สศค. เผยเศรษฐกิจภูมิภาค ต.ค.ฟื้นตัวจากการท่องเที่ยว-โควิดคลี่คลาย

นายพิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนตุลาคม 2564 ว่า เศรษฐกิจภูมิภาคในเดือนตุลาคม 2564 มีสัญญาณฟื้นตัวจากภาคการท่องเที่ยวที่ปรับตัวดีขึ้นในทุกภูมิภาค โดยเฉพาะภาคตะวันตก สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นในทุกภูมิภาคต่อเนื่องจากเดือนก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่มีแนวโน้มคลี่คลายลงอย่างต่อเนื่อง

ภาคตะวันตก

เศรษฐกิจภาคตะวันตกมีสัญญาณการฟื้นตัว จากการปรับตัวดีขึ้นของจำนวน และรายได้จากการท่องเที่ยว การเพิ่มขึ้นของการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ และความเชื่อมั่นที่เพิ่มขึ้น ด้านอุปสงค์ พบว่าเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ขยายตัว 9.0% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ชะลอตัวลง -5.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ขยายตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า หลังขจัดผลทางฤดูกาล 3.5% ขณะที่เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ขยายตัว 0.5% ต่อปี แต่ชะลอตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล -24.6%

ด้านอุปทานมีสัญญาณฟื้นตัวจากภาคการท่องเที่ยว โดยแม้ว่าจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนจะชะลอตัวลดลง -43.4% และ -58.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล 169.3% และ 98.7% ตามลำดับ นอกจากนี้ ในด้านความเชื่อมั่น พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมปรับเพิ่มขึ้น มาอยู่ที่ระดับ 43.0 และ 82.1 ตามลำดับ จากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 40.4 และ 78.2 ตามลำดับ

ภาคตะวันออก

เศรษฐกิจภาคตะวันออก เริ่มมีสัญญาณดีขึ้นจากภาคการท่องเที่ยว และความเชื่อมั่นที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ด้านอุปสงค์ พบว่าเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 6.2% ในขณะที่การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ขยายตัว 36.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ชะลอลง -4.8% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล สำหรับเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจาก จำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ชะลอลง -2.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ขยายตัว 5.4% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า หลังขจัดผลทางฤดูกาล

ด้านอุปทาน มีสัญญาณการฟื้นตัวจากภาคการท่องเที่ยว โดยแม้ว่าจำนวนผู้เยี่ยมเยือน และรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนรวมจะชะลอตัวลดลงมาอยู่ที่ -65.9% และ -75.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล 142.3% และ 20.3% ตามลำดับ นอกจากนี้ ในด้านความเชื่อมั่น พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 46.8 และ 103.4 ตามลำดับ จากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 44.2 และ 101.9 ตามลำดับ

ภาคใต้

เศรษฐกิจภาคใต้ เริ่มมีสัญญาณดีขึ้นจากภาคการท่องเที่ยวภายในประเทศ และความเชื่อมั่นที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ด้านอุปสงค์ พบว่าเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจาก รายได้เกษตรกรขยายตัว 20.0% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ขยายตัว 1.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ชะลอลง -3.5% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ขณะที่จำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ชะลอตัว -14.0% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ขยายตัว 2.3% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล สำหรับเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจาก จำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ ขยายตัว 9.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ชะลอลง -2.9% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล

ด้านอุปทาน มีสัญญาณการฟื้นตัวจากภาคการท่องเที่ยวในประเทศ โดยพบว่าจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนคนไทยชะลอตัวลดลง -89.5% และ -89.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล 21.8% และ 30.2% ตามลำดับ นอกจากนี้ ในด้านความเชื่อมั่น พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรม

ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 40.0 และ 79.9 ตามลำดับ จากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 38.0 และ 77.8 ตามลำดับ
 

กทม. และปริมณฑล

เศรษฐกิจ กทม. และปริมณฑล เริ่มมีสัญญาณดีขึ้นจากภาคการท่องเที่ยว และความเชื่อมั่นที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ด้านอุปสงค์ พบว่าเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ขยายตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 6.0% แต่ชะลอตัวลง -2.7% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ขณะที่รายได้เกษตรกรชะลอตัวลง -16.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ขยายตัว 1.0% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล สำหรับเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ ชะลอตัว -13.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ด้านอุปทาน มีสัญญาณการฟื้นตัวจากภาคการท่องเที่ยว โดยแม้ว่าจำนวนผู้เยี่ยมเยือน และรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนรวมจะชะลอตัวลดลง -72.1% และ -80.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล 0.6% และ 46.9% ตามลำดับ นอกจากนี้ ในด้านความเชื่อมั่นพบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมปรับเพิ่มขึ้น มาอยู่ที่ระดับ 42.3 และ 82.1 ตามลำดับ จากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 39.5 และ 78.2 ตามลำดับ

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

เศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เริ่มมีสัญญาณดีขึ้นจากภาคการท่องเที่ยว และความเชื่อมั่นที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ด้านอุปสงค์ พบว่าเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภค สะท้อนจากรายได้เกษตรกรชะลอตัวลง -7.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ขยายตัว 5.8% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ขณะที่ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ รถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ และจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ชะลอตัวลง -16.7% -26.1% และ -16.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ สำหรับเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ ขยายตัว 1.0% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ชะลอตัว -1.7% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล จำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ และเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการชะลอตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน -30.1% และ -21.5% ตามลำดับ และเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล

ด้านอุปทาน มีสัญญาณการฟื้นตัวจากภาคการท่องเที่ยว โดยแม้ว่าจำนวนผู้เยี่ยมเยือน และรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนรวมจะชะลอตัวลดลง -68.6% และ -81.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล 81.7% และ 67.4% ตามลำดับ นอกจากนี้ ในด้านความเชื่อมั่น พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมปรับเพิ่มขึ้น มาอยู่ที่ระดับ 48.0 และ 74.1 ตามลำดับ จากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 45.8 และ 71.3 ตามลำดับ

ภาคกลาง

เศรษฐกิจภาคกลาง เริ่มมีสัญญาณดีขึ้นจากภาคการท่องเที่ยว และความเชื่อมั่นที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ด้านอุปสงค์ พบว่าเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากรายได้เกษตรกรชะลอตัวลง -14.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ขยายตัว 2.1% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ขณะที่การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ชะลอตัวลง -19.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ขยายตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 11.0%

ด้านอุปทาน มีสัญญาณการฟื้นตัวจากภาคการท่องเที่ยว โดยแม้ว่าจำนวนผู้เยี่ยมเยือน และรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนรวมจะชะลอตัวลดลง -65.4% และ -74.0% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล 41.6% และ 51.6% ตามลำดับ นอกจากนี้ ในด้านความเชื่อมั่นพบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมปรับเพิ่มขึ้น มาอยู่ที่ระดับ 43.0 และ 82.1 ตามลำดับ จากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 40.4 และ 78.2 ตามลำดับ

ภาคเหนือ

เศรษฐกิจภาคเหนือ เริ่มมีสัญญาณดีขึ้นจากภาคการท่องเที่ยว และความเชื่อมั่นที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ด้านอุปสงค์ พบว่าเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ชะลอตัว -14.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ขยายตัว 3.4% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ขณะที่การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ชะลอตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ -19.8% สำหรับเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ ขยายตัว 2.0% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ชะลอตัว -6.1% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล

ด้านอุปทาน มีสัญญาณการฟื้นตัวจากภาคการท่องเที่ยว โดยแม้ว่าจำนวนผู้เยี่ยมเยือน และรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนรวมจะชะลอตัวลดลง -65.8% และ -75.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล 32.8% และ 1.5% ตามลำดับ นอกจากนี้ ในด้านความเชื่อมั่น พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมปรับเพิ่มขึ้น มาอยู่ที่ระดับ 46.8 และ 60.9 ตามลำดับ จากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 44.7 และ 57.2 ตามลำดับ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 พ.ย. 64)

Tags: , ,
Back to Top