บีโอไอ ตั้งเป้ามูลค่าลงทุนธุรกิจ BCG ในไทยอีก 5 ปีแตะ 25% ของ GDP

น.ส.ดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยถึงทิศทางการลงทุนตามนโยบายโมเดลเศรษฐกิจ BCG หรือการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) ว่า

จากสภาพการณ์การแข่งขันที่ทวีความรุนแรง อันเนื่องมาจากเทคโนโลยีที่ปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว การปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจ และการที่ประเทศไทยต้องมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ ทำให้รัฐบาลกำหนดให้โมเดลเศรษฐกิจ BCG เป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจที่ต้องการต่อยอดจุดแข็งของไทยที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ โดยแนวทางพัฒนานี้ยังถูกจัดอยู่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ด้วยเช่นกัน

โดยในช่วง 9 เดือนแรก ปี 2564 (ม.ค. – ก.ย.) มีสัญญาณบ่งชี้อัตราเติบโตที่ดี โดยมีกิจการขอรับการส่งเสริมการลงทุน 564 โครงการ จำนวนโครงการเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 74% และมีมูลค่าลงทุน 128,370 ล้านบาท เพิ่มขึ้นสูงกว่าช่วงเดียวกันกับปีก่อน 160% และสูงกว่ามูลค่าการลงทุนในปี 2563 ทั้งปี (93,883 ล้านบาท)

พร้อมคาดว่าในอีก 5 ปีข้างหน้าอุตสาหกรรม BCG ของไทยจะมีมูลค่า 25% ของ GDP ซึ่งบีโอไอพร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนนโยบายการส่งเสริมการลงทุนที่จะนำเป้าหมายดังกล่าวให้เกิดเป็นรูปธรรม เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างสมดุลและยั่งยืน

“เฉพาะในช่วง 9 เดือนแรกปีนี้ มูลค่าการลงทุนของกิจการในกลุ่ม BCG อยู่ที่เกือบ 1.3 แสนล้านบาท คิดเป็นประมาณ 20% ของจีดีพี…โมเดลเศรษฐกิจ BCG จะเป็นแนวทางในการพัฒนาและฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ โดยการใช้จุดแข็งที่ไทยมีความหลากหลายทางชีวภาพ ด้วยการสร้างความสมดุลจากการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ การพัฒนาเศรษฐกิจตามโมเดล BCG ของไทย จะนำไปสู่การปรับกระบวนทัศน์ และการพัฒนาเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับเป้าหมาย SDGs” 

น.ส.ดวงใจ ระบุ

เลขาธิการบีโอไอ กล่าวว่า จากสถิติคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนกิจการในกลุ่ม BCG ตั้งแต่ ปี 58 – กันยายน 64 มีจำนวน 2,829 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 677,157 ล้านบาท โดย 5 อันดับแรกกิจการ BCG ที่มีมูลค่าการลงทุนสูงสุด ได้แก่ 1. กิจการผลิตพลังงานไฟฟ้าที่เป็นพลังงานหมุนเวียน (รวมถึงไฟฟ้าจากขยะ) 289,007 ล้านบาท 2. กิจการผลิตหรือถนอมอาหาร เครื่องดื่ม วัตถุเจือปนอาหาร (Food Additive) หรือสิ่งปรุงอาหาร (Food Ingredient) โดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย 94,226 ล้านบาท 3. กิจการผลิตเคมีภัณฑ์หรือพอลิเมอร์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือการผลิตผลิตภัณฑ์ที่ขึ้นรูปต่อเนื่องจากการผลิตพอลิเมอร์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ในโครงการเดียวกัน 40,998 ล้านบาท 4. กิจการผลิตผลิตภัณฑ์จากผลพลอยได้หรือเศษวัสดุทางการเกษตร 25,838 ล้านบาท และ 5. กิจการผลิตผลิตภัณฑ์จากยางธรรมชาติ 22,250 ล้านบาท

โดยปัจจุบันมีตัวอย่างบริษัทที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนภายใต้กิจการ BCG อาทิ

1. กลุ่มโปรตีนทางเลือก (Alternative Protein)

  • บริษัท โกลบอล บั๊กส์ เอเชีย โครงการผลิตโปรตีนจากจิ้งหรีด
  • บริษัท ฟลายอิ้ง สปาร์ค (ประเทศไทย) จำกัด โครงการผลิตโปรตีนผงจากหนอนแมลงวันผลไม้

2. กลุ่มเทคโนโลยีชีวภาพ Biotechnology

  • บริษัท เจเนพูติก ไบโอ จำกัด โครงการผลิตผลิตภัณฑ์เซลล์และยีนบำบัด เพื่อรักษาโรคสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาหลัก
  • บริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด โครงการผลิตยาจากเทคโนโลยีชีวภาพหรือชีวเภสัชภัณฑ์ที่ได้จากการใช้ต้นยาสูบเป็นเจ้าบ้าน (HOST)

3. กลุ่มพลาสติกชีวภาพ Bioplastic

  • บริษัท โททาล คอร์เบียน พีแอลเอ (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท เนเชอร์เวิร์คส์ เอเชีย แปซิฟิก จำกัด โครงการผลิตโพลีแลคติค แอซิด (Polylactic Acid : PLA) ซึ่งเป็นพอลิเมอร์ชีวภาพที่สามารถย่อยสลายได้ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สามารถนำไปใช้งานได้หลากหลายประเภท
  • บริษัท พีทีที เอ็มซีซี ไบโอเคม จำกัด โครงการผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพชนิด PBS (Polybutylene Succinate)
  • บริษัท ไทยวา จำกัด โครงการผลิตพลาสติกชีวภาพชนิด TPS (THERMOPLASTIC STARCH) ซึ่งเป็นบริษัทผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์จากมันสำปะหลังของไทย
  • บริษัท ฟรุตต้า ไบโอเมด จำกัด โครงการผลิตพลาสติกชีวภาพชนิด PHA (POLYHYDROXYALKANOATE) และ PHA BIOPLASTIC COMPOUND และผลิตภัณฑ์ขึ้นรูปจากพลาสติก PHA ซึ่งเป็นกิจการที่นำของเหลือทางการเกษตร

4. กลุ่มพลาสติกรีไซเคิลเกรดอาหาร (Food-Grade Recycled Plastics)

  • บริษัท เอ็นวิคโค จำกัด โครงการผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิลชนิด rPET (FOOD GRADE) เป็นการร่วมทุนระหว่างบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) และบริษัท ALPLA TH RECYCLING BETEILIGUNGSGELLSCHAFT M.B.H ประเทศออสเตรีย ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่ม ALPLA ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกรายใหญ่ของยุโรป
  • บมจ. อินโดรามา โพลีเอสเตอร์ อินดัสตรี้ส์ โครงการผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิลชนิด PET เม็ดพลาสติก PET รีไซเคิล (rPET) สำหรับการผลิตบรรจุภัณฑ์ที่สัมผัสอาหาร
  • บริษัท เซอร์คูลาร์ พลาส จำกัด โครงการวิจัยและพัฒนาระดับโรงงานสาธิตเพื่อผลิต PYROLYSIS NAPHTHA หรือ CIP-N โดยเป็นการวิจัยในขั้นทดลองในห้องปฏิบัติการ (LAB SCALE) และการวิจัยพัฒนาระดับนำร่อง (PILOT SCALE)

เลขาธิการบีโอไอ กล่าวว่า บีโอไอได้ปรับปรุงมาตรการส่งเสริมการลงทุนให้สอดคล้องกับบริบทของเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอตามแนวทาง BCG ในหลายด้าน เช่น

  • มาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพ ภายใต้มาตรการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรเพื่อประหยัดพลังงาน ใช้พลังงานทดแทน หรือลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรือลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และมาตรการด้านการยกระดับไปสู่มาตรฐานเพื่อความยั่งยืนในระดับสากล เช่น มาตรฐานการรับรองป่าไม้ ตามแนวทางขององค์การพิทักษ์ป่าไม้ (Forest Stewardship Council: FSC) เป็นต้น
  • มาตรการส่งเสริมการลงทุนเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งครอบคลุมถึงการสนับสนุนองค์กรท้องถิ่นในการพัฒนากิจการเกษตรที่ยั่งยืน เช่น การปลูกข้าวแบบปล่อยมีเทนต่ำ เป็นต้น
  • ปรับปรุงประเภทกิจการและสิทธิประโยชน์ โดยให้ความสำคัญต่อเทคโนโลยีด้านสิ่งแวดล้อม คือ กิจการผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีและโรงแยกก๊าซ ในกรณีใช้เทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์และการกักเก็บคาร์บอน โดยให้สิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 8 ปี และกิจการห้องเย็น หรือกิจการห้องเย็นและขนส่งห้องเย็น หากใช้สารทำความเย็นธรรมชาติ ให้สิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 3 ปี

สำหรับทิศทางการลงทุนในปี 65 นั้น ต้องติดตามสถานการณ์โลกโดยเฉพาะการระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่สำคัญ เพราะหากสถานการณ์ระบาดในภาพรวมของโลกดีขึ้น ก็เชื่อว่าจะส่งผลดีต่อการบริโภคและการลงทุน เพราะในปัจจุบันหลายภาคธุรกิจต่างปรับเปลี่ยน Supply Chain รวมทั้งการโยกย้ายแหล่งลงทุนใหม่ๆ ซึ่งถือเป็นโอกาสดีที่ไทยจะเข้าไปช่วงชิงโอกาสการลงทุนในส่วนนี้ และมองว่าหากการส่งออกของไทยยังสามารถขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ก็จะส่งผลให้การลงทุนมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นด้วย

สำหรับการให้สิทธิประโยชน์แก่โครงการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่บางมาตรการจะหมดอายุลงในสิ้นปี 64 นั้น น.ส.ดวงใจ กล่าวว่า บีโอไอจะขยายออกไปจนถึงสิ้นปี 65 ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับปัจจุบัน (ฉบับที่ 12) ที่จะจบในเดือนก.ย.65

“บีโอไอเรามียุทธศาสตร์ 8 ปี ซึ่งจะจบพร้อมๆ กับแผนพัฒนาฯ ของสภาพัฒน์ในปี 65…มาตรการต่างๆ ที่เดิมจะสิ้นสุดในปีนี้ ก็จะขยายออกไปจนถึงปี 65” 

น.ส.ดวงใจระบุ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 พ.ย. 64)

Tags: , , , , , , ,
Back to Top