สภาพัฒน์ เผยศบศ.เตรียมออกมาตรการกระตุ้นท่องเที่ยว, มองศก.ปีหน้ายังได้ส่งออก-ลงทุนหนุน

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ กล่าวปาฐกถาพิเศษ “ยุทธศาสตร์เดินหน้าเศรษฐกิจไทย 2022” ในงานสัมมนา “Thailand Economic Outlook 2022 อนาคตเศรษฐกิจไทย” กล่าวว่า

สศช.มีการประมาณการณ์เศรษฐกิจปี 64 ขยายตัวได้ 1.2% บัญชีดุลสะพัดติดลบ 2.5% ส่วนภาคท่องเที่ยวยังไม่พื้นตัว แต่ส่งออกยังดีอยู่ ขยายได้ถึง 16.8% สำหรับเศรษฐกิจไทยในปี 65 คาดการณ์ว่า ขยายตัวอยู่ที่ 3.5-4.5% ค่ากลาง 4% ส่วนเศรษฐกิจโลกอยู่ที่ 4.6-4.8%

การกระตุ้นการใช้จ่ายและการท่องเที่ยวในประเทศถือเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องดำเนินการในปีหน้า ซึ่งในการประชุมศูนย์บริการสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (ศบศ.) ช่วงสัปดาห์นี้จะมีความชัดเจนของมาตรการการออกวีซ่าประเภทผู้พำนักระยะยาว (Long-term Resident Visa) เพื่อดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเข้าพำนักระยะยาวและมีส่วนช่วยผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวด้วย

นอกจากนี้ จะมีการเดินหน้าอุตสาหกรรมใหม่ โดยเฉพาะยานยนต์ไฟฟ้าจะมีความชัดเจนปีหน้า ซึ่งจะมีมาตรการดึงดูดให้ผู้ประกอบการมาลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า รวมถึงอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ และสถานีชาร์จด้วย และเร่งให้ผู้ได้รับบัตรส่งเสริมเริ่มมีการลงทุนในปีหน้า และจะมีออกมาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรมทางการแพทย์ เพื่อดึงดูดนักลงทุนเข้ามา

นายดนุชา กล่าวว่า การส่งออกเป็นเครื่องยนต์สำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยปีหน้า และการบริโภคในประเทศ และอุตสาหกรรมอาหารไปได้ดี แต่ต้องปกป้องฐานการผลิตของเรา เพราะจากแพร่ระบาดไปในโรงงานส่งผลทำให้การผลิตหยุดชะงักลงในบางช่วง เพราะฉะนั้นถ้าในปีหน้าปกป้องฐานการผลิตได้ต่อเนื่อง ไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออก แต่การขาดแคลนแรงงานยังเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งรัฐบาลอนุญาตนำเข้าแรงงงานภายใต้เงื่อนไขการควบคุมการแพร่ระบาด แต่ด้านการท่องเที่ยวยังคงฟื้นตัวได้ยาก ซึ่งทางภาครัฐจะมีมาตรการช่วยออกมา

ปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ คือ การเร่งฉีดวัคซีนให้มากขึ้น ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้ภาคท่องเที่ยวในประเทศฟื้นตัวในระดับหนึ่งแต่นักท่องเที่ยวยังไม่มากนัก โดยมีการประมาณการณ์จะมีนักท่องเที่ยว 5 ล้านคนในปีหน้า และต้องมีการติดตามการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนว่าจะส่งผลกระทบอย่างไรบ้าง

ส่วนปัจจัยเสี่ยงที่มองไว้ หลักๆคือ เรื่องการระบาดในช่วงที่ผ่านมาที่พบมากขึ้นในยุโรป เช่น เยอรมนี อังกฤษ และต้องติดตามการระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน มาพิจารณาสำหรับการประมาณการณ์ในปีหน้า เนื่องจากในขณะนี้ ยังไม่มีข้อมูลทางการแพทย์ยืนยัน คนฉีดวัคซีนครบโดส หากติดเชื้อสายพันธ์โอไมครอนอาการจะเป็นอย่างไร แต่ในหลายประเทศก็ได้มีการห้ามการเดินทางจากแอฟริกาแล้ว และในไทยก็มีการปิดระบบการลงทะเบียนการเดินทางจากกลุ่มประเทศแอฟริกาแล้ว ตั้งแต่ 27 พ.ย. ที่ผ่านมา

นายดนุชา ยอมรับว่า จากการติดตามข่าววันนี้ ไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนได้กระจายไปหลายประเทศแล้ว การระบาดเช่นนี้ต้องเตรียมการให้ดีที่สุด ซึ่งในต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น ก็มีมาตรากรปิดประเทศแล้ว แต่ในส่วนประเทศไทยคงต้องมีการปรับมาตรการเข้าประเทศ ซึ่งศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.)จะมีการหารือกันกับกระทรวงสาธารณสุขและการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยว่าจะมีการปรับมาตรการอย่างไร เพื่อป้องกันและคัดกรองคนเดินทางเข้าประเทศให้ปลอดภัยที่สุด

ทั้งนี้ นายดนุชา กล่าวว่า จำเป็นต้องมีการเร่งประชาสัมพันธ์ให้มีการเข้ามาฉีดวัคซีนมากขึ้น สิ่งที่ทำได้ตอนนี้คือ การเร่งฉีดวัคซีนให้มากที่สุด และวัคซีนที่รัฐบาลได้สั่งซื้อไปแล้วในปีหน้า ทั้งจากแอสตร้าเซนเนก้าและไฟเซอร์ คงต้องมีการหารือว่า วัคซีนที่เข้ามาใหม่จะมีการปรับสูตรรับเพื่อรองรับตัวกลายพันธุ์ด้วย ซึ่งต้องไปดูในข้อสัญญาต่างๆ และรัฐบาลเตรียมการยารักษาโรค ทั้งโมลนูพิราเวียร์ ยาจากไฟเซอร์ ทางกระทรวงสาธารณสุขกำลังพิจารณาอยู่และหากมีความชัดเจนก็ต้องมีการเร่งสั่งซื้อ รวมถึงต้องมีการเตรียมความพร้อมระบบสาธารณสุข เพื่อรองรับหากมีการแพร่ระบาดอีกครั้ง และทุกฝ่ายจำเป็นต้องร่วมมือกันในการป้องกันการแพร่ระบาด เพราะไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนสามารถแพร่กระจายได้เร็วกว่าเดิม

“ผมต้องเรียนตามตรงไม่ว่าเราจะป้องกันคนเข้าประเทศอย่างไร มันก็อาจจะเล็ดรอดเข้ามาได้ ถ้าเมื่อเล็ดรอดเข้ามาแล้วมาตรการสาธารณสุขที่เตรียมไว้ก็ต้องจำกัดให้เร็วด้วยเช่นกัน เพื่อไม่ให้เกิดการระบาดมากขึ้น เพราะตอนนี้ทุกอย่างเริ่มไปได้ดีมากขึ้นเรื่อยๆแล้ว”

นายดนุชา กล่าว

นายดนุชา มองถึงปัจจัยเสี่ยงในปี 65 คือ ปัญหาหนี้ครัวเรือนยังมีความเปราะบางอยู่ ซึ่งต้องใช้มาตรการที่มีอยู่ปรับปรุงหนี้ครัวเรือนให้ประชาชนและภาคธุรกิจเดินหน้าไปได้ แม้สัดส่วนสินเชื่อ NPL ต่อสินเชื่อทั้งหมด ยังอยู่ในระดับไม่สูงมากนัก แต่ต้องจับตามองสินเชื่อบัตรเครดิตค่อนข้างสูงขึ้นจึงต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง

ส่วนเรื่องเงินเฟ้อที่มีการปรับตัวสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งเกิดจากราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นส่งผลต่อราคาสินค้าต่างๆปรับตัวเพิ่มขึ้น ประกอบกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวค่อนข้างเร็วทำให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ นายดนุชา กล่าวถึง มาตรการที่ใช้ปี 65 คือ 1.การควบคุมการแพร่ระบาดและเตรียมการเยียวยาควบคู่ไปด้วย 2.มาตรการทางการเงินต้องมีการติดตามและขยายผลให้มากที่สุด เพื่อให้ภาคธุรกิจเดินหน้าไปได้และภาคครัวเรือนสามารถมีกำลังเดินหน้าไปได้ 3.การรักษาระดับการจ้างงาน แต่บางเซคเตอร์ เช่น ผับ บาร์ ยังคงปิดอยู่ คงต้องมีมาตรการเฉพาะที่ดูแล เพื่อให้ผู้ประกอบการมีสภาพคล่องและเดินหน้าไปได้

“สถานการณ์ในปีหน้ายังมีความไม่แน่นอนอยู่ โดยเฉพาะไวรัสที่มีการกลายพันธุ์ ขอเวลาวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ ดูว่าผลกระทบเป็นอย่างไร มาตรการที่รัฐดำเนินการขณะนี้ คือ ปกป้องประชาชนภายในประเทศและป้องกันการแพร่ระบาดในปีหน้า ซึ่งให้ความสำคัญสูงสุดเพราะกระทบกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ยังต้องช่วยกันดูแลตนเองและคนรอบข้างดำเนินการตามมาตรการสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด ถ้าเกิดระบาดก็ต้องควบคุมอยู่ในวงจำกัดโดยเร็วที่สุด เพื่อให้เศรษฐกิจเดินหน้าไปได้”

นายดนุชา กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 พ.ย. 64)

Tags: , , ,
Back to Top