพื้นที่เศรษฐกิจและการท่องเที่ยวหลัก ยินดีให้ความร่วมมือและสนับสนุนการดำเนินการของรัฐบาลและศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ในการประกอบกิจการ เพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจ ส่งเสริมความมั่นคงทางสังคมควบคู่กับความปลอดภัยด้านสาธารณสุขอย่างสมดุลและยั่งยืนต่อไป

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 ต.ค. 64)

Tags: , , , , , , ,
Back to Top