BEM ออกโปรฯ ลดภาระผู้ใช้ทางด่วนศรีรัช-วงแหวน ซื้อคูปองใช้ราคาเดิม 1 ปี

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม กล่าวว่า กระทรวงคมนาคม การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) และ บมจ. ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) ได้ประชุมหารือกันจนได้ข้อยุติแนวทางการลดภาระแก่ผู้ใช้บริการทางพิเศษ กรณีการปรับอัตราค่าผ่านทางทางพิเศษสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ซึ่งครบกำหนดในวันที่ 15 ธันวาคม 2564 ซึ่งตามสัญญาสัมปทานการลงทุนในการออกแบบก่อสร้าง บริหาร และการบำรุงรักษาโครงการทางพิเศษฯ กับ กทพ.จะมีการปรับค่าผ่านทางจากอัตรา 50/80/115 บาท เป็น 65/105/150 บาท สำหรับรถประเภท 4 ล้อรถประเภท 6-10 ล้อ และรถมากกว่า 10 ล้อ

โดยทาง BEM พร้อมสนับสนุนนโยบายกระทรวงคมนาคม โดยจะจำหน่ายคูปองในราคาค่าผ่านทางเดิม ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2564 – 30 พฤศจิกายน 2565 และสามารถใช้คูปองได้ตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2564 ถึงวันที่ 15 ธันวาคม 2565

  • คูปองสำหรับรถ 4 ล้อ เล่มละ 1,300 บาท ราคาจำหน่าย 1,000 บาท (ประหยัดได้ 300 บาท)
  • คูปองสำหรับรถ 6-10 ล้อ เล่มละ 2,100 บาท ราคาจำหน่าย 1,600 บาท (ประหยัดได้ 500 บาท)
  • คูปองสำหรับรถมากกว่า 10 ล้อ เล่มละ 3,000 บาท ราคาจำหน่าย 2,300 บาท (ประหยัดได้ 700 บาท)

ในส่วนนี้คาดว่าเอกชนจะสูญเสียรายได้ 102 ล้านบาท และการทางพิเศษแห่งประเทศไทยจะสูญเสียรายได้ 36 ล้านบาท

รมว.คมนาคม กล่าวถึงการขยายเวลาการให้ส่วนลดค่าผ่านทางพิเศษที่ด่านพระราม 9-1 (ฉลองรัช) ซึ่งเป็นด่านในทางพิเศษฉลองรัชที่เชื่อมต่อรับรถที่มาจากทางพิเศษศรีรัช ส่วน D ทั้งฝั่งอโศกและฝั่งศรีนครินทร์ เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2543 ซึ่ง กทพ. ได้มีแนวทางที่จะให้ส่วนลดค่าผ่านทางพิเศษของทางพิเศษฉลองรัชแก่ผู้ใช้ทางพิเศษ จำนวน 10 บาทต่อเที่ยว สำหรับรถทุกประเภท ที่มาจากทางพิเศษศรีรัช ส่วน D เพื่อเข้าสู่ทางพิเศษฉลองรัชที่ด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษพระราม 9-1 (ฉลองรัช) โดยมีการให้ส่วนลดค่าผ่านทางตั้งแต่เริ่มเปิดให้บริการเป็นต้นมาต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน เพื่อส่งเสริมให้ มีการเดินทางโดยใช้โครงข่ายทางพิเศษเชื่อมต่อกันอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นการช่วยลดภาระค่าผ่านทางพิเศษของผู้ใช้ทางพิเศษในการเดินทางข้ามระบบบนทางพิเศษ

สำหรับในปี 65 กทพ. ยังคงให้ส่วนลดค่าผ่านทาง จำนวน 10 บาทต่อเที่ยว จากอัตรา 40/60/80 บาท สำหรับรถยนต์ 4 ล้อ รถยนต์ 6-10 ล้อ และรถยนต์มากกว่า 10 ล้อ เป็นอัตรา 30/50/70 บาท ออกไปอีก 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565 ซึ่งจะเป็นอีกมาตรการหนึ่งในการให้ความช่วยเหลือผู้ใช้ทางพิเศษในช่วงเวลานี้

นอกจากนี้ ในช่วงเทศกาลวันหยุดต่อเนื่องเทศกาลปีใหม่ 2565 กทพ. ได้ยกเว้นค่าผ่านทางพิเศษ ของ ทางพิเศษบูรพาวิถี (บางนา-ชลบุรี) และทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี-สุขสวัสดิ์) ตามที่รัฐบาลประกาศวันหยุดพิเศษทำให้มีวันหยุดต่อเนื่องติดต่อกัน 4 วัน ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงคมนาคม เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ประชาชน โดยจะเริ่มยกเว้นค่าผ่านทางของทางพิเศษ ทั้ง 2 สายทาง ตั้งแต่เวลา 00.01 น. ของวันที่ 30 ธันวาคม 2564 จนถึงเวลา 24.00 น. ของวันที่ 3 มกราคม 2565 รวมทั้งสิ้นจำนวน 5 วัน เช่นเดียวกับมอเตอร์เวย์ของกรมทางหลวง อีกด้วย (หากมีการปรับปรุงแก้ไขกำหนดวันยกเว้นค่าธรรมเนียมผ่านทางหลวงพิเศษ กทพ. จะปรับปรุงแก้ไขกำหนดวันที่ยกเว้นค่าผ่านทางให้สอดคล้องกับกรมทางหลวง)

รมว.คมนาคม กล่าวถึงกรณีการใช้สถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) ว่า ในช่วงบ่ายวันนี้ทางผู้เกี่ยวข้องจะมีการหารือกัน ซึ่งได้มีการดำเนินการตามขั้นตอนต่อเนื่อง หลังจากที่ได้มีการลงทุนพัฒนาพื้นที่สถานีบางซื่อไปกว่า 3 หมื่นล้านบาทแล้วก็ควรมีการปรับเปลี่ยนเพื่อให้การแก้ไขปัญหาเห็นเป็นรูปธรรม เช่น การแก้ปัญหาจราจรด้วยการลดจุดตัดถนน โดยลดขบวนรถไฟจาก 118 ขบวน เหลือ 22 ขบวน ซึ่งจะมีการพิจารณากันอีกทีถึงความจำเป็นในการคงขบวนรถไว้ เพราะการดำเนินการมีค่าใช้จ่ายที่เป็นภาระของการรถไฟแห่งประเทศไทย

“ผมจะดูแลเรื่องการอนุรักษ์ประวัติศาสตร์และการพัฒนาประเทศให้ไปร่วมกัน ไม่ให้ประเทศล้าหลังเพื่อบ้านเพราะไม่กล้าตัดสินใจ ผมยืนยันที่จะตัดสินใจโดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชน…ผมกล้าตัดสินใจเพราะไม่อยากเห็นการรถไฟฯ เป็นอยู่อย่างนี้”

นายศักดิ์สยาม กล่าว

รมว.คมนาคม กล่าวว่า ส่วนการกก่อสร้างโครงการรถไฟไทย-จีนนั้นกระทรวงฯ ไม่ได้นิ่งนอนใจ ภายในเดือนนี้จะมีการประชุมคณะกรรมการร่วมฯ เพื่อพิจารณาปัญหาและอุปสรรค เช่น ประเด็นที่ทางการจีนเสนอที่จะรับเป็นเจ้าภาพดำเนินการทั้งหมด โดยต้องใช้ผู้รับเหมาจากจีนนั้นขัดต่อกฎหมายของไทย

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 พ.ย. 64)

Tags: , , , , ,
Back to Top