SAMART ตุนงานในมือหมื่นลบ.หนุนปี 65 ฟื้นโตหลังปีนี้ประคองตัวฝ่าวิกฤติโควิด

นายวัฒน์ชัย วิไลลักษณ์ รองประธานกรรมการบริหาร ฝ่ายกลยุทธ์องค์กรและธุรกิจใหม่ บมจ.สามารถคอร์ปอเรชั่น (SAMART) และบริษัทในเครือ เปิดเผยว่า สถานการณ์โควิดที่ไม่คลี่คลายในปี 64 ยังคงส่งผลกระทบต่อผลประกอบการรวมของบริษัท โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการเดินทาง ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการติดตั้งระบบและการก่อสร้างที่ต้องมีความล่าช้า

อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา กลุ่มสามารถก็มีความคืบหน้าทางธุรกิจในหลายด้าน อาทิ กลุ่มสามารถเทลคอม ต่อยอดธุรกิจและขยายฐานลูกค้าใหม่อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการชนะประมูลโครงการใหม่ๆ ครอบคลุมบริการเทคโนโลยีหลากหลาย เช่น ระบบบูรณาการแอปพลิเคชันเพื่อการปรับเปลี่ยนองค์กรสู่ Digital Utility, ระบบวิเคราะห์หม้อแปลงไฟฟ้าแบบเรียลไทม์, ระบบเฝ้าระวังและเตือนภัยมลพิษ, ระบบบันทึกและตรวจสอบลายเซ็นอิเล็คทรอนิกส์,ระบบเฝ้าระวังและรับมือภัยไซเบอร์ และอื่นๆ คาดว่าจะมีมูลค่างานในมือสะสม (Backlog) ในสิ้นปี 64 ถึง 10,000 ล้านบาท

ยิ่งไปกว่านั้น เพื่อให้ก้าวทันกระแสการเปลี่ยนแปลงด้านดิจิทัล บริษัทยังมุ่งพัฒนา Digital ICT Solutions ร่วมกับพันธมิตรระดับโลกอย่างจริงจัง เพื่อนำเสนอโซลูชั่นส์ที่ตอบโจทย์ Digital Transformation ให้แก่ภาครัฐและเอกชน อาทิ ระบบเครือข่ายการสื่อสารดิจิทัล, บริการ Cyber Security, Banking & Payment Solutions และอื่นๆ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสสำคัญของกลุ่มสามารถเทลคอมที่จะเติบโตต่อไปในอนาคต

“ปีนี้ เป็นปีแห่งการประคับประคองบริษัทและการเตรียมความพร้อมหลังสถานการณ์โควิดคลี่คลาย ซึ่งในภาพรวม สายธุรกิจด้านไอซีทีของบริษัทก็มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่สายธุรกิจ Digital Network & Content ภายใต้บริษัทสามารถดิจิตอลก็เห็นโอกาสในการฟื้นตัวชัดเจน ดังนั้น หากสถานการณ์โควิดดีขึ้นในปีหน้า ผมมั่นใจว่าผลประกอบการโดยรวมของบริษัทจะฟื้นตัวและเติบโตได้อย่างแน่นอน”

นายวัฒน์ชัย กล่าว

ในส่วนของ บมจ.สามารถดิจิตอล (SDC) ก็เริ่มเห็นสัญญานฟื้นตัวจากความคืบหน้าของธุรกิจ Digital Trunked Radio ซึ่งบริษัทร่วมกับ บจม.โทรคมนาคมแห่งชาติ (NT) ในการให้บริการ ล่าสุดได้บรรลุสัญญากับ 2 องค์กรใหญ่ในการใช้บริการ คือ กระทรวงมหาดไทยและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ซึ่งบริษัทเชื่อมั่นว่ามีโอกาสในการขยายฐานผู้ใช้บริการได้อีกจำนวนมากจากหน่วยงานราชการที่ต้องประสานงานในการดูแลและให้บริการประชาชนแบบบูรณาการ โดยบริษัทจะรับรู้รายได้ในสองส่วนคือส่วนแบ่งรายได้จากค่าบริการ ( Airtime) และรายได้เสริมจากการจำหน่ายและการให้เช่าเครื่องลูกข่ายซึ่งจะเพิ่มขึ้นตามจำนวนผู้ใช้บริการ

ยิ่งไปกว่านั้น เพื่อสร้างพอร์ตธุรกิจที่สมดุลย์บริษัทจึงให้ความสำคัญกับธุรกิจ Digital Content & Application เช่นกัน โดยเตรียมเปิดตัว 2 mobile application ใหม่ในต้นเดือนธันวาคมนี้

ในส่วนธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการบินและการเดินทาง ภายใต้บริษัท สามารถแอร์ทราฟฟิค คอนโทรล จำกัด ซึ่งให้บริการศูนย์ควบคุมการจราจรทางอากาศที่ประเทศกัมพูชาก็มีแนวโน้มฟื้นตัวชัดเจน จากจำนวนเที่ยวบินที่เพิ่มขึ้น นับตั้งแต่ 15 พฤศจิกายนที่ผ่านมาซึ่งกัมพูชามีการเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวที่ฉีดวัคซีนครบโดสเดินทางเข้าประเทศได้โดยไม่ต้องกักตัว ประกอบกับการเข้าสู่ช่วง High Season ของการเดินทางท่องเที่ยว จึงคาดว่าจากนี้ไปจำนวนเที่ยวบินจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ด้านธุรกิจ Utility ภายใต้ บริษัทเทด้า ก็เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่มีการเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยปีนี้คาดว่าจะมี Backlog สะสมไม่ต่ำกว่า 3,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ โครงการ พิมพ์รหัสควบคุมบรรจุภัณฑ์ Direct Coding ภายใต้การกำกับดูแลของกรมสรรพสามิต ก็มีการติดตั้งระบบใกล้แล้วเสร็จ โดยจะเปิดบริการในไตรมาสแรกปี 65 ซึ่งจะส่งผลในการรับรู้รายได้ของบริษัทอย่างต่อเนื่อง 7 ปี รวมมูลค่าราว 8,000 ล้านบาท

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 พ.ย. 64)

Tags: , , ,
Back to Top