PoliticalView: มองคำวินิจฉัยศาล รธน.เพิ่มดีกรีความร้อนแรงแก้ รธน.-ม.112 เชื่อเอาผิดถึงพรรคฯยาก

นายสติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า มองกรณีศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยวานนี้ว่าการกระทำของ 3 แกนนำม็อบราษฎรเป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขว่า ผลที่เกิดขึ้นจากนี้จะนำไปสู่การเคลื่อนไหวของคนที่ไม่พอใจกับคำตัดสินของศาลเข้มข้นขึ้น รวมถึงจะมีการชุมนุมเพื่อผลักดันกฏหมายที่เกี่ยวกับ ม.112 และ ม.116 เข้าสู่การพิจารณาของรัฐบาล เพื่อแสดงพลังให้สภาต้องเดินหน้าแก้ไขเรื่องนี้ และเพื่อต้องการให้เห็นว่าไม่พอใจกับคำตัดสินของศาล

ทั้งนี้ พลังของการชุมนุมจะกดดันรัฐบาลได้ระดับหนึ่ง แต่เสียงของรัฐบาลก็ขึ้นอยู่กับการสนับสนุนของ ส.ส.ในสภาด้วย แต่ถ้าการชุมนุมยังสามารถเดินหน้าต่อเนื่อง รัฐบาลก็อาจเอาไม่อยู่ ประกอบกับ ขณะนี้ที่มีการเปิดประเทศแล้ว หากสถานการณ์โควิด-19 กลับมาแพร่ระบาด หรือ เศรษฐกิจไม่ฟื้นตัว ก็อาจเป็นอีกปัจจัยให้รัฐบาลเซได้เหมือนกัน

แต่สิ่งที่ต้องโฟกัสจากนี้ไป คือ จะมีความพยายามเดินหน้าแก้ไข ม.112 และ ม.116 รวมถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนเข้าชื่อนั้นจะมีเดินหน้าผลักดันมากขึ้น เพราะถือเป็นการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงที่อยู่ในระบบและเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ และกลายเป็นว่าความรู้สึกของคนที่สนับสนุนในเชิงโครงสร้าง ซึ่งจากคำวินิจฉัยออกมา จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการสังคายนาครั้งใหญ่ เพื่อไม่ให้เกิดการตีความกันอีก

ส่วนกรณีที่อาจมีความพยายามนำคำวินิจฉัยของศาลไปสู่การยุบพรรคการเมืองที่ให้การสนับสนุนกลุ่มราษษฎรนั้น นายสติธร มองว่า คงไม่ใช่เรื่องง่าย ซึ่งการเอาผิดกับพรรคการเมืองได้นั้น ต้องดูปัจจัยประกอบกัน เช่น ในการชุมนุมนั้นมีระดับแกนนำพรรคไปขึ้นเวทีปราศรัย หรือแสดงสัญลักษณ์ในการชุมนุมหรือไม่ หรือหากเป็นการสนับสนุนในรูปแบบประชุมร่วมกับแกนนำผู้ชุมนุม หรือสนับสนุนทางการเงิน คงต้องมีพยานหลักฐานชัดเจนด้วย *นักเคลื่อนไหวการเมืองเชื่อม็อบปรับยุทธวิธี

ขณะที่นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย คาดกลุ่มมวลชนที่เคลื่อนไหวทางการเมืองยังไม่หมดไป หลังศาลธรรมนูญมีคำวินิจฉัยและห้ามกระทำการในลักษณะดังกล่าวอีก

“ไม่เชื่อว่าจะหยุด อาจกำลังคิดหาทางออก ปรับเปลี่ยนยุทธวิธีในการขับเคลื่อนที่จะไม่ให้ขัดต่อคำวำวินิจฉัยฯ แต่ไม่รู้ว่าจะขับเคลื่อนอย่างไร บางทีอาจมีตัวละครใหม่ออกมาเคลื่อนไหวแทนแต่ปฏิเสธว่าไม่เกี่ยวข้องกัน” นายศรีสุวรรณ กล่าวกับ “อินโฟเควสท์”

ขณะที่พรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองที่สนับสนุนการเคลื่อนไหวคงเพิ่มความระมัดระวังตัวมากขึ้น ไม่ออกมาแสดงตัวอย่างเปิดเผยชัดเจนเหมือนในอดีต เพราะอาจส่งผลให้ถูกยุบพรรคได้หากมีผู้นำไปร้องทุกข์กล่าวโทษว่ากระทำการที่ขัดต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย กล่าวว่า สถานการณ์ทางการเมืองนอกสภาหลังจากนี้ไปอาจลดความร้อนแรงลงไป เพราะหากไม่มีพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองกล้าออกแสดงตัวสนับสนุนเหมือนเดิมจะทำให้การเคลื่อนไหวไม่มีน้ำหนัก เป็นเพียงสีสันทางการเมืองเท่านั้น

“ถ้าไม่มีพรรคการเมืองหนุนหลังก็ทำให้การขับเคลื่อนมีน้ำหนักเบาลงไป”

นายศรีสุวรรณ กล่าว

สำหรับตนเองนั้นก็คงจับตาดูว่าหลังจากนี้จะมีใครออกมาเคลื่อนไหวที่ขัดต่อคำวินิจฉัยดังกล่าวหรือไม่ หากมีก็จะรวบรวมพยานหลักฐานไปร้องทุกข์กล่าวโทษต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่ามีผู้กระทำการฝ่าฝืนคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ แต่จะไม่ไปตามเหตุการณ์ในอดีตที่เกิดขึ้นก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยออกมา

“ตอนนี้ยังไม่คิดอะไร ต้องรอดูจนกว่าจะมีคนฝ่าฝืนหรือไม่ แต่ไม่ไปตามเรื่องที่เกิดขึ้นก่อนที่จะมีคำวินิจฉัย เพราะโดยหลักการกฎหมายจะมีผลย้อนหลังไม่ได้”

นายศรีสุวรรณ กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 พ.ย. 64)

Tags: , , , ,
Back to Top