TDRI มองโลกหลังโควิดเพิ่มความเหลื่อมล้ำ-หนี้ครัวเรือนสูง-โครงสร้างศก.เปลี่ยน

นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง เศรษฐกิจไทยหลังโควิด ภายในงานสัมมนา SEC Capital Market Symposium 2021 ว่า แต่ละประเทศจะถึงโลกหลังโควิดไม่พร้อมกัน ซึ่งขึ้นอยู่กับการฉีดวัคซีน และอัตราการติดเชื้อโควิด-19 อย่าง ประเทศสหรัฐฯ, อเมริกาเหนือ, ยุโรปตะวันตก ฉีดวัคซีนได้เร็ว ขณะที่ไทยเองก็มีการฉีดวัคซีน แต่จากประมาณการของ The Economist มองว่าไทยจะฉีดวัคซีนได้ครอบคลุมประชากรทั้งหมดได้ในปี 65

อย่างไรก็ตาม หากประเมินทั่วโลกน่าจะสามารถจัดการกับการระบาดของโควิด-19 ได้พร้อมกันได้ราวปี 68 ซึ่งก็คาดหวังว่าไทยจะเข้าสู่โลกหลังโควิดได้เร็วกว่านั้น

สำหรับทิศทางเศรษฐกิจโลกและไทยในปีนี้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ปรับประมาณการณ์เศรษฐกิจในหลายประเทศลง อย่าง สหรัฐ และจีน จากการระบาดของโควิด-19 รวมถึงอินเดีย ขณะเดียวกันก็มีการปรับประมาณการณ์เศรษฐกิจขึ้นในกลุ่มประเทศยุโรปตะวันออก ส่วนไทยได้ปรับลดลงจากผลของการระบาดระลอกใหม่ โดยคาดเศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ราว 1% ในปีนี้ และคาดจะฟื้นตัวกลับมาได้ในปี 65 จากฐานที่ต่ำในปีนี้

ทั้งนี้โลกหลังโควิด-19 กับเศรษฐกิจไทยนั้น จะมี 2 สิ่งที่ทิ้งไว้ คือ 1. การเพิ่มความเหลื่อมล้ำ หลังโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อหลายธุรกิจปิดตัวลง ทำให้มีคนส่วนหนึ่งว่างงาน โดยไทยถือว่ามีอัตราการว่างงานค่อนข้างต่ำราว 1% แต่เมื่อโควิด-19 ระบาดจนถึง

ปัจจุบัน ได้ทำให้อัตราการว่างงานปรับตัวสูงขึ้นเป็น 2% หรือเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าของอัตราการว่างงานปกติ

2. โควิดยังเพิ่มหนี้ครัวเรือนของไทย ทั้งหนี้เอกชน และภาครัฐ โดยภาครัฐได้มีการปรับเพิ่มเพดานหนี้เป็น 70% ของ GDP แต่ไม่ได้เป็นกังวลมากนัก เนื่องจากเมื่อเศรษฐกิจฟื้นก็ยังสามารถเก็บภาษีเพิ่มได้ แต่สิ่งที่กังวลคือ หนี้ครัวเรือน ทั้งหนี้ซื้อบ้าน ซื้อรถ หนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.), หนี้ทำธุรกิจส่วนตัวต่างๆ หากเศรษฐกิจยังไม่สามารถฟื้นตัวได้เร็ว ส่วนนี้จะเป็นสิ่งที่น่ากังวลมากที่สุด

ด้านตลาดทุนไทย ตลอด 2 ปีที่เกิดโควิด-19 (ต.ค.62-ต.ค.64) มองว่าโควิดได้เปลี่ยนหน้าตาของตลาดทุนไทย โดยเฉพาะดัชนีตลาดหุ้นไทย หรือ SET Index แม้จะกลับมาอยู่ในระดับใกล้เคียงเดิม คล้ายกับตลาดหุ้นสิงค์โปร แต่หากเทียบกับตลาดอื่นในภูมิภาคเอเชีย อย่างเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ที่การเติบโตของตลาดหลักทรัพย์เพิ่มขึ้นตลอด 2 ปี ราว 30-40% ตลาดหุ้นไทยยังมีการเติบโตในระดับต่ำ

ขณะที่เมื่อมองดูการเติบโตของบริษัทจดทะเบียนไทย บริษัทที่ควรจะเติบโตได้มากๆ อย่าง เทคโนโลยีสารสนเทศ และ ICT กลับเติบโตได้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย และต่ำกว่ามากเมื่อเทียบกับบริษัทในต่างประเทศ ที่หุ้นเติบโตอย่างก้าวกระโดด รวมถึงท่องเที่ยว แม้ไทยมีการทยอยเปิดประเทศ เปิดเมือง แต่มองว่าอาจจะเร็วไปเล็กน้อย 1-2 เดือนกับอัตราการฉีดวัคซีนที่ยังล้าช้าอยู่ ขณะเดียวกันยังมีปัจจัยลบ จากประเทศจีน ซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มหลัก ได้มีมุมมองออกไปอีกด้าน เห็นได้จากการสร้างศูนย์กักตัวในกวางโจว ที่มีเตียง มีห้องพัก และยังกระจายไปในเมืองต่างๆ ซึ่งแปลว่าจีนยังไม่พร้อมเปิดประเทศ และพยายามควบคุมการติดเชื้อให้เป็นศูนย์ แตกต่างจากหลายประเทศที่ยกเลิกนโยบายเหล่านี้ไปแล้ว ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นคือ เมื่อจีนไม่พร้อมที่จะเปิดประเทศ และปล่อยให้ประชาชนออกมาท่องเที่ยวในประเทศต่างๆ รวมถึงไทย ภาคการท่องเที่ยวก็น่าจะยังต้องใช้เวลาอีก 1 ปี ในการฟื้นตัวกลับมา

อีกทั้งการเดินทาง การบริโภค ก็จะได้รับผลกระทบต่อเนื่อง หลังภาคการท่องเที่ยวยังไม่ฟื้นตัว ซึ่งจะมีผลต่ออีกหลายสาขา โดยเฉพาะภาคอสังหาริมทรัพย์ ในส่วนของพื้นที่ว่างของสำนักงานที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากคนมีวิถีชีวิตที่ทำงานจากที่บ้านมากขึ้น

ส่วนบริษัทที่สามารถเติบโตได้ดีกว่าค่าเฉลี่ย ได้แก่ การเกษตร และอุตสาหกรรมการผลิต จากการส่งออกยังไปได้ดี และราคาสินค้าที่สูงขึ้น ซึ่งจากภาพดังกล่าว ทำให้เศรษฐกิจของไทยยังไม่แย่มากนัก เนื่องจากมีการกระจายความเสี่ยงในหลายธุรกิจ ประกอบกับยังมีบริษัทที่เติบโต จากได้รับอานิสงค์จากโควิด และการเข้าสู่โลกหลังโควิด คือ การรักษาพยาบาล, การบริการสุขภาพทางไกล เป็นต้น

“หลังโควิดโลกคงหน้าตาไม่หมือนเดิม เนื่องจากโควิดได้มาเปลี่ยนแปลงโลกไปในหลายด้าน ทั้งเร่งการเปลี่ยนแปลงบางด้านให้เร็วขึ้น การใช้ไอที การใช้ออนไลน์ ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำสูงขึ้น เกิดหนี้ครัวเรือนสูงขึ้น ฉะนั้นโครงสร้างเศรษฐกิจคงไม่เหมือนเดิม แต่ทุกการเปลี่ยนแปลงมีทั้งความเสี่ยงและโอกาส”

นายสมเกียรติ กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (10 พ.ย. 64)

Tags: , , , , ,
Back to Top