ก.ล.ต.เตือนศึกษาข้อมูล-ระมัดระวัง “สมเด็จคอยน์” ยังไม่ชัดเจนซื้อขายได้หรือไม่

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เตือนผู้ลงทุนศึกษาข้อมูลและใช้ความระมัดระวังในการตัดสินใจซื้อขายเหรียญดิจิทัล “สมเด็จคอยน์” เนื่องจากข้อมูลในเบื้องต้นลักษณะของเหรียญไม่เข้าข่ายเป็นเหรียญที่ต้องได้รับอนุญาตให้เสนอขายจาก ก.ล.ต. และข้อมูลยังมีความไม่ชัดเจนในบางเรื่อง ดังนั้น จึงขอให้ผู้สนใจศึกษาข้อมูลและใช้ความระมัดระวังในการตัดสินใจซื้อขาย

ทั้งนี้ เนื่องจากเหรียญดังกล่าวใช้ชื่อว่า สมเด็จและเป็นกิจกรรมของวัด จึงอาจมีความเกี่ยวข้องและต้องได้รับอนุญาตจากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ หรือหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ด้วย

ก.ล.ต.ระบุว่า ผู้ประสานงานวัดป่ามหาญาณมีหนังสือมายัง ก.ล.ต. 2 ฉบับเพื่อหารือว่าเหรียญดังกล่าวเข้าข่ายเป็นเหรียญสินทรัพย์ดิจิทัล 4 ประเภท ซึ่งห้ามมิให้ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลนำมาให้บริการซื้อขายในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ตามข้อ 39/1 ของประกาศคณะกรรมการ ก.ล.ต. ที่ กธ. 19/2561 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล หรือไม่

ดังนั้น ก.ล.ต.จึงได้มีหนังสือขอข้อมูลเพิ่มเติมจากวัดป่ามหาญาณแล้ว เมื่อวันที่ 30 ส.ค.64 เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาให้ความเห็นต่อไป ในประเด็นเกี่ยวกับ

1. การใช้ชื่อสมเด็จมาเป็นชื่อเหรียญ รวมทั้งมีแผนจะนำเหรียญดังกล่าวไปซื้อขายในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลซึ่งโดยทั่วไปมีลักษณะเก็งกำไรนั้น การดำเนินการดังกล่าวมีความเหมาะสมที่อาจกระทบต่อพระพุทธศาสนา จึงให้ผู้ออกหารือและนำหนังสือความเห็นจากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติหรือหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ มาเพื่อประกอบการพิจารณาว่า เหรียญดังกล่าว ไม่ขัดต่อกฎหมาย

2. ข้อมูลเกี่ยวกับเหรียญเพื่อให้เกิดความชัดเจนขึ้น เช่น กลไกในการใช้สิทธิประโยชน์ของเหรียญมีลักษณะการดำเนินการอย่างไร อัตราในการนำเหรียญเพื่อใช้ในการแลกสิทธิประโยชน์เป็นอย่างไร รวมทั้งแผนที่จะเพิ่มเติม เปลี่ยนแปลงสิทธิประโยชน์ต่างๆ ในอนาคต จะมีหรือไม่ และหากมีการเปลี่ยนแปลงจะดำเนินการอย่างไร

3. การเปิดให้มีการซื้อขายเหรียญโดยหักเงินอัตราร้อยละ 9 ในทุกครั้งที่มีการแลกเปลี่ยนซื้อขาย ซึ่งแบ่งเป็น 3 ส่วนที่เท่ากันเพื่อนำไปทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาและช่วยเหลือสังคม นำไปเสริมสภาพคล่องในระบบ และนำไปเพิ่มเหรียญให้แก่ผู้ถือเหรียญ อันอาจมีลักษณะเป็นการสร้างแรงจูงใจให้มีการถือครองเหรียญเพื่อการลงทุนมากกว่าการทำบุญ จึงมีข้อสังเกตว่ามีความสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของเหรียญในการทำนุบำรุงศาสนาและช่วยเหลือสังคม รวมทั้งถูกต้องตามหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับวัดหรือไม่

ทั้งนี้ เหรียญดิจิทัล 4 ประเภท ซึ่งห้ามมิให้ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลนำมาให้บริการซื้อขายในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ตามประกาศคณะกรรมการ ก.ล.ต. ได้แก่

– เหรียญที่ออกโดยไม่มีวัตถุประสงค์หรือสาระชัดเจนหรือไม่มีสิ่งใดรองรับโดยมีราคาขึ้นอยู่กับกระแสในโลกโซเชียล (Meme Token)

– เหรียญที่ออกโดยมีลักษณะเกิดจากกระแสความชื่นชอบส่วนบุคคล (Fan Token)

– โทเคนดิจิทัลที่เกิดจากการนำเทคโนโลยีมาใช้แสดงความเป็นเจ้าของหรือให้สิทธิในสิ่งใดสิ่งหนึ่งหรือที่เฉพาะเจาะจง โดยไม่สามารถใช้โทเคนดิทัลประเภทและชนิดเดียวกันและจำนวนเท่ากันแทนกันได้ (Non-Fungible Token)

หรือ – โทเคนดิจิทัลที่ออกโดยผู้ประกอบธุรกิจศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลเองหรือบุคคลซึ่งมีความเกี่ยวข้องเพื่อวัตถุประสงค์ในการใช้ประโยชน์สำหรับธุรกรรมที่เกิดขึ้นบนบล็อกเชน

สำหรับประเด็นว่าเหรียญดังกล่าวมีการแจกคนละ 1 เหรียญ และจะมีการเทรดด้วยสามารถทำได้หรือไม่นั้น ก.ล.ต.ระบุว่า การจัดสรรเหรียญให้แก่ผู้ถือด้วยการแจกสามารถทำได้ (เป็นการให้ฟรี ไม่มีการเสนอขาย) ในส่วนของการเทรดปัจจุบันยังไม่มีการเทรดกับผู้ประกอบการสินทรัพย์ดิจิทัลในไทย

อย่างไรก็ดี หากผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องการนำเหรียญดังกล่าวเข้ามาซื้อขายในกระดานจะต้องเป็นไปตามข้อกำหนด listing rule ของศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่ได้รับอนุญาตจาก ก.ล.ต. โดยขึ้นอยู่กับ listing rules ของแต่ละศูนย์กำหนดเอง เพราะพ.ร.ก.สินทรัพย์ฯ ปี 61 กำหนดแบบ principle rules

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 พ.ย. 64)

Tags: , , , , , ,
Back to Top