รมว.คมนาคม ลั่นหยุดเดินรถไฟเข้าหัวลำโพงพร้อมหาแนวทางเยียวยาผลกระทบ

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม กล่าวถึงกระแสคัดค้านการหยุดเดินรถไฟเข้าสถานีหัวลำโพงว่า กระทรวงคมนาคม การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้หารือร่วมกันมานานแล้วถึงการหยุดเดินรถไฟเข้าสถานีหัวลำโพง ภายหลังการเปิดให้บริการรถไฟชานเมืองสายสีแดง และสถานีกลางบางซื่ออย่างเป็นทางการ เนื่องจากต้องการให้สถานีกลางบางซื่อ เป็นศูนย์กลางของระบบรางทั้งหมด โดยในระยะแรก จะปรับลดขบวนรถเข้าสถานีหัวลำโพง จากเดิม 118 ขบวนต่อวัน เหลือ 22 ขบวนต่อวัน ส่วนขบวนรถขนส่งสินค้าจะปรับไปใช้สถานีเชียงรากน้อยแทน เพื่อไม่ให้มีจุดตัดทางรถไฟกับถนน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาการจราจรในพื้นที่กทม.

“จะมีการนำข้อมูล ข้อคิดเห็นจากทุกฝ่าย มาพิจารณาประเมินตัวเลขต่างๆ และผลกระทบ แนวทางการเยียวยา หากตัวเลข ข้อมูลชัดเจนตัดสินใจได้ก็ตัดสินใจ ตอนนี้อย่าเพิ่งดราม่ากัน ซึ่งจากที่มี 118 ขบวน เหลือ 22 ขบวนเข้าหัวลำโพงก็ดีในระดับหนึ่ง แต่ก็ให้ รฟท.ไปดูอีกว่าจะปรับได้อีกหรือไม่ หรือจะปรับเวลาไม่ให้กระทบช่วงเร่งด่วน เพราะเราต้องแก้ปัญหาจราจร และในที่สุดการบริหารที่สถานีหัวลำโพงจะต้องเปลี่ยนไป เพราะเรามีสถานีกลางบางซื่อ เป็นศูนย์กลางระบบราง “

นายศักดิ์สยามกล่าว

สำหรับประเด็นที่เป็นห่วงว่าประชาชนที่ใช้บริการรถไฟจะได้รับผลกระทบนั้น รมว.คมนาคม กล่าวว่า ขณะนี้กำลังเร่งหามาตรการเพื่อแก้ปัญหา โดยจะนำรถจากองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ทำเป็นระบบฟีดเดอร์ เพื่อเชื่อมบริการเส้นทางหัวลำโพง-บางซื่อ รวมถึงจะประสานกับเอกชนเจ้าของสัมปทานเดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน หรือ MRT ในการหามาตรการเชื่อมต่อการเดินทางให้กับประชาชนต่อไป

นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า โครงการรถไฟสายสีแดง และสถานีกลางบางซื่อ ใช้เงินลงทุนจำนวนมาก และปัจจุบัน รฟท.ยังมีภาระหนี้สินและขาดทุนต่อเนื่อง ล่าสุดมีจำนวน 1.6 แสนล้านบาท และหากคิดเป็นจำนวนหนี้ที่ไม่ได้ลงบัญชีถึง 6 แสนล้านบาท จึงเป็นโจทย์ที่ รฟท.ต้องเร่งแก้ปัญหา ซึ่ง รฟท.ได้จัดตั้ง บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด (SRTA) เป็นบริษัทลูก เพื่อดำเนินการบริหารสินทรัพย์ของ รฟท.เพื่อหารายได้เพิ่มและแก้ปัญหาขาดทุน โดยยังมีสินทรัพย์หลายแปลงที่มีศักยภาพไม่เฉพาะสถานีหัวลำโพง แต่ยังมีสถานีธนบุรี ซึ่งจะพัฒนาร่วมกับโรงพยาบาลศิริราช, บริเวณอาร์ซีเอ, บริเวณสถานีแม่น้ำ โดย SRTA คาดการณ์คาดว่า ในปีแรกจะสามารถสร้างรายได้จากการพัฒนาทรัพย์สินให้กับ รฟท.ประมาณ 5,000 ล้านบาท และปีที่ 5 เพิ่มเป็น 10,000 ล้านบาท และรวม 30 ปี รฟท. จะได้มากถึง 8 แสนล้านบาท

พร้อมระบุว่า การพัฒนาหัวลำโพงเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่จะต้องประมูลแบบนานาชาติ และคงไม่ได้เกิดในสมัยที่ตนเป็นรัฐมนตรี แต่วันนี้จำเป็นต้องเริ่มนับหนึ่งก่อน หากไม่เริ่มนับตอนนี้ ก็ต้องรอคนอื่นซึ่งก็ไม่รู้จะเริ่มเมื่อไร และนั่นจะหมายถึงหนี้สินสะสมของการรถไฟฯ ที่ไม่รู้จะเพิ่มไปเป็นเท่าไรในอนาคต

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 พ.ย. 64)

Tags: , , , , , ,
Back to Top