กกพ.เคาะขึ้นค่า Ft ปี 65 แบบขั้นบันได ทยอยเพิ่มงวดม.ค.-เม.ย.ที่ 16.71 สตางค์

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า กกพ.มีมติให้ปรับค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่าเอฟที) สำหรับการเรียกเก็บค่าไฟฟ้าในรอบเดือนมกราคม – เมษายน 2565 เพิ่มขึ้น 16.71 สตางค์ จากปัจจุบัน -15.32 สตางค์ในงวดก่อนหน้า มาอยู่ที่ 1.39 สตางค์ต่อหน่วยและทยอยปรับปรุงตามค่าจริงในรอบต่อๆ ไป

“หลังจากที่ก่อนหน้านี้ กกพ. ได้ดำเนินนโยบายบรรเทาผลกระทบค่าครองชีพให้กับประชาชนผู้ใช้พลังงานมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งมาตรการการลดค่าไฟฟ้า และตรึงค่าไฟฟ้าผันแปรหรือเอฟทีอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลากว่า 2 ปีที่ผ่านมา จนถึงขณะนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เบาบางลง ทำให้เศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกประเทศเริ่มฟื้นตัว ประกอบกับสถานการณ์วิกฤตพลังงานในต่างประเทศ ซึ่งเข้าสู่ช่วงฤดูหนาวส่งผลให้เกิดภาวะพลังงานตึงตัว (Energy Crisis) เนื่องจากปริมาณความต้องการใช้พลังงานทั้งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้นมากในช่วงนี้ จึงเป็นเหตุทำให้ค่าเอฟทีในงวดเดือนมกราคม – เมษายน 2565 (ที่ใช้ค่าจริงเดือนกันยายน 2564 ในการประมาณการ) เพิ่มสูงขึ้นเป็น 48.01 สตางค์” นายคมกฤชกล่าว

สำหรับปัจจัยในการพิจารณาค่าเอฟทีในรอบเดือน มกราคม – เมษายน 2565 ประกอบด้วย

  1. ความต้องการพลังงานไฟฟ้าในช่วงเดือน มกราคม – เมษายน 2565 เท่ากับประมาณ 65,325 ล้านหน่วย เพิ่มขึ้นจากประมาณการงวดก่อนหน้า (เดือนกันยายน – ธันวาคม 2564) ที่คาดว่าจะมีความต้องการพลังงานไฟฟ้าเท่ากับ 64,510 ล้านหน่วย หรือเพิ่มขึ้น 1.26%
  2. สัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าในช่วงเดือนมกราคม – เมษายน 2565 ยังคงใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลัก 60.27% ของเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด นอกจากนี้เป็นการซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ (ลาวและมาเลเซีย) รวม13.92% และค่าเชื้อเพลิงถ่านหินนำเข้าโรงไฟฟ้าเอกชน 7.68% ลิกไนต์ของ กฟผ. 7.55% และอื่นๆ อีก 6.92%
  3. ราคาเชื้อเพลิงเฉลี่ยที่ใช้ในการคำนวณค่าเอฟทีเดือน ม.ค. – เม.ย. 2565 เปลี่ยนแปลงจากการประมาณการในเดือนกันยายน – ธันวาคม 2564 โดยราคาเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้า และราคาถ่านหินนำเข้าเฉลี่ยปรับตัวสูงขึ้นมากจากประมาณในรอบเดือนกันยายน – ธันวาคม 2564 โดยที่เชื้อเพลิงอื่นๆ มีการปรับตัวขึ้นเล็กน้อยและคงที่ ดังที่แสดงในตาราง
ประเภทเชื้อเพลิง  หน่วย ก.ย. – ธ.ค. 64 ม.ค. – เม.ย. 65เปลี่ยนแปลง
(ประมาณการ)[1](ประมาณการ)[2][2]-[1]
ราคาก๊าซธรรมชาติ ทุกแหล่ง*บาท/ล้านบีทียู270.80 376.46+105.66
ราคาน้ำมันเตาบาท/ลิตร0.0018.20+18.20
ราคาน้ำมันดีเซลบาท/ลิตร20.1422.17+2.03
ราคาลิกไนต์ (กฟผ.)บาท/ตัน693.00693.000.00
ราคาถ่านหินนำเข้าเฉลี่ย (IPPs)บาท/ตัน2,386.002,877.69+491.66

*ราคาก๊าซฯ รวมค่าผ่านท่อและค่าดำเนินการของโรงไฟฟ้า กฟผ. และโรงไฟฟ้าเอกชน

  4. อัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยที่ใช้ในการประมาณการ (1 – 30 กันยายน 2564) เท่ากับ 33.0 บาทต่อเหรียญสหรัฐ อ่อนค่าจากประมาณการในงวดเดือนกันยายน – ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา ที่ประมาณการไว้ที่ 31.3 บาทต่อเหรียญสหรัฐ

นายคมกฤช กล่าวว่า จากการประชุม กกพ. ล่าสุด กกพ. ห่วงใยสถานการณ์ราคาพลังงานที่แพงขึ้นอย่างมาก และเป็นห่วงถึงผลกระทบต่อประชาชนผู้ใช้พลังงานเป็นวงกว้าง และได้พิจารณานำเงินบริหารจัดการค่า Ft และเงินเรียกคืนฐานะการเงินจากการไฟฟ้าที่มีอยู่ทั้งหมดมาลดผลกระทบของการปรับค่าเอฟทีครั้งนี้กว่า 5,129 ล้านบาท และนำเงินผลประโยชน์ของบัญชีเงินที่จ่ายค่าก๊าซธรรมชาติล่วงหน้าตามปริมาณก๊าซตามสัญญาไปก่อน (Take or Pay) ของแหล่งก๊าซธรรมชาติเมียนมา จำนวนเงิน 13,511 ล้านบาท รวมเป็นเงินเพื่อบรรเทาผลกระทบการปรับขึ้นค่า Ft ทั้งหมด 18,640 ล้านบาท

ตลอดจนได้พิจารณาค่าแนวโน้มปี 2565 ซึ่งคาดการณ์ว่าอัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยจะอยู่ในระดับ 32.1 บาทต่อเหรียญสหรัฐราคาน้ำมันตลาดโลกคาดการณ์เฉลี่ยลดลงมาเป็นประมาณ 70 เหรียญสหรัฐต่อบาเรล และให้มีการบริหารจัดการผลิตไฟฟ้าโดยใช้น้ำมันทดแทน Spot LNG ซึ่งมีราคาสูงเพื่อลดผลกระทบต่อราคาไฟฟ้าในภาพรวมด้วยแล้ว ยังคงทำให้ค่าเอฟทีต้องปรับเพิ่มขึ้นเป็น 7.18 สตางค์หรือเพิ่มขึ้น 22.50 สตางค์ ซึ่งมีผลกระทบต่อผู้ใช้ไฟฟ้าในระยะสั้นเป็นอย่างมาก

กกพ. ยังคงติดตามสถานการณ์ราคาน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง โดยยังคาดหวังว่าสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยน และราคาเชื้อเพลิงยังมีโอกาสปรับตัวลดลงได้บ้าง หลังจากผ่านพ้นฤดูหนาวซึ่งมีปริมาณความต้องการการใช้ก๊าซธรรมชาติสูง และกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันจะสามารถบริหารจัดการความสมดุลของอุปสงค์ และอุปทานน้ำมันในตลาดให้ดีขึ้นได้

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ราคาพลังงานระยะต่อไปยังคงมีความผันผวน และเป็นแนวโน้มขาขึ้น ความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงปลายสัมปทาน จึงจำเป็นที่ทุกฝ่ายจะต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว รวมทั้งการประหยัดใช้พลังงาน กกพ. จะดูแลค่าไฟฟ้าให้มีเสถียรภาพเพื่อหนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังโควิด-19 ได้อย่างราบรื่นและมีความสมดุล

ทั้งนี้ สำนักงาน กกพ. จะดำเนินการรับฟังความคิดเห็นค่าเอฟทีสำหรับการเรียกเก็บในรอบเดือนมกราคม – เมษายน2565 ทางเว็บไซต์สำนักงาน กกพ. ตั้งแต่วันที่ 19 – 25 พฤศจิกายน 2564 ก่อนที่จะมีการประกาศอย่างเป็นทางการต่อไป

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 พ.ย. 64)

Tags: , , , ,
Back to Top