ZoomIn: BBL-BAY คู่ชิงพอร์ตรายย่อยซิตี้แบงก์กว่า 7 หมื่นลบ.ลุ้นผล ธ.ค.64 ถึงต้นปี 65

แหล่งข่าวจากวงการธุรกิจการเงิน เปิดเผยว่า ขณะนี้มีธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ 3 รายอยู่ระหว่างรอผลการประมูลซื้อพอร์ตธุรกิจรายย่อยของธนาคารซิตี้แบงก์ ในประเทศไทย หลังจากเปิดให้ผู้ที่สนใจยื่นประมูลเข้ามาในช่วงปลายเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา โดยมีธนาคารบางแห่งถอนตัวออกไป เบื้องต้นมูลค่าพอร์ตสินเชื่อรายย่อยของธนาคารซิตี้แบงก์ในประเทศไทยอยู่ที่กว่า 7 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ ตามกรอบเวลาของ ซิตี้ กรุ๊ป เบื้องต้นกำหนดให้การขายธุรกิจรายย่อยใน 13 ประเทศจะต้องแล้วเสร็จภายในช่วงไตรมาส 2/65 หลังจากที่ได้เริ่มมีการประกาศออกมาตั้งแต่ช่วงต้นปี โดยการขายธุรกิจรายย่อยของธนาคารซิตี้แบงก์ในประเทศไทย หลังจากนี้คาดว่าจะได้ข้อสรุปผลการประมูลอย่างเร็วภายในช่วงเดือน ธ.ค. 64 หรืออย่างช้าต้นปี 65

นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส กล่าวว่า หากธนาคารใดได้พอร์ตของซิตี้แบงก์ในประเทศไทยไปจะเป็นผลบวกในการต่อยอดธุรกิจสินเชื่อรายย่อย โดยจากข่าวที่ออกมามีธนาคารที่สนใจร่วมประมูล 2-3 ราย โดยเฉพาะ BBL และ BAY ซึ่งมองว่าทั้ง 2 ธนาคารเป็นธนาคารทีมีศักยภาพสูงในการรับช่วงต่อจากธนาคารซิตี้แบงก์

โดยในส่วนของ BBL คาดว่าหากชนะการประมูลพอร์ตของธนาคารซิตี้จะเข้ามาเสริมในส่วนของธุรกิจที่รายย่อยได้ เนื่องจาก BBL มีฐานลูกค้ากลุ่มนี้ไม่มากเพียง 10% ต้นๆ และจะเป็นการเข้ามาเสริมการต่อยอดของธุรกิจรายย่อยที่จะช่วยผลักดันความสามารถในการทำกำไรของ BBL ได้

ขณะที่ BAY มีความแข็งแกร่งในธุรกิจสินเชื่อรายย่อยอยู่แล้ว มีความเชี่ยวชาญ และมีฐานลูกค้าอยู่จำนวนมาก มีความโดดเด่นในด้านการทำการตลาด หากได้พอร์ตธนาคารซิตี้แบงก์เข้ามาจะทำให้ฐานลูกค้ารายย่อยของ BAY เพิ่มขึ้นอีกค่อนข้างมาก และผลักดันส่วนแบ่งตลาด (มาร์เก็ตแชร์) ให้เพิ่มขึ้นได้อีก และจะเป็นผู้เล่นในตลาดที่มีมาร์เก็ตแชร์ที่สูงมาก

แต่อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามในเรื่องราคาที่ประมูลมาประกอบด้วยว่าถูกหรือแพงอย่างไร รวมถึงค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่จะต้องตามมา เพราะยังมีค่าใช้จ่ายในการที่จะรักษาสิทธิพิเศษของลูกค้าด้วย

ด้านนายธนภัทร ฉัตรเสถียร ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ กล่าวว่า จากรายชื่อของธนาคารที่มีข่าวว่าแสดงความสนใจเข้าประมูลพอร์ตธุรกิจรายย่อยจากธนาคารซิตี้แบงก์ ถือว่ามีศักยภาพและมีความสามารถที่จะเข้ามารับช่วงต่อ โดยที่มองในส่วนของ BBL หากชนะการประมูลไปก็จะเข้ามาเป็นส่วนเสริมในธุรกิจสินเชื่อรายย่อยของ BBL ซึ่งที่ผ่านมาไม่ได้เน้นในกลุ่มลูกค้านี้มาก โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ในกลุ่มบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล จึงเชื่อว่ามีโอกาสที่ BBL จะสนใจนำกลุ่มลูกค้าในพอร์ตของธนาคารซิตี้แบงก์มาเสริม ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าที่มีคุณภาพ และต่อยอดการหันมารุกธุรกิจรายย่อยมากขึ้น

ขณะที่ BAY ซึ่งมีพอร์ตสินเชื่อรายย่อยที่มาก และมีฐานลูกค้าบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลเป็นจำนวนมาก มีความเชี่ยวชาญในธุรกิจดังกล่าวอยู่แล้ว มีโอกาสแข่งขันในการประมูลค่อนข้างมาก และหากชนะการประมูลได้พอร์ตจากธนาคารซิตี้แบงก์เข้ามาจะทำให้ BAY ขึ้นเป็นผู้นำตลาดในกลุ่มบัตรเครดิตได้ จากฐานลูกค้าที่มีเข้ามาเพิ่มขึ้น และได้กลุ่มลูกค้าระดับบนจากธนาคารซิตี้แบงก์เข้ามาเสริม ทำให้ฐานลูกค้าของ BAY มีการกระจายสัดส่วนมากขึ้น

นายมงคล พ่วงเภตรา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนหลักทรัพย์ บล.เคทีบีเอสที กล่าวว่า สิ่งที่ต้องติดตามในการประมูลพอร์ตธุรกิจรายย่อยของธนาคารซิตี้แบงก์ เป็นเรื่องของราคาประมูลว่าจะถูกหรือแพง มีความเหมาะสมหรือไม่ และคนที่ได้ไปมีศักยภาพในการทำตลาดต่อไปอย่างไร โดยคาดว่าความสนใจของ BBL มาจากการที่อยากเข้าไปขยายฐานในกลุ่มลูกค้ารายย่อยเพิ่มขึ้น และยังมีสภาพคล่องในมือที่มาก ทำให้เป็นหนึ่งในธนาคารที่ปรากฎในข่าวที่มีศักยภาพในการแข่งขันประมูลพอร์ตธนาคารซิตี้แบงก์เข้ามา

ส่วน BAY ที่มีความเชี่ยวชาญ และมีฐานลูกค้าที่รายย่อยเป็นจำนวนมากอยู่แล้ว มองว่ายังมีโอกาสแข่งขันได้ หากพิจารณาในแง่ของความชำนาญในธุรกิจ และความสามารถในการนำฐานลูกค้าของธนาคารซิตี้แบงก์ไปต่อยอด แต่ต้องขึ้นกับราคาเสนอประมูลว่าจะเป็นอย่างไร อีกทั้ง BAY ในกรณีที่ไม่ได้พอร์ตของธนาคารซิตี้แบงก์เข้ามาก็ยังมีความสามารถในการขยายตลาดด้วยตัวเอง จากการทำการตลาดอย่างต่อเนื่องและแบรนด์ที่คนส่วนใหญ่รู้จักอยู่แล้ว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 พ.ย. 64)

Tags: , , , , , , , , ,
Back to Top