ตลาดหุ้นเอเชียเปิดผันผวน หลังจีนคงดอกเบี้ย LPR-สั่งปรับบริษัทผูกขาดตลาด

ตลาดหุ้นเอเชียเปิดผันผวน หลังจากที่ธนาคารกลางจีน (PBOC) ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้าชั้นดี (LPR) ประเภท 1 ปี และประเภท 5 ปีตามคาดการณ์ ขณะเดียวกัน นักลงทุนยังจับตาความเคลื่อนไหวหุ้นบริษัทจีนหลังมีรายงานว่า รัฐบาลสั่งปรับบริษัทหลายแห่งฐานผูกขาดตลาด

  • ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่นเปิดวันนี้ที่ 29,618.55 จุด ลดลง 127.32 จุด +0.43%,
  • ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกงเปิดวันนี้ที่ 25,057.06 จุด เพิ่มขึ้น 7.09 จุด หรือ +0.03% และ
  • ดัชนี SSE Composite ตลาดหุ้นจีนเปิดวันนี้ที่ 3,562.76 จุด เพิ่มขึ้น 2.39 จุด หรือ +0.07%

ธนาคารกลางจีน (PBOC) มีมติคงอัตราดอกเบี้ย LPR ประเภท 1 ปีเอาไว้ที่ระดับ 3.85% และคงอัตราดอกเบี้ย LPR ประเภท 5 ปีไว้ที่ระดับ 4.65% ในวันนี้ ซึ่งสอดคล้องกับการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ โดยธนาคารกลางจีนได้ตรึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ทั้งสองประเภทติดต่อกันเป็นเดือนที่ 19

นักวิเคราะห์ในโพลสำรวจของสำนักข่าวรอยเตอร์คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ว่า ธนาคารกลางจีนจะคงอัตราดอกเบี้ย LPR ประเภท 1 ปีและ 5 ปีเอาไว้ที่ระดับเดิม โดยมีเป้าหมายที่จะควบคุมความเสี่ยงในภาคอสังหาริมทรัพย์ นอกจากนี้ นักวิเคราะห์ยังมองว่าอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ธนาคารกลางจีนตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ LPR ในวันนี้ มาจากการที่ธนาคารกลางจีนได้คงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในโครงการเงินกู้ระยะกลาง (MLF) ในสัปดาห์ที่แล้ว

ขณะเดียวกัน ตลาดยังจับตาหุ้นของบริษัทจีนที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นฮ่องกง ได้แก่ อาลีบาบา, ไป่ตู้ และเจดีดอทคอม หลังจากที่สำนักงานบริหารจัดการกฎระเบียบตลาดแห่งรัฐ (SAMR) ของรัฐบาลจีนได้สั่งปรับบริษัทต่าง ๆ เนื่องจากไม่ได้รายงานการทำข้อตกลงทางธุรกิจรวม 43 รายการต่อทางการจีนย้อนหลังไปตั้งแต่ปี 2555 จนถึงปัจจุบัน โดยระบุว่าบริษัทเหล่านั้นได้ละเมิดกฎหมายต่อต้านการผูกขาดตลาด

ทั้งนี้ บริษัทที่เกี่ยวข้องกับคดีดังกล่าวจะถูกปรับรายละ 500,000 หยวน (78,000 ดอลลาร์สหรัฐ) ซึ่งเป็นค่าปรับสูงสุดภายใต้กฎหมายต่อต้านการผูกขาดปี 2551 ของจีน

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า รัฐบาลจีนได้ดำเนินการควบคุมแพลตฟอร์มต่าง ๆ บนอินเทอร์เน็ต โดยยกเลิกการปล่อยให้ธุรกิจดำเนินการกันอย่างเสรี และระบุถึงความเสี่ยงของการใช้อำนาจตลาดในทางที่ผิดเพื่อสกัดกั้นการแข่งขัน, การใช้ข้อมูลของผู้บริโภคอย่างไม่เหมาะสม และการละเมิดสิทธิของผู้บริโภค

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 พ.ย. 64)

Tags: , , ,
Back to Top