In Focus: สหรัฐฝ่าวิกฤตโควิด ประกาศเปิดพรมแดนรับ 33 ชาติในรอบเกือบ 2 ปี

เมื่อวันจันทร์ที่ 8 พ.ย.ที่ผ่านมา ทั่วโลกได้เห็นบรรยากาศ “ดีต่อใจ” ที่อบอวลไปด้วยความชื่นมื่นและน้ำตาแห่งความสุขทั้งภาพพ่อแม่ที่มารอเจอหน้าลูก ปู่ย่าตายายที่มารับหลาน คู่รักได้กลับมาเจอกัน และภาพของเพื่อน ๆ ที่มารวมแก๊งกันตามสนามบินนานาชาติหลายแห่งในสหรัฐ ภาพเหล่านี้เกิดขึ้นหลังรัฐบาลยกเลิกคำสั่งห้ามผู้ที่มาจาก 33 ประเทศเดินทางเข้าสหรัฐตามมาตรการสกัดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งบังคับใช้มาตั้งแต่เดือนมี.ค. 2563

การยกเลิกคำสั่งดังกล่าวที่บังคับใช้มาร่วม 19 เดือนนั้น นอกจากจะช่วยเยียวยาความรู้สึกโหยหาและความคิดถึงของผู้คน การกลับมาเปิดพรมแดนของประเทศเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 1 ของโลกยังถือเป็นการส่งสัญญาณแห่งความหวัง แม้ว่าทั่วโลกยังคงต้องรับมือการระบาดของโควิด-19 ต่อไป ในสัปดาห์นี้ In Focus จึงขอประมวลความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นในสหรัฐและข้อมูลที่น่าติดตามในประเด็นอื่น ๆ มาฝากกัน

บริติช แอร์เวย์-เวอร์จิน แอตแลนติก จับมือเทคออฟสู่มหานครนิวยอร์ก

การกลับมาเปิดพรมแดนสหรัฐครั้งนี้ส่งผลให้ผู้ที่มาจากประเทศต่าง ๆ 33 แห่ง ประกอบด้วยประเทศในกลุ่มวีซ่าเชงเก้น (ประเทศในสหภาพยุโรป 22 ประเทศ รวมไอซ์แลนด์, ลิกเตนสไตน์, นอร์เวย์ และสวิตเซอร์แลนด์), จีน, สหราชอาณาจักร, ไอร์แลนด์, อิหร่าน, แอฟริกาใต้, บราซิล และอินเดีย เดินทางเข้าสหรัฐได้

แน่นอนว่าบรรดาสายการบินที่มีเส้นทางบินระหว่างสหรัฐและประเทศข้างต้นต่างตื่นเต้นที่ได้กลับมาให้บริการอีกครั้ง โดยไฮไลท์สำคัญอยู่ที่สายการบินบริติช แอร์เวย์และเวอร์จิน แอตแลนติก ซึ่งได้จัดเที่ยวบินสองเที่ยวออกเดินทางพร้อมกันจากสนามบินฮีทโธรว์ในกรุงลอนดอนของอังกฤษ มุ่งหน้าไปยังสหรัฐ โดยเครื่องบินของสายการบินเวอร์จิน แอตแลนติก เที่ยวบินที่ VS3 ร่อนลงจอดที่สนามบินนานาชาติจอห์น เอฟ เคนเนดี ในนิวยอร์ก เมื่อเวลา 10.51 น. ตามเวลาท้องถิ่น และในเวลา 11.00 น. เครื่องบินของสายการบินบริติช แอร์เวย์ เที่ยวบินที่ BA001 ก็ตามมาในเวลาไล่เลี่ยกัน

ทางด้านนายฌอน ดอยล์ ซีอีโอของสายการบินบริติช แอร์เวย์ซึ่งได้ร่วมเดินทางไปในเที่ยวบินแรกของสายการบินหลังสหรัฐยกเลิกคำสั่งแบน ได้กล่าวว่า “นี่คือวันที่พวกเราเฝ้ารอให้มาถึงเร็ว ๆ หลังจากที่ไม่สามารถเดินทางไปสหรัฐได้ 604 วันเต็ม เราดีใจมากที่ได้กลับมาบินอีกครั้ง”

หลักเกณฑ์ในการเดินทางเข้าสหรัฐหลังเปิดประเทศ

รัฐบาลสหรัฐได้กำหนดให้ผู้ประสงค์เดินทางเข้าประเทศที่ไม่ใช่พลเรือนสหรัฐจะต้องแสดงหลักฐานการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้ครบโดสก่อนเดินทางอย่างน้อยสองสัปดาห์ โดยจะต้องฉีดวัคซีนที่ได้รับการรับรองหรืออนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาสหรัฐ (FDA) หรือเป็นวัคซีนที่อยู่ในรายชื่อขององค์การอนามัยโลก (WHO) ซึ่งประกอบด้วยวัคซีนของบริษัทจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน, ไฟเซอร์/ไบออนเทค, โมเดอร์นา, แอสตร้าเซนเนก้า, โควิชีลด์, ซิโนแวค และซิโนฟาร์ม

ทั้งนี้ ผู้เดินทางสามารถแสดงเอกสารรับรองการฉีดวัคซีนได้ทั้งแบบกระดาษ, รูปถ่ายเอกสาร หรือใบรับรองดิจิทัลให้เจ้าหน้าที่สนามบินตรวจสอบ

นอกจากการฉีดวัคซีนแล้ว ผู้เดินทางมายังสหรัฐยังต้องแสดงหลักฐานการตรวจหาเชื้อโควิด-19 เป็นลบไม่เกิน 3 วันก่อนออกเดินทาง โดยสหรัฐได้บังคับใช้มาตรการนี้มาตั้งแต่เดือนม.ค. ทั้งผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศและพลเมืองของสหรัฐเอง ในกรณีที่ผู้เดินทางจากต่างประเทศยังไม่ได้ฉีดวัคซีนแม้จะเป็นพลเมืองของสหรัฐก็จะต้องเข้ารับการตรวจหาเชื้อภายในหนึ่งวันหลังจากที่เดินทางมาถึง โดยสามารถตรวจหาเชื้อได้ทั้งวิธี Rapid Antigen และการตรวจแบบ PCR

อย่างไรก็ดี รัฐบาลสหรัฐได้ระบุข้อยกเว้นเกี่ยวกับการบังคับใช้มาตรการใหม่ สำหรับผู้ที่เดินทางจากต่างประเทศซึ่งอายุต่ำกว่า 18 ปี เนื่องจากบางประเทศยังไม่อนุมัติการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ให้กับเด็ก

สำหรับผู้เดินทางจากต่างประเทศที่อายุตั้งแต่ 2 ขวบขึ้นไปซึ่งมากับผู้ใหญ่นั้นต้องแสดงหลักฐานการตรวจหาโควิดเป็นลบภายในสามวันก่อนออกเดินทาง ส่วนในกรณีที่เดินทางโดยลำพัง จะต้องแสดงหลักฐานดังกล่าวภายในหนึ่งวันก่อนออกเดินทาง นอกจากนี้ สหรัฐยังกำหนดให้ผู้เดินทางเข้าประเทศต้องแจ้งข้อมูลสำหรับการติดต่อ เช่น อีเมล หมายเลขโทรศัพท์ และที่อยู่แก่สายการบิน เพื่อเตรียมไว้ในกรณีที่พบการระบาดหลังเดินทางมาถึงสหรัฐ

สายการบินเฮรับยอดจองพุ่งทะยาน-คาดธุรกิจค้าปลีกรับอานิสงส์แต่ฟื้นตัวช้า

การระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไปทุกหย่อมหญ้า โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการบินและการท่องเที่ยวที่เข้าขั้นเจ็บปางตาย ข้อมูลจากสมาคมการท่องเที่ยวของสหรัฐ (U.S. Travel Association) เปิดเผยว่า ตั้งแต่โควิดเริ่มระบาด ภาคการท่องเที่ยวของสหรัฐสูญเม็ดเงินไปเกือบ 5 แสนล้านดอลลาร์ ขณะที่ภาครัฐสูญรายได้จากการจัดเก็บภาษีในธุรกิจท่องเที่ยวไปราว 6.4 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็น 36% ในปี 2563

ขณะที่ผลกระทบในภาคอุตสาหกรรมการบินทั่วโลกนั้น ข้อมูลเบื้องต้นจากองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ระบุว่า ผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้สายการบินต่าง ๆ ปรับลดจำนวนผู้โดยสารลง 39% ในปี 2564 เมื่อเทียบกับปี 2562 ขณะที่ยอดผู้โดยสารทั่วโลกนั้นคาดว่าลดลงไปราว 2.19-2.23 พันล้านคน หรือ 49-50% ส่วนรายได้จากการดำเนินงานด้านการขนส่งผู้โดยสารคาดว่าจะหายไปราว 3.23-3.27 แสนล้านดอลลาร์

นอกจากนี้ ข้อมูลจากสมาคมการท่องเที่ยวของสหรัฐยังระบุว่า ในปี 2562 นักท่องเที่ยวจาก 28 ประเทศในยุโรปซึ่งสหรัฐได้สั่งห้ามเดินทางเข้าประเทศนั้น มีสัดส่วนมากกว่า 37% ของผู้เดินทางจากต่างประเทศ ขณะที่ Cirium ซึ่งเป็นบริษัทวิเคราะห์ข้อมูลด้านการเดินทางระบุว่า หลังสหรัฐมีคำสั่งเปิดประเทศ สายการบินต่าง ๆ ได้เพิ่มจำนวนเที่ยวบินระหว่างสหราชอาณาจักรและสหรัฐเพิ่มจากเดือนต.ค. ขึ้นอีก 21% ในเดือนพ.ย.

ทางด้านนายวสุ ราชา ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายรายได้ของสายการบินอเมริกัน แอร์ไลน์ ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซีเอ็นบีซีที่สนามบินนานาชาติจอห์น เอฟ เคนเนดี ในนิวยอร์กว่า ยอดจองเที่ยวบินระหว่างสหรัฐกับบราซิลและสหราชอาณาจักรเพิ่มขึ้นถึง 70% ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ส่วนใหญ่นั้นเป็นเที่ยวบินที่มีกำหนดเดินทางในไตรมาสที่ 4 นอกจากนี้ สายการบินอเมริกัน แอร์ไลน์ยังร่วมกับสายการบินบริติช แอร์เวย์ ดำเนินการเร่งฟื้นฟูปริมาณการเดินทางให้กลับมาอยู่ในระดับใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิดระบาดให้ได้ภายในต้นปี 2565

นโยบายเปิดรับนักท่องเที่ยวของสหรัฐยังส่งผลดีต่อธุรกิจค้าปลีกซึ่งเคยมีเงินสะพัดจากนักท่องเที่ยวเป็นมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ ทั้งจากการจำหน่ายของที่ระลึก, สินค้าแบรนด์หรู, เหล้าชั้นดี รวมถึงสินค้าอื่น ๆ ที่หาจากที่อื่นไม่ได้ โดยสำนักงานการค้าระหว่างประเทศ (ITA) ระบุว่า ปี 2562 เม็ดเงินที่นักท่องเที่ยวต่างชาติจับจ่ายใช้สอยในสหรัฐนั้น มีมูลค่ากว่า 3.4 พันล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็น 27% ของมูลค่าการใช้จ่ายทั้งหมดในภาคการท่องเที่ยวและเดินทาง

อย่างไรก็ดี บริษัทและผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าปลีกได้ให้ความเห็นว่า อาจต้องใช้เวลานานกว่าที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในสหรัฐจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นและปริมาณการใช้จ่ายกลับสู่ระดับเดียวกับก่อนที่โควิด-19 จะระบาด ประกอบกับเที่ยวบินที่ยังมีจำนวนไม่มาก ขณะที่อีกหลายประเทศ รวมถึงจีนยังคงใช้มาตรการที่เข้มงวดเพื่อควบคุมการเดินทางออกนอกประเทศ รวมถึงมาตรการต่าง ๆ ในการสกัดโควิด-19 ที่มีขั้นตอนซับซ้อนอาจส่งผลให้นักท่องเที่ยวชะลอการจองเที่ยวบินออกไปก่อน โดยแดเนียล บินเดอร์ ผู้เชี่ยวชาญจากโคลัมบัส คอนซัลติ้ง (Columbus Consulting) บริษัทที่ปรึกษาด้านธุรกิจค้าปลีก ให้ความเห็นในกรณีนี้โดยยกตัวอย่างเหตุการณ์ 9/11 และการระบาดของโรคซาร์ส (SARS) ว่า ภาคธุรกิจค้าปลีกของสหรัฐต้องใช้เวลานานหลายเดือนกว่าจะดึงนักท่องเที่ยวกลับมาได้มากและใช้จ่ายอย่างอิสระ

จับตาสถานการณ์โควิดยุโรป ขณะหลายประเทศทำนิวไฮ

ข้ามฟากมาฝั่งยุโรป บรรยากาศตามสนามบินต่าง ๆ ในเมืองใหญ่หลายแห่งคราคร่ำไปด้วยประชาชนที่มารอขึ้นเครื่องหลังสหรัฐไฟเขียวยกเลิกคำสั่งห้ามเข้าประเทศ แม้ภาพที่เห็นจะแสดงถึงความหวัง แต่ก็ยังวางใจได้ไม่เต็มที่ เพราะเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ออกมาเตือนว่า ยุโรปกำลังเผชิญกับยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาที่กลับมาเพิ่มขึ้นจนอยู่ในระดับที่น่ากังวล และกลายเป็นจุดศูนย์กลางของการระบาดอีกครั้ง โดยมีความเป็นไปได้สูงว่าอาจมีผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 อีก 500,000 คนในยุโรปภายในเดือนก.พ.ปี 2565

ขณะที่เยอรมนีรายงานเมื่อวันที่ 8 พ.ย.ว่า อัตราผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในรอบ 7 วันที่ผ่านมานั้นทำสถิติเพิ่มสูงสุดเป็นประวัติการณ์นับแต่เกิดการระบาด และเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (5 พ.ย.) ยังพบผู้ติดเชื้อสูงสุดในวันเดียวถึง 37,120 ราย ขณะที่ออสเตรียได้ออกคำสั่งห้ามผู้ที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ไม่ให้เข้าร้านอาหารและโรงแรมหลังยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ไอซ์แลนด์ได้บังคับใช้มาตรการสวมหน้ากากอนามัยและเว้นระยะห่างทางสังคมอีกรอบ นอกจากนี้ รัสเซีย ยูเครน และกรีซยังพบผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงเป็นประวัติการณ์เช่นกัน

แม้สถานการณ์การระบาดในเยอรมนีเข้าขั้นน่าเป็นห่วง แต่บรรดานักการเมืองก็ไม่ได้แสดงความกังวลในประเด็นนี้มากนัก โดยนายปีเตอร์ อัลท์ไมเออร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจได้ออกแถลงการณ์ขานรับสหรัฐเปิดพรมแดนว่า “ถือเป็นสัญญาณที่ดีในการกระชับความสัมพันธ์ข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจ และประชาชน”

ส่วนล่าสุดนั้น ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครงของฝรั่งเศสประกาศเมื่อวันที่ 9 พ.ย.ตามเวลาท้องถิ่นว่า รัฐบาลฝรั่งเศสจะเลื่อนการผ่อนปรนมาตรการควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 ออกไปก่อน อันเนื่องมาจากสถานการณ์การระบาดระลอกที่ 5 และได้เตือนว่า “เรายังไม่หลุดพ้นจากโรคระบาดนี้” นอกจากนี้ ปธน.มาครงยังระบุว่า การควบคุมเอกสารรับรองสุขภาพ (Health Pass) จะต้องเข้มข้นขึ้นในสถานที่ต่าง ๆ รวมถึงสนามบิน, ท่าเรือและสถานีรถไฟ ขณะเดียวกันประชาชนอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปและผู้ที่มีสุขภาพเปราะบางจะต้องเข้ารับการฉีดวัคซีนบูสเตอร์เพื่อต่ออายุเอกสารรับรองสุขภาพตั้งแต่วันที่ 15 ธ.ค.เป็นต้นไป

…. ท่ามกลางสถานการณ์โลกที่ผันผวนเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว และผันผวนยกกำลังสองจากภาวะโรคระบาดที่เราเผชิญกันมาเกือบ 2 ปี In Focus ขอเอาใจช่วยให้การเปิดประเทศของ “ดินแดนแห่งความฝันและความหวัง” อย่างสหรัฐในครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นในการก้าวสู่ความเป็น “นิวนอร์มอล” ที่ล้ำไปอีกขั้น เพราะสุดท้ายแล้ว สิ่งสำคัญที่สุดในยามนี้ก็คือ การเรียนรู้เพื่อที่จะอยู่กับความไม่แน่นอน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (10 พ.ย. 64)

Tags: , , , , ,
Back to Top