ข่าวดี! “ไฟเซอร์” เตรียมมอบสูตรผลิตยารักษาโควิดให้ประเทศต่างๆ ตามรอย “เมอร์ค”

นายชาร์ลส์ กอร์ ผู้อำนวยการองค์กรสิทธิบัตรยาร่วม (MPP) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากองค์การสหประชาชาติ (UN) กล่าวชื่นชมบริษัทเมอร์ค แอนด์ โค และบริษัทริดจ์แบ็ค ไบโอเทราพิวติกส์ ซึ่งได้อนุญาตให้ประเทศต่างๆผลิตยาโมลนูพิราเวียร์ ซึ่งเป็นยารักษาโรคโควิด-19 เพื่อให้กลุ่มประเทศยากจนสามารถเข้าถึงยาดังกล่าว

“ผมหวังว่าสิ่งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้บริษัทต่างๆเข้ามาหา MPP เพื่อขอรับช่วงสิทธิบัตรผลิตยาโมลนูพิราเวียร์ เนื่องจากการเข้าถึงยาดังกล่าวกำลังเป็นปัญหาในขณะนี้ ซึ่งหากมองจากมุมทางด้านวิทยาศาสตร์ ภาคอุตสาหกรรมมีผลงานที่ดี โดยเริ่มจากการผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 และขณะนี้ก็กำลังผลิตยารักษาโรค แต่ปัญหาในการเข้าถึงวัคซีนและยาดังกล่าวกำลังทำลายความสำเร็จที่เกิดขึ้น” นายกอร์กล่าว

ทั้งนี้ MPP แถลงก่อนหน้านี้ว่า MPP ได้บรรลุข้อตกลงด้านสิทธิบัตรยากับบริษัทเมอร์คและริดจ์แบ็ค โดยบริษัททั้งสองจะมอบสูตรการผลิตยาโมลนูพิราเวียร์ให้แก่ประเทศต่างๆ

นอกจากนี้ นายกอร์ยังเปิดเผยว่า บริษัทไฟเซอร์ อิงค์ ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการทดลองระยะที่ 3 สำหรับยาเม็ดชนิดรับประทานเพื่อรักษาโรคโควิด-19 เช่นเดียวกับยาโมลนูพิราเวียร์ ก็ได้เข้าเจรจากับ MPP แล้ว เกี่ยวกับการมอบช่วงสิทธิบัตรการผลิตยาดังกล่าวให้แก่ประเทศต่างๆเช่นกัน

ทั้งนี้ บริษัทที่ต้องการผลิตยาโมลนูพิราเวียร์สามารถยื่นเรื่องต่อ MPP เพื่อขอการอนุมัติ โดย MPP จะมอบช่วงสิทธิบัตรให้แก่บริษัทที่มีคุณสมบัติเหมาะสม และได้รับการอนุมัติจากหน่วยงานสาธารณสุขภายในประเทศในการผลิตยาดังกล่าว

MPP เปิดเผยว่า ขณะนี้มีบริษัทกว่า 50 แห่งที่ได้ยื่นเรื่องขอรับช่วงสิทธิบัตรในการผลิตยาโมลนูพิราเวียร์แล้ว

บริษัทเมอร์คและบริษัทริดจ์แบ็คจะไม่เรียกเก็บค่ารอยัลตี หรือค่าตอบแทนใดๆจากบริษัทที่ผลิตยาโมลนูพิราเวียร์ ตราบใดที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ยังคงจัดอันดับโควิด-19 เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ

คาดว่าการมอบช่วงสิทธิบัตรการผลิตยาดังกล่าว จะทำให้ยาโมลนูพิราเวียร์มีราคาถูกลงเหลือเพียงคอร์สละ 20 ดอลลาร์ หรือราว 650 บาท ขณะที่รัฐบาลสหรัฐซื้อยาดังกล่าวจากเมอร์คในราคาคอร์สละ 700 ดอลลาร์ หรือมากกว่า 23,000 บาท

ทั้งนี้ ยา 1 คอร์สประกอบด้วยยาโมลนูพิราเวียร์ขนาด 200 มิลลิกรัม จำนวน 40 เม็ดสำหรับผู้ป่วย 1 คน โดยผู้ป่วยจะรับประทานยาวันละ 2 ครั้งๆละ 4 เม็ด เป็นเวลา 5 วัน

อย่างไรก็ดี ประเทศที่เข้าเกณฑ์ได้รับช่วงสิทธิบัตรการผลิตยาโมลนูพิราเวียร์มีอยู่ 105 ประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศในเอเชียและแอฟริกา โดยอยู่ในกลุ่มประเทศด้อยพัฒนา (LDC), กลุ่มประเทศในทวีปแอฟริกาตอนใต้ทะเลทรายซาฮารา (SSA), กลุ่มประเทศรายได้ต่ำ (LIC), กลุ่มประเทศรายได้ต่ำถึงปานกลาง (LMIC) และกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางค่อนข้างสูง (UMIC)

สำหรับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีอยู่ 6 ประเทศที่เข้าเกณฑ์ดังกล่าว ได้แก่ สปป.ลาว เมียนมา กัมพูชา อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ส่วนประเทศที่ไม่อยู่ในรายชื่อ ได้แก่ บรูไน มาเลเซีย สิงคโปร์ และไทย

ทั้งนี้ รายชื่อ 105 ประเทศที่รับสิทธิผลิตยาโมลนูพิราเวียร์ ได้แก่:-

Afghanistan, Algeria, Angola, Bangladesh, Belize, Benin, Bhutan, Bolivia, Botswana, Burkina Faso, Burundi, Cabo Verde, Cambodia, Cameroon, Central African Republic, Chad, Comoros, Congo, Congo, democratic Republic of the Côte d’Ivoire, Cuba, Djibouti, Dominica, Egypt, El Salvador, Equatorial Guinea, Eritrea, Eswatini, Ethiopia, Fiji, Gabon, Gambia, Ghana, Grenada, Guatemala, Guinea, Guinea-Bissau, Guyana, Haiti, Honduras, India, Indonesia, Iran, Iraq, Jamaica, Kenya, Kiribati, Korea (Democratic People’s Republic of), Lao People’s Democratic Republic, Lesotho, Liberia, Libya, Madagascar, Malawi, Maldives, Mali, Marshall Islands, Mauritania, Mauritius, Micronesia, Moldova, Mongolia, Morocco, Mozambique, Myanmar, Namibia, Nepal, Nicaragua, Niger, Nigeria, Pakistan, Papua New Guinea, Paraguay, Philippines, Rwanda, Saint Lucia, Saint Vincent and the Grenadines, Samoa, Sao Tome and Principe, Senegal, Seychelles, Sierra Leone, Solomon Islands, Somalia, South Africa, South Sudan, Sri Lanka, Sudan, Suriname, Syrian Arab Republic, Tajikistan, Tanzania, Timor-Leste, Togo, Tonga, Tunisia, Tuvalu, Uganda, Uzbekistan, Vanuatu, Venezuela, Viet Nam, Yemen, Zambia, Zimbabwe

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 ต.ค. 64)

Tags: , , , ,
Back to Top